ผักกาดขิ่ว กลิ่นรสวาซาบิ พืชพื้นบ้าน เป็นทั้งอาหารและยา

ผักกาดขิ่ว ผักกาดขม กลิ่นรสวาซาบิ 

ในบรรดาพืชตระกูลผักกาดทั้งหลาย เห็นจะมีผักกาดชนิดนี้ ที่มีความแปลก ดูเหมือนว่าจะเป็นผักกาดไทยแท้แต่เก่าก่อน หรืออาจจะมีปะปนผสมพันธุ์กับผักกาดสัญชาติจีนบ้าง เราเรียกเขาว่า “ผักกาดขิ่ว” แต่ก็มีหลายชื่อเรียก เล่าให้กันฟัง ก็ลองไล่ลำดับดูก็แล้วกัน ว่าในท้องถิ่นของท่านเรียกชื่อว่าอะไร พยายามค้นหา คำว่า “ขิ่ว” ในหลายๆ แหล่ง ไม่พบความหมายที่ชัดเจนนัก คงเป็นเพราะว่า ขิ่ว เป็นคำที่ใช้เป็นภาษาท้องถิ่นทางภาคเหนือถึงชาวลาวบางแห่ง มีความหมายพอจะขยายความได้ว่า “ฉุนกึก” และ “ขื่นซ่าซ่าน” เมื่อสัมผัส มีกลิ่น และรสชาติเหมือนวาซาบิ หรือมัสตาร์ด กัดเคี้ยวสดๆ ฉุน เสียดแทงขึ้นจมูก ไล่หวัด น้ำมูกไหลออกมาได้

ผักกาดขิ่ว หรือ ผักกาดขม หรือ ผักกาดนา ผักกาดไร่ ผักกาดขื่น คือผักกาดเขียวชนิดพื้นเมือง กาบใบไม่ห่อเป็นปลี มีทั้งชนิดต้นอวบใหญ่ใบหนากว้าง และชนิดต้นเล็กแกร็น ก้านแดง ลักษณะผิวใบจะหยิก ย่น คล้ายเป็นโรคใบหด บางชนิดใบจะแยกเป็นร่องหลายแฉก ขอบใบหยัก ที่สำคัญคือ รสชาติเมื่อกัดกินสดๆ จะได้กลิ่นฉุนแรง แทงขึ้นจมูก คล้ายกับกินวาซาบิหรือไม่ก็กินมัสตาร์ด ทำเอาน้ำมูกน้ำตาไหลได้เลย

ผักกาดขิ่ว หรือ Mustard Green

เป็นพืชผักในวงศ์ผักกาดเขียว BRASSICACEAE ที่นำมาเข้าอยู่ในตระกูลนี้ เพราะยังไม่เป็นที่ยืนยันชัดเจนว่า เป็นผักกาดชนิดไหนกันแน่ เพราะพบเห็นได้ในบางฤดูกาล พบมากในการประกอบอาหารเลี้ยงแขก ในงานลงแขกเกี่ยวข้าว งานบุญ งานออกพรรษา งานต่างๆ หลายงานที่ชาวบ้านจัดเลี้ยง คนมาช่วยงาน จะต้องมีแกงผักกาดใส่จี้นควาย (เนื้อควาย) แต่ในระยะหลังๆ คนไม่ค่อยนิยมกินเนื้อสัตว์ใหญ่ จึงมีแกงใส่หมู ใส่ไก่ ใส่ปลา และที่นิยมกันมากคือ เป็นผักแกล้มเคียง เรียก “ชู้” ของคู่กันแซบซ่า ลัลล้า กับลาบเลือด ลาบขม ส้า พล่า ก้อย เพิ่มรสชาติขึ้นอีกพะเรอเกวียน

ในตระกูลผักกาดเขียว ไม่ว่าจะเป็นชนิดกาบใบห่อ เรียกว่า ผักกาดเขียวปลี ประเภท Chainess Green Mustard นิยมทำเป็นผักกาดดอง ที่เอามาหั่นซอยย่อยผัดใส่หมูใส่ไข่ กินกับขนมจีนน้ำยา ทำเมี่ยงลาว ต้มผักกาดดองใส่กระดูกหมู หรือใส่ไส้ตัน มีการดองแบบอัดจู่หรือไห กับดองถังแล้วใส่ถุง ชนิดกาบใบพุ่งเหยียดตรง ใบเรียบ ก้านยาวขาว เส้นใบชัด มีทั้งผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดเขียวใหญ่ ถ้าถอนมาต้นเล็กๆ มาลวก ผัด แกง เรียกผักกาดน้อย ส่วนชนิดที่เวลาเด็ดใบมาเคี้ยวแล้วซ่าฉุนกึกขึ้นจมูก ต้นมีหลายขนาด ใบมีหลายลักษณะ เป็นชนิด Mustard Green ตระกูล Brassica มีชนิดหนึ่ง ต้นอวบใหญ่ ใบใหญ่ยาว ผิวใบหยิก และฉุนมาก มักปลูกกันบนดอยที่สูง เรียก “ผักกาดแม้ว” หรือ “ผักกาดดอย” เป็นชนิด Brassica Juncea มีผักกาดชนิดใบมีแฉกย่อยมาก กลิ่นรสวาซาบิเหมือนกัน ทางภาคอีสานเรียก “ผักกาดหิ่น” ไม่ว่าจะเป็นผักกาดเขียวชนิดไหน เอกลักษณ์ของเขาคือ “ขิ่ว” ในการนี้จึงขอใช้ คำว่า “ผักกาดขิ่ว” ที่ค้นหารากศัพท์ในพจนานุกรมไม่พบเจอ

สรรพคุณทางอาหาร ของผักกาดขิ่ว หรือผักกาดขม แน่นอนที่สุดคือ ให้พลังงาน เส้นใยอาหาร วิตามิน เกลือแร่ และอื่นๆมากมาย สารอาหารต่างๆ เป็นประโยชน์ต่อคนเรามาก เส้นใยอาหาร หรือ Fiber ช่วยในการบำรุงรักษา กระเพาะ ลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร กระตุ้นการบีบรัดตัว ช่วยระบบขับถ่ายให้เป็นไปอย่างปกติ จะทำให้สุขภาพดี มีกรดโฟลิก ช่วยบำรุงเกี่ยวกับระบบเลือด หรือหลอดเลือด บำรุงเลือด สังเคราะห์ DNA ระหว่างตั้งครรภ์ เมล็ดผักกาดขิ่วมีกลิ่นฉุนกินได้ ช่วยรักษาหวัด ขับลมในกระเพาะ แก้ท้องอืด แน่นเฟ้อ ย่อยอาหาร น้ำมันสกัดจากเมล็ด ใช้แก้ปวด แก้แพ้อากาศ บรรเทาอาการคันต่างๆ ได้ดี รสเผ็ดร้อน กลิ่นฉุนแรง ช่วยระบบย่อยอาหาร แก้หวัด แก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงสมองช่วยให้ความจำดี

ผักกาดขิ่ว หรือ ผักกาดขม เป็นพืชผักที่ขยายพันธุ์ได้ดีมาก เช่นเดียวกับพืชพื้นบ้านหลายชนิด การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือเรียกกันว่า ขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ เพราะเมล็ดที่ได้มาเกิดจากฝักหรือผล ที่เกิดมาจากการผสมพันธุ์ หรือผสมเกสรของดอก จึงเป็นการอาศัยเพศ ในการเกิดพันธุ์ ดำรงพันธุ์ เฉกเช่นมนุษย์และสัตว์ที่ต้องอาศัยเพศ คือเพศผู้ เพศเมีย แต่ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์ หรือพืช ต่างล้วนเป็นสิ่งที่มีชีวิต ตราบใดที่ยังมีการหายใจ มีการเจริญเติบโต มีการสืบพันธุ์ คุณค่าที่มีอยู่ทุกอณูสังขารอินทรีย์ ย่อมเป็นเครื่องชี้ชัดว่า คือยังเป็นสิ่ง “มีชีวิต” จงเป็นชีวิตที่มีคุณค่า เช่น “ผักกาดขิ่ว” นั่นเอย