เลี้ยง “แพะ” ลุยทุ่ง อยู่ได้

“แพะ” ขาดแคลนหนัก และบูมสูงสุดในรอบ 10 ปี จากราคากิโลกรัมละ  60  บาท ราคาทะยาน 180 – 190  บาท สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้กวาดซื้อเกลี้ยงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาพุ่ง

คุณสุวรรณดี ซันสะมัน เจ้าของกาเซ็มฟาร์ม ผู้เลี้ยงแพะรายใหญ่ หมู่ 3 บ้านด่านโลด ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง บอกว่า ภาวะตลาดเนื้อแพะขณะนี้เป็นช่วงขาขึ้นราคาขยับสูงขึ้นดังไม่เคยปรากฏมาก่อน ขณะนี้ราคาได้ขยับสูงขึ้นโดยแพะมีชีวิต ซื้อขายกันอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 170  – 190 บาท หากเป็นแพะชำแหละแล้วประมาณ  250 – 260 บาท / กิโลกรัม ทั้งนี้เนื่องจากแพะต้องนำเข้าสู่โครงการการเลี้ยงแพะในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะแพะขาดแคลน จนมีการแข่งขันกันซื้อ

เลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง

“ตลาดแพะส่วนใหญ่จะเป็นตลาดของชาวมุสลิมที่ต้องใช้แพะเพื่อกิจกรรมต่างๆ ตามประเพณีซึ่งความต้องการของตลาดมีทุกวัน ทำให้ปัจจุบันไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที ส่วนร้านอาหารที่สามารถผลิตส่งขายได้ก็ไม่กล้าผลิตส่ง เพราะวิตกว่าจะนำสินค้าตอบสนองไม่ได้ดังความต้องการ เนื่องจากการผลิตส่งร้านอาหาร ภัตตาคารจะต้องมีการทำสัญญา การส่งตามนัดหมาย รวมถึงจำนวน”

คุณสุวรรณดี บอกด้วยว่า การเลี้ยงแพะภาวะปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ต้นทุนการผลิตน้อยมาก เพราะอาหารสำหรับแพะเป็นเพียงหญ้าภายในสวนผลไม้ สวนยางพารา หรือยอดและใบกระถินให้เป็นอาหาร โดยพืชเหล่านี้สามารถเก็บได้ตามธรรมชาติ ซึ่งการเลี้ยงแพะสามารถปล่อยลุยทุ่งให้หากินในธรรมชาติได้ และเสียเวลาค่าจัดการเพียงวันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนมูลแพะสามารถนำไปจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ลงทุนและเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ใช้สำหรับเป็นปุ๋ยให้กับต้นปาล์ม ราคากิโลกรัม 25 บาท แต่ปัจจุบันมูลแพะก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดเช่นกัน

ใบกระถินตัดให้กินในคอก

“การเลี้ยงแพะไม่มีต้นทุนมากนัก มีแต่ค่ายารักษาโรค และโรงนอนของแพะเท่านั้น ซึ่งประการสำคัญสำหรับผู้สนใจเลี้ยงแพะอยู่ที่ ความสนใจและรักในการเลี้ยงแพะ จึงจะยึดเป็นอาชีพได้”

เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ชี้ให้เห็นสถานการณ์การเลี้ยงแพะในจังหวัดพัทลุง โดยระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเลี้ยงแพะได้ขยายตัวเติบโตมากในขณะนี้  โดยมีฟาร์มขนาดใหญ่ประมาณ  50-100 ตัว ประมาณ 10 ฟาร์ม และยังมีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะรายย่อยกลุ่มเล็กขนาด 4-5 ตัว ซึ่งนิยมเลี้ยงมากในพื้นที่ตำบลตะโหมด อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง

ความต้องการแพะในตลาดมีสูง แพะของเกษตรกรที่พร้อมส่งขายมีตลาดรับซื้อทั้งหมด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา พบว่ามีการต้องการสูง เพราะต้องการซื้อแพะเข้าร่วมในโครงการเลี้ยงแพะ

การกวาดซื้อแพะเข้าในโครงการต่างๆ ทำให้ราคาแพะมีชีวิตทะยานสูงขึ้นที่สุดในรอบ 10 ปี

จากราคาเดิมประมาณ 60 บาท / กิโลกรัม ขณะนี้ราคาขยับขึ้นถึง 180 บาท / กิโลกรัม และมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งภาคกลางและภาคเหนือ ราคาก็ขยับสูงขึ้นจาก 30-60 บาท / กิโลกรัม พุ่งขึ้นเป็น 100 บาท / กิโลกรัม ซึ่งหากเกษตรกรรายได้เลี้ยงแพะขาย ราคาต่ำสุดที่สามารถขายได้ในกิโลกรัมละ 90 บาท ก็ถือว่ามีกำไรแล้ว ส่วนจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีโครงการเลี้ยงแพะเช่นเดียวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่สามารถหาแพะเข้าร่วมในโครงการได้ หรือบางรายหาได้ก็ต้องจ่ายในราคาสูงมาก

การเลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดพัทลุงขยายตัวขึ้นทุกปี แต่เป็นการเลี้ยงขนาดย่อมของชาวไทยมุสลิม  ส่วนการเลี้ยงแพะที่เป็นเชิงธุรกิจ เลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ นับร้อยตัวมีไม่มาก เมื่อภาพรวมความต้องการของตลาดแพะสูง แต่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะน้อย ดังนั้นแนวโน้มธุรกิจการเลี้ยงแพะน่าจะไปได้ดี อีกทั้งราคาแพะที่ชำแหละแล้วอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 300 บาท

กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม เป็นตลาดสำคัญและมั่นคง ทั้งยังเป็นตลาดรับซื้อแพะที่ใหญ่ ดังนั้น แนวโน้มการเลี้ยงแพะในเชิงธุรกิจจึงไปได้ดี สนใจวิธีการเลี้ยงแพะ ติดต่อ นายสุวรรณดี ซันสะมัน โทร. (082)  828 1783