นวัตกรรมแช่ผลมะม่วงในน้ำร้อน พิฆาตแมลงวันผลไม้

มะม่วง ชมพู่ และฝรั่ง เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ แต่ปัญหาของแมลงวันผลไม้ชนิด Bactrocera dorsalis (Hendel) จัดเป็นแมลงศัตรูที่ทำให้เกิดปัญหาในการส่งออกผลไม้สดของไทย เพราะแมลงศัตรูชนิดนี้ มีพืชอาหารกว้าง สามารถเพิ่มปริมาณและแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องตลอดทั้งปี ประเทศคู่ค้าจึงกลัวแมลงวันผลไม้ติดกับผลไม้สดไประบาดภายในประเทศของตัวเอง จึงกำหนดเงื่อนไขการนำเข้า โดยไทยกำจัดแมลงวันผลไม้ตามมาตรการที่แต่ละประเทศกำหนด  

สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิธีการแช่น้ำร้อนมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวเพื่อหาอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis ผลการทดลองพบว่า การนำมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้แช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส จนอุณหภูมิภายในผลถึง 46 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที สามารถกำจัดแมลงวันผลไม้ระยะไข่และหนอนวัยที่ 1 ซึ่งเป็นระยะที่ทนต่อความร้อนมากที่สุด และไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของมะม่วง

ภายหลังการทดลองเสร็จสิ้นกรมวิชาการเกษตรได้เสนอวิธีการแช่น้ำร้อนสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ชนิด B. dorsalis ในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกให้กลุ่มสหภาพยุโรปพิจารณา ผลปรากฏว่าวิธีการกำจัดแมลงวันผลไม้ดังกล่าวได้รับการยอมรับ ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกมะม่วงที่ผ่านการแช่น้ำร้อนไปกลุ่มสหภาพยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์ได้รวม 13 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นมา โดยประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีการนำเข้ามะม่วงจากไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเยอรมนี

วิธีการแช่น้ำร้อนเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ดังกล่าว ประเทศไทยได้ทำการศึกษาวิจัยเป็นครั้งแรก เป็นวิธีการที่ง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาน้อย และใช้ต้นทุนการผลิตน้อยมาก เมื่อเทียบกับวิธีการกำจัดแมลงวันผลไม้ด้วยการอบไอน้ำ โดยตู้อบไอน้ำขนาดเล็กขนาด 2.5 ตัน ราคาประมาณ 15 ล้านบาท ในขณะที่อ่างแช่น้ำร้อนขนาดกลาง 350 กิโลกรัม ราคาประมาณ 480,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สดขนาดเล็กสามารถลงทุนทำได้เอง ทำให้มะม่วงผลสดจากประเทศไทยมีต้นทุนในการผลิตไม่สูงสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้

การแช่น้ำร้อนเป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงวันผลไม้ในมะม่วง สามารถใช้ได้กับไม้ผลหลายชนิดในเชิงอุตสาหกรรม ใช้ระยะเวลาสั้นในการดำเนินการ รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก คุ้มค่ากับการลงทุน คาดว่า ไทยจะส่งออกมะม่วงไทยได้มากขึ้นเพราะมะม่วงไทยเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวยุโรปด้วยรสชาติที่มีความหวาน กลมกล่อม และมีกลิ่นหอมซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างจากมะม่วงที่สหภาพยุโรปนำเข้าจากอินเดียและบังกลาเทศ ผู้ประกอบการรายใดที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 579-5583