สศก. เผยสถานการณ์ลิ้นจี่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เริ่มแทงช่อดอก คาดผลผลิตออกตลาดกว่า 2 หมื่นตัน เม.ย. นี้

นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ของ สศท.1 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตลิ้นจี่ระหว่างวันที่ 6-8 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญที่สุดของประเทศ โดยคาดว่าปี 2564 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ วันที่ 15 มกราคม 2564) ทั้ง 3 จังหวัด มีเนื้อที่ยืนต้น 74,199 ไร่ ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 74,433 ไร่ (ลดลง 234 ไร่ หรือร้อยละ 0.31 เนื้อที่ให้ผล 68,968 ไร่ ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 69,252ไร่ (ลดลง 284 ไร่ หรือร้อยละ 0.41) ส่วนผลผลิตรวม 23,665 ตัน ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวน 26,654 ตัน (ลดลง 2,989 ตัน หรือร้อยละ 11.21 ) ทั้งนี้ เนื้อที่ยืนต้นและเนื้อที่ให้ผลของทั้ง 3 จังหวัดลดลง เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือมีการโค่นต้นแก่อายุ 25 ปีขึ้นไปที่ให้ผลผลิตน้อย อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน เช่น มะม่วง เงาะ ทุเรียน และส้ม ด้านผลผลิตรวมทั้ง 3 จังหวัด ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการแทงช่อดอก ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณช่วงเดือน เมษายน – มิถุนายน 2564 และจะออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม ประมาณ 17,749 ตัน

เมื่อจำแนกสถานการณ์การผลิตลิ้นจี่ในแต่ละจังหวัด พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งปลูกลิ้นจี่อันดับ 1 ของประเทศมีเนื้อที่ยืนต้น 48,331 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 44,030 ไร่ ผลผลิตรวม 17,371 ตัน ลดลงร้อยละ 13.21 จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่ยืนต้น 13,312 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 13,284 ไร่ ผลผลิตรวม 3,159 ตัน ลดลงร้อยละ 3.12 และจังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ยืนต้น 12,556 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 11,654 ไร่ ผลผลิตรวม 3,136 ตัน ลดลงร้อยละ 7.19 ทั้งนี้ ผลผลิตของทั้ง 3 จังหวัดลดลง เนื่องจากปีนี้ ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย จักรพรรดิ และโอเฮียะ มีการเติบโตล่าช้า และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการแทงช่อดอก

ขณะนี้ ภาพรวมลิ้นจี่ทุกพันธุ์ในภาคเหนืออยู่ในช่วงแทงช่อดอกไปแล้วประมาณร้อยละ 10 และบางส่วนมีการแตกใบอ่อนไปแล้ว ทำให้ไม่ติดช่อดอก ซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาเดียวกันที่ต้นลิ้นจี่แทงช่อดอกแล้วประมาณร้อยละ 60 เพราะสภาพอากาศที่หนาวเย็นยาวนาน ส่วนระยะเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิต คาดว่าพันธุ์นครพนมจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน 2564 ส่วนพันธุ์ฮงฮวย จักรพรรดิ และโอเฮียะจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน 2564 และจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2564

สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด เกษตรกรคาดว่าผู้ประกอบการรับซื้อรายใหญ่จะเข้ามารับซื้อในพื้นที่ได้ หากสถานการณ์    โควิด – 19 คลี่คลาย โดยมีการจำหน่ายให้กับผู้ค้ารายย่อยในตลาดหรือขายผ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมถึงเกษตรกรบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่ายผลผลิตให้กับผู้ค้าออนไลน์ต่างๆ เพื่อช่วยในการกระจายสินค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้นผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าวทิ้งท้ายว่า โอกาสนี้ ขอเชิญชวนผู้บริโภคทุกท่านร่วมสนับสนุนผลผลิตลิ้นจี่ของเกษตรกรเนื่องจากลิ้นจี่ เป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ มีสรรพคุณเป็นยาช่วยย่อยอาหาร บำรุงอวัยวะภายในต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นม้าม หรือระบบประสาท นอกจากนี้ ลิ้นจี่ยังช่วยในการบรรเทาอาการกระหายน้ำได้ หากนำเนื้อลิ้นจี่ตากแห้งมาต้มกินเป็นประจำจะช่วยบรรเทาอาการปวดอันเนื่องมาจากโรคไส้เลื่อน และยังช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร และเป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรในการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพต่อไป ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตลิ้นจี่ภาคเหนือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 เชียงใหม่ โทร 0 5312 1318 หรืออีเมล [email protected]