มะเขือส้ม ต้นตระกูลมะเขือเทศ เป็นผักมีคุณค่า สุดยอดยาดี

คนเราเมื่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจบังคับ ความขัดสนที่ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น กลับมาเกิดในช่วงที่เรียกกันว่า “ยุคโลกาภิวัตน์” ทุกสิ่งทุกอย่างเจริญรุดหน้า เปลี่ยนแปลงจากสามัญดั้งเดิม แม้แต่อาหารการกิน หนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็น และทำให้มีชีวิตอยู่รอด ความเปลี่ยนแปลงทางด้านอาหาร ควบคู่กับความมั่นคงด้านอาหาร กล่าวคือ เมื่ออาหารเปลี่ยนรูปแบบ ความมั่นคง ความเพียงพอ ความเสี่ยงในคุณภาพ มีตามมา ทุกวันนี้คนถึงหวนคืนกลับสู่สามัญ อาหารพื้นบ้าน พืชพื้นบ้าน ยาพื้นบ้าน และความเป็นอยู่อย่างพื้นบ้าน จึงผุดขึ้นมาให้เห็น ในโลกวันนี้ โลกที่เจริญหนีไกลจากนิยามคำว่า “พื้นบ้าน” แล้ว พร้อมกับความขัดสนกับสิ่งที่เคยมี จึงปรากฏให้เห็นในวันเวลานี้

มีพืชพื้นบ้านหลายชนิดที่สังคมชนบทยังคงเก็บรักษาไว้ เป็นที่นิยมของคนทั่วไป แม้ว่าจะไม่มีการโฆษณาเหมือนสินค้าสมัยใหม่ และต้นกำเนิดที่มานั้นยังลางเลือน มีแต่ความจำ และเรื่องเล่าเป็นหลักฐานข้อสันนิษฐาน ว่ามีกำเนิดมาจากที่โน่นที่นี่ อย่างเช่นพืชชนิดนี้ เป็นผักประเภทผล ที่รู้จักกันทั่วโลก คือ “มะเขือเทศ” และมีคำกล่าวอ้างถึง “มะเขือส้ม” ว่าคือมะเขือเทศ มีที่มาที่ยาวนาน มีตำนานมากมายเช่นเดียวกัน จะเท็จจริงอย่างไรเอาที่ท่านเชื่อและมั่นใจ ดูเหมือนว่า ผักผลชนิดนี้จะเป็นไม้ป่าพื้นบ้านที่รู้จักกันมานานมากแล้ว

มะเขือส้ม หรือชื่อสามัญเรียกว่า Wind Tomato ดูแล้วท่านคิดเหมือนผู้เขียนหรือไม่ว่า เป็นพืชป่า พืชที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สืบค้นดูตามที่มีผู้ศึกษาพบว่า น่าจะเป็นพืชต้นตระกูลของมะเขือเทศ มีถิ่นกำเนิดที่ทวีปอเมริกาใต้ ที่นักล่าอาณานิคมไปพบ เห็นว่ามีต้นและผลสวยงาม น่ารัก จึงได้ลักขโมย หามิได้ จึงนำติดเรือเดินทางไปล่าแผ่นดินอื่น พร้อมทั้งเอาลูกผลเมล็ดมะเขือเทศที่ได้จากอเมริกาใต้ไปโยนทิ้งขว้าง นานวันเข้าเจริญขึ้นต้นงอกงาม นำไปปลูก ไปแนะนำชาวบ้าน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับพืชชนิดอื่น เช่น พริก หอม ยาสูบ มันเทศ และเครื่องเทศอีกหลายอย่าง แต่ต่างกับพืชอื่นคือ ตั้งใจเอาไปปลูกเพื่อความสวยงามมากกว่าเอาไปเป็นอาหาร คาดว่าเข้ามาบ้านเราสมัยอยุธยาตอนปลาย พบข้อความในบันทึกของหมอบลัดเลย์ พ.ศ. 2416 ว่า เมื่อกว่า 125 ปี มีผลไม้ชนิดนี้เข้ามาในแผ่นดินสยาม แต่ความนิยมมีไม่มากเท่าพืชอื่น

ต้นตระกูลมะเขือเทศ ที่แท้จริงคือ มะเขือส้ม อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopersicum Esculentum Mill เป็นพืชที่มีผลเล็ก เป็นพวง ตระกูลมะเขือ มีขนรอบต้น ใบ เมื่อก่อนเขาว่าเป็นพืชมีพิษ ไม่นิยมนำมากิน กลัวอันตรายพิษถึงตาย นำเอาไปปลูกเป็นไม้ประดับสวนสาธารณะ จะด้วยความอดอยาก ความหิว ความเมา หรือความอยากทดลอง อยากลองของ ชายผู้หนึ่งจึงลองเด็ดผลสุก สีแดงส้มมากิน รสชาติเป็นอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ ไม่ตาย แสดงว่าไม่ใช่ผลไม้พิษจริงอย่างคำบอกเล่ากันมา กินได้ สิ่งที่ตามมาคือการแพร่หลาย เป็นที่นิยมนำมะเขือเทศต้นแบบมากินกัน ชอบกันมากเข้าไม่พอกิน ก็ปลูกแพร่ขยายพันธุ์ และที่สำคัญของการเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอ ตามวิธีการของมนุษย์ นอกจากจะเพิ่มพื้นที่ปลูกแล้ว ยังมีการพัฒนาปริมาณผลผลิตต่อต้น เพิ่มขนาดของผล พัฒนาปรับปรุงบำรุงพันธุ์ให้มีขนาดโตขึ้น จนยุคสมัยหนึ่งยังเคยมีมะเขือเทศผลโตเท่าฟักทอง หนักกว่า 3 กิโลกรัม ต่อผลทีเดียว ปัจจุบัน จึงได้มีมะเขือเทศพันธุ์ต่างๆ สีสันต่างๆ หลากหลายมากมาย จนอาจจะเกือบลืมไปว่า ต้นตระกูลเดิมของมะเขือเทศที่แท้จริงก็คือ “มะเขือส้ม” ที่กำลังกล่าวถึง

มะเขือส้ม เป็นชื่อเรียกของคนภาคเหนือ ทางภาคอีสาน เรียก “มะเขือเครือ” ภาคใต้ เรียก “เขือเทศ” “เขือส้ม” คนสุรินทร์ เรียก “ตรอบ” เช่นกันกับเขมร เรียก “ตีรอม” ชาวกะเหรี่ยง เรียก “ตะก่อชิ” คนจีน เรียก “ฮวงเจีย” เราจะจัดเป็นกลุ่มผลไม้ก็ได้ แต่นิยมนำมาทำเป็นอาหาร มักจะเรียกว่าผัก เอาเป็น “ผักกินผล” ก็แล้วกัน คงไม่ผิดอะไรกระมัง มะเขือส้มมีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือผลเป็นพวงแบบเชอรี่ รสชาติเปรี้ยว สุกงอมจะเปรี้ยวอมหวาน เป็นไม้พุ่มเลื้อย ต้นที่สมบูรณ์จะมีต้นยาวได้ถึง 2 เมตร ใบ เป็นใบประกอบออกเรียงสลับ ขอบใบหยักลึก มีขนคลุมทั่วใบและก้านใบ ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ เป็นดอกประเภทสมบูรณ์เพศ ผลติดเป็นพวง ผล หรือลูก กลมมีขนาดโตเท่าปลายนิ้วหัวแม่มือผู้ใหญ่ เริ่มออกมาลูกเล็กๆ สีเขียวอ่อน ผลแก่สีเขียว เมื่อสุกจะมีสีแดงอมส้ม สีสว่างสดใส ในยามที่มะเขือส้มทั้งต้นติดผล จะมีสีสันที่สวยงาม ทั้งผลเขียว ผลแดง ใบก้านต้นมีขนอ่อนคลุม เป็นสีสันที่คลาสสิกมาก พวงผล ยอดใบ มีศิลปะที่งดงาม โบราณเขาว่า นั่นคือสัญลักษณ์ของการบอกรัก (LOVE) จนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “Love Tomato”

อาหารที่นิยมทำกินกัน ผลสดๆ ใส่ส้มตำ นั่นเป็นของแน่นอน ใช้เป็นเครื่องเคียงอาหารประเภทยำ พล่า ส้า ก้อย ลาบ แจ่ว ปลาร้าบอง ปรุงรสและให้สีสัน ต้มยำไก่ ต้มยำเนื้อ ต้มยำปลา ต้มยำไข่ปลา ซุปหางวัว ซุปไก่ แกงป่าปลา แกงส้ม แกงเผ็ดเห็ดฟาง ใส่น้ำเงี้ยวขนมจีน ปรุงน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกมะเขือส้ม โดยเฉพาะน้ำพริกที่ขึ้นชื่อทางเหนือคือ “น้ำพริกอ่อง” และเมนูอาหารจานเดียว ข้าวผัดไข่ ข้าวผัดมะเขือส้ม ผัดผักรวมมิตร ผัดเปรี้ยวหวาน และอีกมากมายหลายเมนูอาหาร กินเป็นผลไม้เปล่าๆ หรือจิ้มเกลือ แช่น้ำปลาก็ได้

มะเขือส้ม มีคุณค่าทางอาหาร ใน 100 กรัม ให้พลังงาน 18 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย น้ำ 94.5 กรัม เส้นใยอาหาร 1.2 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.9 กรัม น้ำตาล 2.6 กรัม โปรตีน 0.9 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม โพแทสเซียม 237 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 11 มิลลิกรัม แมงกานีส 0.114 มิลลิกรัม วิตามินซี 14 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.037 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม 0.594 มิลลิกรัม วิตามินบีหก 0.08 มิลลิกรัม วิตามินอี 0.54 มิลลิกรัม วิตามินเค 7.9 ไมโครกรัม ลูทีนและซีแซนทีน 123 ไมโครกรัม เบต้าแคโรทีน 449 ไมโครกรัม ไลโคปิน 2,573 ไมโครกรัม

สุดยอดยาดีที่มะเขือส้มมีอยู่ในตัว และส่งต่อให้กับเรา ราก ต้น และใบแก่ต้มอม หรือกินแก้ปวดฟัน ใช้ล้างแผลสด ผลมีประโยชน์ทางยามากมาย ช่วยให้เจริญอาหาร ย่อยอาหารพวกไขมันได้ดี สร้างกระดูกและฟัน ป้องกันรักษาโรคลักปิดลักเปิด หรือเลือดออกตามไรฟัน รักษาปากเป็นแผล ลดกลิ่นปาก คอแห้ง ปากขม แก้ไข้ กระหายน้ำ ใบ ตำละเอียดทาผิวรักษาอาการผิวไหม้แดด บำรุงสายตา บำรุงผิว บำรุงเส้นผม ป้องกันผมแห้ง ผมแตกปลาย เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ใบหน้า รักษาสิว ชะลอการเหี่ยวย่นผิวหนัง บำรุงหัวใจ ป้องกันหัวใจวาย ป้องกันเลือดแข็งตัว ป้องกันหลอดเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบ ป้องกันโรคสมองเสื่อม บำรุงสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนกลางที่เกี่ยวกับการมองเห็น ขับปัสสาวะ แก้ท้องอืด บำรุงระบบขับถ่าย เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับพิษตกค้างในร่างกาย ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ รักษาโรคตามัว ยับยั้งเชื้อรา ปรับสมดุลความดันโลหิต ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก สร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ต้านอนุมูลอิสระ มีผลการทดลอง การวิจัย อีกมากมาย ที่ควรต้องศึกษาเพิ่มเติม

มะเขือส้ม ถ้าจัดให้เป็นประเภทผลไม้ ก็จะเป็นผลไม้ที่นิยมมากระดับต้นๆ หรือจะจัดเป็นพืชผัก ก็จัดเป็นระดับต้นๆ เช่นกัน อาจจะมีการพัฒนาพันธุ์ขึ้นมาใหม่ๆ มากมายหลายชนิด ตลอดจนมีพัฒนาการบริโภค การแปรรูป อีกหลากหลายผลิตภัณฑ์ แต่ความเป็น “มะเขือส้ม” ต้นตระกูลมะเขือเทศ ยังคงอยู่ เนื่องเพราะเป็นผลิตผลที่มีการผลิตแบบธรรมชาติมากที่สุด เป็นพืชที่มีขนเป็นเกราะป้องกันตัว ไม่มีศัตรูพืชรบกวน ไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องบำรุงด้วยปุ๋ยเคมี ชาวบ้านปลูกแบบหัวไร่ปลายนา หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว อาศัยความชื้นตกค้างในดิน และความเย็นของฤดูหนาว ภาคเหนือ และภาคอีสานจึงมีมะเขือส้มจากท้องไร่ปลายนา มะเขือส้มอินทรีย์ ที่มากมายคุณค่าให้เสาะหากันได้อย่างไม่ขัดสน

 ………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ.2564