เคล็ดลับการผลิต “มะม่วง” นอกฤดู ให้ออกดอกติดผลดก (ตอนจบ) การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการค้า ต้องห่อผล

ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มะม่วงในหลายพื้นที่เริ่มออกดอกและติดผลอ่อนแล้ว โดยเฉพาะมะม่วงการค้าของไทย อย่าง มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งหลังจากนี้ไปก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการห่อผลมะม่วงด้วยถุงห่อคาร์บอน เพื่อทำให้มะม่วงน้ำดอกไม้มีผิวสวยและป้องกันแมลงวันทองได้ หลังจากที่ติดผลเท่าขนาดไข่ไก่ เกษตรกรก็จะต้องวางแผนเตรียมห่อผลให้กับมะม่วง ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญช่วงเวลาหนึ่งที่ต้องใช้ความละเอียดในการห่อผลเพื่อให้ผลมะม่วงมีผิวที่สวย จึงขอยกตัวอย่างการห่อมะม่วงของมะม่วงน้ำดอกไม้ (ซึ่งมะม่วงสายพันธุ์อื่นก็ใช้วิธีการห่อแบบเดียวกัน)

มะม่วงน้ำดอกไม้ จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ “มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4” และ “น้ำดอกไม้สีทอง” โดยทั่วไปแล้วราคาน้ำดอกไม้สีทองจะสูงกว่าน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 ซึ่งความแตกต่างก็จะเป็นที่สีเปลือก น้ำดอกไม้เบอร์ 4 จะมีสีผิวเขียวเข้มมากกว่าส่วนน้ำดอกไม้สีทอง ซึ่งน้ำดอกไม้สีทองผิวเปลือกจะออกสีเหลืองมากกว่า และเมื่อสุกสีจะแตกต่างชัดเจน (กรณีไม่ห่อผล) โดยมะม่วงน้ำดอกไม้ทั้งหมดจะห่อผลด้วยถุงห่อคาร์บอนทั้งหมด เพื่อให้ผิวมีสีเหลืองสวยทั้งหมดเป็นที่ต้องการของตลาดและป้องกันแมลงวันทองทำลาย

ส่วนรสชาติน้ำดอกไม้เบอร์ 4 รสชาติจะหวานฉ่ำกว่า และเนื้อนิ่มกว่า ส่วนน้ำดอกไม้สีทองจะออกหวาน แต่ไม่หวานจัดเท่าน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และเนื้อจะแข็งกว่า ในเรื่องความนิยม เบอร์ 4 นั้น จะได้รับความนิยมมากในผู้ที่รับประทานกับข้าวเหนียวมูนจะเข้ากันมาก เพราะรสชาติที่หวานจัด ส่วนน้ำดอกไม้สีทองนั้น ความนิยมก็ไม่ได้แพ้กัน เนื่องจากผิวที่เหลืองสวยงามกว่าเนื้อมะม่วงค่อนข้างทนต่อสภาพอากาศ เก็บไว้ได้นานกว่า แม้รสชาติจะเป็นรองเบอร์ 4 แต่ก็เป็นที่นิยมส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะผิวสวย แล้วยังเก็บรักษาได้นาน เนื้อแข็งกว่าเบอร์ 4 นั่นเอง

ห่อผลด้วยถุงห่อคาร์บอน ให้ผิวสวยและป้องกันแมลงวันทอง

ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ต้องห่อผล

ทุกวันนี้ถ้าเราปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดอกไม้สีทอง หรือน้ำดอกไม้เบอร์ 4 เพื่อการส่งออก หรือขายในประเทศ ก็ต้องห่อผลให้ผิวมะม่วงมีสีสวย หรือยกตัวอย่างตลาดในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นตลาดไท, ตลาดสี่มุมเมือง ถ้ามะม่วงของเราไม่ห่อผลเขาก็จะไม่รับซื้อ หรือซื้อก็จะถูกตีราคาถูกเป็นมะม่วงยำ แล้วบางสวนห่อผลมะม่วงโดยใช้ถุงคาร์บอน ไม่มีความรู้ในการห่อผล ขาดประสบการณ์ คิดเอาเองว่ามันต้องเป็นอย่างไร บางสวนห่อมะม่วงไปนับหมื่นถุง แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยว แกะถุงคาร์บอนออกมากลับพบว่า มะม่วงที่ห่อไว้มีแต่เพลี้ยแป้งเต็มไปหมดก็มี

“สวนคุณลี” จังหวัดพิจิตร จึงมีข้อแนะนำดีๆ มาปฏิบัติ พบว่าแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งนั้นไม่ยากเลยสักนิด “เพลี้ยแป้ง” เป็นแมลงประเภทปากดูด เช่นเดียวกับเพลี้ยหอย แต่มีรูปร่างที่พิเศษเฉพาะตัว สังเกตได้ง่าย คือ มีผงแป้งหรือเส้นใยละเอียดเหมือนปุยฝ้าย ปกคลุมลำตัวให้เห็นเป็นสีขาวเด่นชัด การป้องกันและกำจัด เพียงแต่เราต้องรู้จักการใช้สารเคมี คือใช้ยากลุ่ม “มาลาไธออน” ฉีดสลับกับ “อิมิดาโคลพริด” หรือสาร “สารบูโปรเฟซิน” การใช้สารเคมีกำจัดเพลี้ยแป้ง เพื่อควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ควรมุ่งไปในทางป้องกัน และบริหารจัดการปริมาณของเพลี้ยก่อนที่จะเกิดความเสียหายกับพืช เพราะเหตุว่า ถ้าปล่อยให้เพลี้ยแป้งมีปริมาณมากแล้ว จะควบคุมได้ยากที่สุด เพลี้ยแป้งสามารถหลบซ่อนตามส่วนต่างๆ ของต้นพืช อีกทั้งเกราะ หรือแป้งบนตัว ช่วยป้องกันสารเคมีให้เพลี้ยรอดตายได้

แต่อย่างไรก็ตาม การหมั่นตรวจพืชอย่างละเอียดและการรู้จักเลือกใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพ ใช้ให้ถูกที่ ถูกเวลา ก็สามารถลดความเสียหายจากการทำลายของเพลี้ยแป้งลงได้มาก เพื่อให้การควบคุมปริมาณเพลี้ยได้ผลลดลงได้รวดเร็ว ก็อาจมีความจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีติดต่อกันทุกๆ สัปดาห์ โดยเฉพาะในระยะแรกๆ ที่พบเพลี้ยแป้งบนต้นพืช เพราะจะควบคุมตัวอ่อนที่เรียกว่า “ตัวคลาน” ไม่ให้เพิ่มปริมาณและเติบโตเป็นตัวเต็มวัยที่จะไปวางไข่รุ่นต่อไป ระหว่างการฉีดพ่น อาจมีการสลับสารเคมีที่ต่างกลุ่มกัน เพื่อป้องกันการ “ดื้อยา” สารเคมีที่มีประสิทธิภาพดี กับการกำจัดเพลี้ยแป้ง คือ สารกลุ่มควบคุมการเจริญเติบโตแมลง เช่น สารบูโปรเฟซิน เป็นสารระงับการลอกคราบของแมลงออกฤทธิ์ได้ทั้ง ถูกตัวตายและกินตาย เหมาะกับช่วงที่มีปริมาณ “ตัวคลาน” เยอะ หรือตอนต้นฤดูปลูก

และข้อดีของสารเคมีกลุ่มนี้ จะออกฤทธิ์ต่อตัวอ่อนของแมลงเท่านั้น จึงไม่มีพิษต่อตัวห้ำ ตัวเบียน ในธรรมชาติ สารกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ เป็นสารประเภทดูดซึม เช่น อิมิดาโคลพริด เป็นสารเคมีที่มีพิษต่อระบบประสาทของแมลง จึงเป็นสารที่ต่างกลุ่มการออกฤทธิ์กับสารระงับการลอกคราบ

ในช่วงที่เราฉีดพ่นมะม่วงระยะสะสมอาหาร (ยังไม่ออกดอก) ก็จะเริ่มมีการใช้ยากลุ่มนี้คุมไปตลอด จะเป็นการกำจัดและป้องกันเพลี้ยแป้งไว้แต่ต้น ซึ่งพบว่าเพลี้ยแป้งจะบางเบาจนเกือบจะไม่มีเลยทีเดียว เหมือนการตัดวงจรการระบาดออกไปแต่แรก แต่การป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งให้ได้ผลดีที่สุด ก็ต้องย้อนไปกำจัดจุดเริ่มต้นของเพลี้ยแป้งคือ กำจัด “มด” โดยเฉพาะมดดำ ที่มันจะคาบเอาเพลี้ยแป้งที่มันอาศัยอยู่บริเวณใต้ใบหญ้า ใต้โคนต้นมะม่วง ขึ้นไปบนต้นมะม่วงเพื่ออาศัยกินสิ่งขับถ่ายของเพลี้ยแป้ง จึงทำให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งในมะม่วงนั้นเอง

ดังนั้น ชาวสวนต้องเริ่มที่กำจัดมดให้ได้เสียก่อน ก่อนที่มดจะคาบเพลี้ยแป้งขึ้นต้นมะม่วง ตัวยาที่ฉีดได้ผลดีมาก คือ ยากลุ่ม “คาร์บาริล” (เช่น S-85, เซฟวิน 85) ฉีดทั้งต้นมะม่วงและบริเวณดินโคนต้นมะม่วง เมื่อมดหมดไปเพลี้ยแป้งก็น้อยมาก ทำให้เราฉีดยากลุ่มมาลาไธออนและเมโทมิลน้อยลง ทำให้แทบจะไม่เจอปัญหาเพลี้ยแป้งอีกเลย

 

ก่อนห่อทุกครั้ง ต้องฉีดพ่นล้างโรค-แมลงเสียก่อน

ด้วยการพ่นสารเอ็นทรัส หรือ ฟลิ้นท์+แอนทราโคล เพื่อป้องกันกำจัดโรคแอนแทรกโนส และต้องพ่นสารมาลาไธออน (เช่น แซดมาร์ค) อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง เพราะหากไม่ฉีดพ่นสารกำจัดโรคแมลงตอนนี้ เมื่อเราห่อถุงไป โรคแมลงจะติดอยู่บนผิวมะม่วงโดยที่เราไม่สามารถรู้ หรือมองเห็นได้ ส่วนการห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้อย่างไรให้ผลสวย ซึ่งระยะการห่อผลนั้น ผลมะม่วงน้ำดอกไม้จะต้องมีขนาดเท่าไข่ไก่ หรือถ้านับอายุจากวันที่ดอกบานจนเป็นผลอ่อนที่เริ่มห่อผลได้ ก็ราวๆ 45 วัน ซึ่งผลมะม่วงน้ำดอกไม้จะยาว ประมาณ 7 เซนติเมตร หลังจากห่อผลได้ประมาณ 50-60 วัน ก็จะเก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ แต่การแก่ของผลถ้าเป็นอากาศร้อนมาก อาจจะใช้เวลาเพียง 50 วัน ในถุงห่อ แต่ถ้าอากาศค่อนข้างเย็นในบางพื้นที่ อาจจะให้เวลา 60 วันขึ้นไป เป็นต้น เกษตรกรต้องแกะสุ่มดูเป็นระยะเพื่อหาทางแก้ไข

การห่อผลมะม่วงในระยะที่เหมาะสม การจะทำให้ผลมะม่วงน้ำดอกไม้มีสีเหลืองสวยงาม หรือมะม่วงสายพันธุ์อื่นที่มีเปลือกสีเขียว เช่น มะม่วงอาร์ทูอีทู เขียวใหญ่ แก้วขมิ้น เป็นต้น จะต้องห่อผลโดยใช้ถุงห่อคาร์บอน (แบบ 2 ชั้น) ของ บริษัท ชุนฟง ซึ่งเป็นถุงห่อที่มีคุณภาพดี โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะเริ่มห่อผลที่มีความยาว 5 เซนติเมตร หรือ 2 นิ้วฟุต หรือขนาดเท่าผลไข่ไก่ หรือระยะหลังการหลุดร่วงของผลสิ้นสุดลงในช่อดอก

แต่ถ้าเป็นสวนมะม่วงขนาดใหญ่ๆ ซึ่งมีจำนวนต้นและมีการติดผลจำนวนมาก สวนใหญ่ๆ ก็จะวางแผนห่อผลที่มีขนาดเล็กกว่านั้นเล็กน้อย เพื่อจะได้ห่อผลมะม่วงได้ทันเวลา โดยให้เหตุผลว่าการห่อผลมะม่วงที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย เนื่องจากผิวจะเหลืองสวย ไร้รอยโรคและแมลงมากกว่าที่ห่อมะม่วงขนาดผลที่ใหญ่ อีกอย่างหนึ่งจะได้ห่อผลทันเวลา การห่อผลมะม่วงด้วยถุงห่อคาร์บอน นอกจากจะทำให้ผิวมะม่วงมีสีสวยแล้ว ยังสามารถป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันทอง หรือแมลงวันผลไม้ได้ แล้วยังลดการใช้สารเคมีฉีดพ่นแมลงได้เป็นอย่างมาก รวมถึงช่วยให้ผลมะม่วงปลอดภัยจากสารเคมีที่ฉีดพ่นได้แล้ว

อีกอย่างการห่อผลจะทำให้เกษตรกรนั้นสามารถคาดการณ์ผลผลิตของสวนตัวเองได้ค่อนข้างแม่นยำ เพราะคำนวณจากจำนวนถุงห่อที่ได้ใช้ไป คูณกับน้ำหนักผลมะม่วง 1 ผล (สายพันธุ์ที่ตัวเองปลูก ว่ามีค่าเฉลี่ยน้ำหนัก 1 ผล คร่าวๆ เท่าไร)

การห่อผลมะม่วงในอดีต ชาวสวนหรือท่านที่ปลูกไว้กินตามบ้านจะนิยมห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เพื่อป้องกันการทำลายของแมลงศัตรูโดยเฉพาะแมลงวันทอง ผลมะม่วงที่ห่อผิวจะสวยเพราะไม่มีแมลงรบกวน ลดการสูญเสียจากการขีดข่วนกับกิ่งที่จะทำให้เกิดแผล แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีในการผลิตถุงห่อก้าวหน้าขึ้น นอกจากจะผลิตถุงห่อเพื่อป้องกันแมลงแล้ว ยังทำให้สีผิวของผลมะม่วงสวยงามขึ้น ด้วยการห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้ จะนิยมห่อเพื่อขนาดผล ประมาณ 2-3 นิ้วฟุต (ขนาดประมาณไข่ไก่) ถ้าห่อผลเล็กกว่านี้ จะพบปัญหาผลหลุดร่วงได้ง่าย แต่ถ้าห่อผลโตกว่าจะพบปัญหาสีของผิวผลมะม่วงไม่ค่อยสวยงามเท่าที่ควร

ถุงห่อที่เกษตรกรนิยมใช้ห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้ จะเป็นถุงห่อคาร์บอน หลังจากห่อแล้วประมาณ 40-45 วัน สามารถเก็บผลผลิตสีสันสวยงามได้ มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 เมื่อห่อด้วยถุงคาร์บอน อายุห่อ 45 วัน เมื่อเก็บเกี่ยว สีผิวของผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีทองสวยงาม ตลาดมีความต้องการมาก แต่ถ้าเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ห่อด้วยกระดาษคาร์บอน ผิวจะออกเป็นสีทองเข้ม สวยงามมาก สีผิวของมะม่วงที่ห่อกระดาษคาร์บอนจะเนียนสวยสม่ำเสมอเป็นเงางาม ปัจจุบัน ถ้าสวนไหนไม่ห่อผล พ่อค้าแม่ค้าจะไม่ค่อยซื้อ หรือซื้อราคาจะถูกกว่ามะม่วงที่ห่อมาก

ก่อนการห่อผล 1 วัน เกษตรกรจะต้องพ่นสารกำจัดโรคและแมลง โดยเน้นศัตรู 2 ชนิด คือ

1.โรคแอนแทรกโนส ให้ใช้สารโพรคลอราช หรือฟลิ้นท์ + แอนทราโคล เป็นต้น

2.เพลี้ยแป้ง จะต้องฉีดพ่นสารมาลาไธออน ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ก่อนห่อผล ไม่เช่นนั้นเวลาเก็บผลผลิตจะมีเพลี้ยแป้งเข้าไปอาศัยอยู่เต็มถุงห่อ ขายไม่ได้ราคา

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ.2564