“น้องหญิง” นักศึกษามทร.ศรีวิชัย จิตอาสา พี่เลี้ยงซาไก ชนกลุ่มน้อยที่กำลังจะถูกลืม

จากการศึกษาในห้องเรียน สู่การลงมือปฏิบัติจริง ในรายวิชาโครงงานของหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นจุดเริ่มต้นให้ นางสาวปิยวรรณ มากสง (น้องหญิง) และเพื่อน ลงพื้นที่ เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของชนเผ่าซาไก ณ ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง

น้องหญิง เล่าว่า ด้วยสภาพปัญหาในการใช้ชีวิตของชนกลุ่มน้อย ที่ห่างไกลความเจริญ สอนให้น้องหญิงได้เห็นถึงความสุขที่เกิดจากการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม หลายคนอาจบอกว่าล้าหลัง แต่ในความล้าหลังที่หลายคนบอก มันยังมีความสุขให้เห็น อย่างเช่นเรื่องราวของ”เด็ก ๆ ชาวซาไก” เพราะเด็ก ๆ ได้อยู่กับพ่อแม่และเรียนรู้การใช้ชีวิตสนุก ๆ ท่ามกลางธรรมชาติ ภาพวิถีชีวิตของเด็ก ๆ ชาวป่า หรือที่เราเรียกเขาว่า”เงาะป่าซาไก”    ที่อาศัยอยู่ ในเขตรักษาพันสัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดพัทลุง ของท้องที่ตำบลทุ่งนารี ของอำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง

ชีวิตประจำวันพวกเขายังดำรงชีพอยู่ในผืนป่าแห่งนี้เหมือนบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันก็ส่งต่อวิชาการดำรงชีวิตให้คน รุ่นหลัง แบบพี่สอนน้อง เพื่อให้สามารถมีชีวิตและอยู่รอดโดยการพึ่งพาตนเอง เช่น การฝึกขุดหาหัวมันทราย และการปีนป่ายต้นไม้, โหนเชือกขึ้นต้นไม้ใหญ่ และการสอนก็จะเริ่มกันตั้งแต่ เด็ก ๆ เหล่านี้พอเดินได้ จากนั้นก็ฝึกฝนกับพ่อแม่ ซึ่งครอบครัวส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตอยู่ในผืนป่า สำหรับกลุ่มชาวซาไก ที่อาศัยอยู่ในป่าบนพื้นที่รอยต่อของ พัทลุง-ตรัง-สตูล มีอยู่ประมาณ 250 คน โดยอยู่กันเป็นเล็ก ๆ 20-40 คน เพื่อง่ายต่อการหาอาหารในผืนป่าและคอยอพยพเคลื่อนย้ายไปมา ระหว่าง 3จังหวัดตามฤดูกาล

ชนกลุ่มน้อยที่เรียกกันว่า ซาไก ถึงจะเป็นกลุ่มชนที่เรียกได้ว่าล้าหลัง ห่างไกลความเจริญ แต่ทว่าแฝงไว้ด้วยความมีอารยธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ชั้นบรรพบุรุษ ถึงทุกวันนี้โลกจะเปลี่ยนไปสักเท่าไร แต่การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผืนป่าของชาวซาไกก็ยังคงเหมือนเดิม ซึ่งดิฉันได้สัมผัสแล้วว่าการศึกษาแค่ในห้องเรียนนั้น ไม่สามารถตอบโจทย์บางอย่างได้ แต่หากเราได้เรียนรู้ และแบ่งปัน ประสบการณ์ที่ได้รับนั้นคุ้มค่ากับความตั้งใจ

น้องหญิง เล่าต่อไปว่า จากการได้ใช้ชีวิตคลุกคลี ศึกษาความเป็นซาไกของน้องหญิง ผ่าน “ตาเม่น” ชาวบ้านผู้ดูแลชนเผ่าซาไก ก่อเกิดมิตรภาพความผูกพันระหว่างชนกลุ่มน้อยกับนักศึกษา เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การใช้ชีวิต รวมถึงประกอบกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือชนเผ่าซาไกในด้านต่าง ๆ อาทิ แผงโซลาเซลล์ ที่นักศึกษาจาก มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ไปดำเนินการติดตั้ง และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา ทุกวันนี้การได้เข้าไปอยู่กับกลุ่มชาวซาไกทำให้รู้สึกผูกพัน ได้รู้จักและเรียนรู้กิจกรรมมากมาย  และได้มารู้จักกับเด็กน้อยมาจิเจน ซาไกน้อย อายุ 2 ขวบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มชาวซาไก และได้มารู้จักกันมากขึ้น เมื่อเด็กน้อยมาจิเจนเกิดอุบัติเหตุนั่งทับเสี้ยนไม้ จนทำให้อวัยวะติดเชื้อขั้นรุนแรง จึงต้องนำตัวส่งมารักษายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยมีน้องหญิง เป็นผู้คอยดูแลเด็กน้อย เนื่องจาก พ่อ แม่ น้องมาจิเจน เป็นชนเผ่าซาไก ไม่สามารถนั่งรถและนอนในที่สูงได้ น้องหญิง และเพื่อนจึงรับหน้าที่ดูแลน้องมาจิเจน      ด้วยความรัก ผูกพัน เพื่อสักวันหนึ่งชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า ซาไก จะคงยังอยู่คู่เทือกเขาบรรทัดพัทลุงต่อไป