“สายพันธุ์สตรอเบอรี่ ที่นิยมปลูกเชิงการค้า”

ปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์โชกุน ในสวนยาง

โครงการหลวงพัฒนาสายพันธุ์สตรอเบอรี่ให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเมืองไทย ทำให้ทุกวันนี้ “สตรอเบอรี่”  กลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละจำนวนมหาศาล สตรอเบอรี่ที่นิยมปลูกเพื่อบริโภคสด ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน เบอร์ 70, 80 เบอร์ 50 เบอร์ 20 และ พันธุ์ 329 ฯลฯ ส่วนพันธุ์สตรอเบอรี่ที่นิยมปลูกเพื่อการแปรรูป ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน เบอร์ 16 พันธุ์เซลวา และพันธุ์ 329 เป็นต้น

พันธุ์พระราชทาน เซลวา (Selva) ใช้รับประทานผลสด เนื้อแข็ง ทนทานต่อการขนส่ง

พันธุ์พระราชทาน 16 (ไทโอก้า) สามารถปรับตัวได้ดีทั้งพื้นที่ปลูกบนภูเขาสูง ระดับ 1,200 เมตร และพื้นที่ราบของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เกษตรกรในโครงการหลวงเกือบทั้งหมดนิยมใช้พันธุ์พระราชทาน 16 ปลูกเชิงการค้า  จุดเด่นคือ ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อผลสีแดง เมล็ดสีเหลือง รสชาติออกเปรี้ยว ผลผลิตนิยมใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปมากกว่าบริโภคผลสด

พันธุ์พระราชทาน 20 (Sequoia) เจริญได้ดีในสภาพอุณหภูมิตํ่า ผลมีขนาดใหญ่ถึง 50 กรัม จำนวนผลต่อช่อน้อย ผลนิ่ม สีแดงสด กลิ่นหอม รสหวาน ทนทานต่อโรคใบจุด และสภาพที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูง ไม่ทนทานต่อการขนส่งพันธุ์พระราชทาน 50 เป็นพันธุ์ที่เกิดจากการผสมในสหรัฐอเมริกา แล้วนำเข้ามาคัดเลือกพันธุ์โดยการผสมตัวเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นพันธุ์ที่ชอบอากาศเย็นไม่มากนัก (15-28 องศาเซลเซียส) ผลมีคุณภาพดี โดยเฉพาะใกล้สุกเต็มที่ ขนาดผลปานกลางถึงใหญ่ ผิวสีแดงถึงแดงเข้ม เนื้อสีแดงถึงแดงเข้ม แกนแน่นถึงกลวง รสชาติหวานและมีกลิ่นหอม ผลค่อนข้างแข็ง ไม่ต้านทานต่อไร แต่ต้านทานราแป้งได้ดี น้ำหนักต่อผล 12-18 กรัม

พันธุ์พระราชทาน 70 เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น เป็นสายพันธุ์เบา ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ผลมีขนาดใหญ่ รูปร่างเป็นทรงกลมหรือทรงกรวย สีแดงสดแต่ไม่สม่ำเสมอ มีกลิ่นหอม เนื้อฉ่ำ รสหวาน ไม่ต้านทานต่อราแป้ง แต่ต้านทานโรคเหี่ยว เนื้อและผิวแข็ง สะดวกต่อการขนส่งและเก็บรักษา น้ำหนักต่อผล 11.5-13 กรัม 

พันธุ์พระราชทาน 72 เป็นพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ชื่อ Tochiotome ผลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ถึงใหญ่มาก น้ำหนักเฉลี่ยต่อผล 14 กรัม เนื้อผลภายในมีสีขาว เมื่อสุกเต็มที่ผิวจะมีสีแดงถึงสีแดงจัด ลักษณะของเนื้อแน่นกว่าพันธุ์พระราชทาน 70 แต่หวานน้อยกว่า คือ 9.30 บริกซ์ มีความสมดุลพอดีระหว่างความเปรี้ยวหวาน มีกลิ่นหอมเมื่อสุก  ทนต่อการขนส่งมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ  

พันธุ์พระราชทาน 80 ได้รับความสนใจปลูกเชิงการค้ามากที่สุด เพราะมีจุดเด่นสำคัญคือ ลำต้นใหญ่ แข็งแรง ให้ผลดก มีขนาดใหญ่ ผลสีแดงสดใส เนื้อแน่น รสชาติดี มีกลิ่นหอมจัดเมื่อสุกเต็มที่ และเป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคและแมลงได้ดีเยี่ยม โครงการหลวงส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไทยภูเขาปลูกโดยใช้สารชีวภาพและสารสมุนไพรสร้างจุดขายผู้บริโภคนิยมบริโภคผลสด เพราะมั่นใจว่าสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 สด สะอาด ปลอดภัยจากสารเคมีมาจนถึงทุกวันนี้

สตรอเบอรี่พันธุ์ 329 เป็นพันธุ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตร นำเข้าจากอิสราเอล เพื่อนำมาปลูกทดสอบที่ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2540 เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมปลูกมากในจังหวัดเชียงใหม่ มีรสชาติออกหวานน้อยกว่าพันธุ์หวาน 80 มีกลิ่นหอมหวาน สีแดงสด รูปทรงของผลเป็นรูปลิ่ม ผลมีขนาดใหญ่มาก เนื้อค่อนข้างกรอบ สามารถเก็บไว้ได้นาน เหมาะแก่การขนส่ง