แก่นมะกรูดโมเดล

อาจเป็นเพราะในอดีตชุมชนกะเหรี่ยงโปร จากหมู่บ้านแก่มะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ดำรงชีวิตแบบวิถีชาวบ้านในการทำไร่เลื่อนลอย ด้วยการปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ และพืชชนิดอื่นๆ

ที่เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะเผาซังข้าวโพด ข้าวไร่ เพื่อทำลาย ก่อนจะบุกรุกถางป่าต่อไปจนทำให้อาณาบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่าและป่าไม้นานาพันธุ์ค่อยๆ ลดปริมาณลงอยู่เรื่อยๆ จนพื้นที่บางแห่งกลายเป็นเขาหัวโล้น กระทั่งแทบไม่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เลย

คล้ายๆ กับหมู่บ้านดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง ในอดีต และหลายอำเภอในจังหวัดน่านในปัจจุบัน

ผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงสร้างปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หากยังขยายผลต่อมาถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วย จนทำให้ทุกภาคส่วนต้องเร่งหาวิธีแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาอาจลุกลามบานปลายในที่สุด ผลเช่นนี้จึงทำให้ “หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล” ประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จึงเข้ามาดูสภาพจริงในพื้นที่ เพื่อพบปะพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อหาทางเยียวยา

ทุกคนต่างประจักษ์ชัดดีว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะกะเหรี่ยงโปรไม่มีเอกสารสิทธิบนที่ดินทำกินของตัวเอง พวกเขาจึงบุกรุกถางป่าไปเรื่อยๆ กอปรกับวิถีวัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงที่ชอบทำไร่เลื่อนลอยมากกว่าการเพาะปลูกบนที่ทำกินของตัวเอง จึงทำให้เกิดการรุกพื้นที่ถางป่า

แต่เมื่อทุกฝ่ายพร้อมใจกันจัดสรรที่ดินทำกินให้กับพวกเขาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กว่า 10,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน กว่า 5,000 ครอบครัว ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในเรื่องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา จึงทำให้ปัญหาเบื้องต้นทุเลาเบาบางลง แต่กระนั้นยังมีปัญหาตามมาอีกคือจะให้พวกเขาปลูกอะไร

และอะไรเป็นความต้องการของพวกเขาจริงๆ

Advertisement

“ดำรงศักดิ์ โพธิ์สุวรรณ” กรรมการชุมชนสตรอเบอรี่แก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี จึงเล่าให้ฟังว่า…ตอนนั้นประมาณปี 2556 พวกเรารู้ว่าเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระเป็นคนของในหลวงที่จะเข้ามาช่วย ซึ่งพวกเราก็ยินดี เพียงแต่ตอนแรกเราไม่รู้ว่าเขาจะช่วยพวกเราอย่างไร

“จนวันหนึ่งเจ้าหน้าที่เขาบอกว่า ให้พวกเราหยิบเมล็ดข้าวโพดขึ้นมากำมือหนึ่ง จากนั้นเขาตั้งกระป๋องวางไว้ กระป๋องนี้เกี่ยวกับน้ำ กระป๋องนี้เกี่ยวกับดิน และกระป๋องนี้เกี่ยวกับการเกษตร และอื่นๆ จากนั้นเขาก็ให้พวกเราถามใจตัวเองว่า สิ่งที่พวกเราต้องการอันดับแรกคืออะไร ก่อนที่จะหยิบเมล็ดข้าวโพดใส่ลงไปในกระป๋องคนละเมล็ด ปรากฏว่าเรื่องน้ำมาเป็นอันดับหนึ่งที่ชาวบ้านต้องการ ต่อจากนั้นเป็นเรื่องดิน และการเกษตร”

Advertisement

“พอเจ้าหน้าที่รู้ความต้องการของเรา เขาก็ให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปิดทองฯ เข้ามายังพื้นที่เพื่อทำการสำรวจแหล่งน้ำกับเรา เขาเข้ามากินอยู่หลับนอนที่นี่เลย เพื่อสำรวจจนพบว่าบริเวณบนยอดเขาสูง ซึ่งเป็นที่ทำกินของครอบครัวผมสามารถทำประปาภูเขาได้ แต่ก่อนหน้านั้นเขาพาคนของเราไปดูงานที่จังหวัดน่าน เกี่ยวกับการทำฝาย เพื่อให้พวกเรานำมาต่อยอดพร้อมบอกกับชาวบ้านว่า สิ่งที่พวกเราต้องการมีความเป็นไปได้”

“ยอมรับครับว่า แรกๆ ผมไม่เชื่อ เพราะเราเป็นคนพื้นที่ อยู่ตรงนี้มานาน อีกอย่างเราเคยทดลองทำมาก่อนด้วย แต่ไม่สามารถทำได้ คุณเป็นใคร จู่ๆ จะนำน้ำขึ้นมาบนเขา ซึ่งเป็นเรื่องตลกมาก ขณะที่ชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ขับรถผ่านไปมา เห็นก็ขำ จะเป็นไปได้เหรอ แต่ภรรยาผมกลับเชื่อ เธอเชื่อว่าทำได้ ผมจึงไปถามเจ้าหน้าที่ว่าน้ำมันขึ้นได้จริงๆ เหรอ เขาไม่ตอบ ผมเลยบอกเขาว่า พี่ต้องทำน้ำให้ขึ้นนะ ไม่งั้นผมกับภรรยาเลิกกันแน่ แล้วเจ้าหน้าที่ก็หัวเราะ”

ดังนั้น ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ปิดทองหลังพระป่าไม้ เจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอ และจังหวัด รวมถึงชาวบ้านที่เข้ามาช่วยขุดบ่อพวง พร้อมกับเริ่มวางท่อ ไปยังฝายที่อยู่ข้างล่างตามลำดับความสูงของพื้นที่ที่ลดหลั่นกันไป เพื่อทดสอบการทำประปาภูเขา หรือประปาชุมชน

“ดำรงศักดิ์” และชาวบ้านจึงคอยลุ้นอยู่ตลอดว่าจะเป็นไปได้ไหม กระทั่งถึงวันสุดท้ายของการทดสอบจริง เขาจึงชวนภรรยาขึ้นไปดูด้วย ปรากฏว่าน้ำขึ้นมาได้จริงๆ ผมยิ้มออกเลย ดีใจมาก และภรรยาผมเขาก็ดีใจเช่นกัน

และไม่ใช่ครอบครัวของ “ดำรงศักดิ์” เท่านั้นที่ดีใจ หากชาวบ้านทุกคนที่ทราบข่าวก็พลอยดีใจไปด้วย เพราะน้ำจากบ่อพวงที่อยู่ในความรับผิดชอบของพื้นที่ทำกินของเขาช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องน้ำเพียงส่วนหนึ่ง แต่อาณาบริเวณความรับผิดชอบมีมากถึง 10,000 ไร่ ทำอย่างไรถึงจะให้น้ำประปาภูเขา หรือน้ำประปาชุมชนทั่วถึงทุกครัวเรือน

ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายร่วมกัน

แต่กระนั้น เมื่อในหมู่บ้านมีแหล่งน้ำแล้ว สิ่งที่มูลนิธิปิดทองหลังพระจะต้องทำต่อไปคือการทำให้ครัวเรือนพึ่งตนเอง พวกเขาจึงทำการสำรวจสภาพพื้นที่จนพบว่าชุมชนแก่นมะกรูดอยู่สูงเหนือกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตร จึงน่าจะทำการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวได้ พวกเขาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับ “หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา” และทางคณะกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระเพื่อหาทางช่วยเหลือ ด้วยการนำพันธุ์สตรอเบอรี่มาแจกจ่ายฟรีให้กับชาวกะเหรี่ยงโปรเพื่อนำไปทดลองปลูกในปี 2557

ปี 2557 ที่มีชาวบ้านเพียง 33 ครัวเรือนเท่านั้นที่สนใจ นอกนั้นยังเคยชินกับการปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ และพืชผักชนิดอื่นๆ อยู่ จนกระทั่งผลผลิตสตรอเบอรี่ในปีถัดมาเริ่มผลิดอกออกผล จนบางครอบครัวขายสตรอเบอรี่ถึง 40,000-50,000 บาท ต่อแปลง

ชาวบ้านที่ทราบข่าวจึงสนใจและเริ่มอยากปลูกสตรอเบอรี่บ้าง เพราะเห็นว่าสตรอเบอรี่ราคาดี จนภายหลังมีเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึง 64 ครัวเรือน และ 90 ครัวเรือนในปัจจุบัน ที่หันมาปลูกสตรอเบอรี่ ทั้งๆ ที่บางพื้นที่แหล่งน้ำยังไปไม่ถึง

พวกเขาจึงรวมกลุ่มกันก่อตั้งกลุ่มแก่นมะกรูดโมเดลขึ้น โดยมี “วันนบ ขอสุข” เป็นประธานกลุ่มแก่นมะกรูดโมเดลเป็นคนแรก พร้อมกับชักชวนสมาชิกในกลุ่มศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ทั้งจากเจ้าหน้าที่ปิดทองหลังพระ และกลุ่มนักวิชาการเกษตรของจังหวัด รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ ที่จะทำให้ชุมชนเกิดความยั่งยืนในอนาคต

“ดำรงศักดิ์” เล่าให้ฟังว่า พอสมาชิกเริ่มสนใจกันมากขึ้น พวกเราจึงมาระดมสมองกัน เพื่อต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในเรื่องของชุมชนพึ่งตนเอง

“เราจึงนำสายพันธุ์สตรอเบอรี่ที่หน่วยงานต่างๆ เคยแจกฟรีให้เรา ไม่ว่าจะเป็นทางมูลนิธิปิดทองฯ เกษตรจังหวัด เปลี่ยนมาเป็นเก็บเงินสมาชิกครึ่งหนึ่ง เพื่อว่าอนาคตเขาอาจนำสายพันธุ์สตรอเบอรี่ไปให้กับชุมชนอื่นๆ บ้าง เราจะได้มีเงินซื้อพันธุ์สตรอเบอรี่เอง พูดง่ายๆ เราทำตามแนวทางของพระองค์ เพื่อให้ชาวบ้านรู้จักพึ่งพาตนเองด้วย ไม่ใช่เอาแต่ของฟรีอย่างเดียว จนทำให้ปีแรก เราจึงเก็บเงินได้ประมาณ 2 แสนกว่าบาท”

“โดยเงิน 2 แสนกว่าบาทเป็นทุนตั้งต้นสำหรับอนาคตข้างหน้า หากสมาชิกเดือดร้อนอะไร หรืออยากจะขยายแปลงเพาะปลูกสตรอเบอรี่ หรืออื่นๆ ถ้าขาดเงินสามารถมาขอกู้เงินจากกลุ่มชุมชนได้ จนที่สุดเมื่อย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ราวปี 2558 และ 2559 ต่อมาในปีที่ 4 เราจึงหันมามองเรื่องการท่องเที่ยวเชิงการเกษตรมากขึ้น เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ขึ้นมาเที่ยวแก่นมะกรูด เพราะนอกจากอากาศจะเย็นสบายตลอดปี ยังมีทิวทัศน์ที่สวยงามอีกด้วย”

“ที่สำคัญ ชาวบ้านในชุมชนต่างช่วยกันสร้างจุดขายต่างๆ ด้วยการทำแปลงดอกไม้เมืองหนาวต่างๆ อาทิ ดอกลิลลี่, ดอกทิวลิป, ดอกแกลดิโอลัส, ดอกเบญจมาศ และต้นคริสต์มาส เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่แวะมาเที่ยวได้ถ่ายรูปแล้วแชร์ลงเฟซบุ๊ก, ไลน์ และอินสตาแกรม ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ปลูกแปลงกะหล่ำปลีหลากสี และแปลงสตรอเบอรี่อันเป็นพระเอก นางเอกของที่นี่ เพราะนอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ลงแปลงสตรอเบอรี่เพื่อเด็ด และชิมสดๆ ยังจะได้ถ่ายรูปและซื้อเป็นของฝากอีกด้วย เพราะสตรอเบอรี่ที่นี่รสชาติหวาน อร่อย หรือถ้าใครอยากจิบกาแฟร้อนๆ ที่นี่ก็มีร้านกาแฟชุมชนคอยให้บริการกับนักท่องเที่ยวจนกลายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง”

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ค่อยๆ เกิดขึ้น และค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากศูนย์ จนทำให้ทุกวันนี้กลุ่มแก่นมะกรูดโมเดลไม่เพียงเป็นชุมชนที่เลี้ยงตัวเองได้อย่างมั่นคง หากยังขยายความมั่นคงไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการพัฒนาเป็นธุรกิจโฮมสเตย์และธุรกิจท่องเที่ยว จนทำให้มีนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ มาพักลานกลางเต๊นท์กันเป็นจำนวนมาก

ทั้งยังทำให้ชุมชนแก่นมะกรูดกลายเป็นความภูมิใจของคนจังหวัดอุทัยธานีจนทุกวันนี้

ทุกวันที่เริ่มต้นจากคำว่าไม่มีอะไร

แต่ในวันนี้กลับประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เพราะเกิดจากการพึ่งตนเอง พออยู่พอกิน และความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน จึงนำมาสู่การทำงานอย่างมีความสุขนั่นเอง

ซึ่งไม่ธรรมดาเลย

 

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ