“บ้านคลองโยง” ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ชานกรุง ปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ มาตรฐาน IFOAM

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์คลองโยง เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกที่มีความสนใจในการทำพืชผักอินทรีย์ เมื่อปี 2558 ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เดิมทีในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรกลุ่มนี้ นับเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ขานรับนโยบายของภาครัฐในการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ปัจจุบัน กลุ่มแห่งนี้เข้าสู่ระบบการทำเกษตรอินทรีย์อย่างมั่นคงกว่า 10 ปี มีสมาชิกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการระบบเกษตรอินทรีย์ IFOAM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แล้ว สามารถส่งออกพืชผักบางชนิดไปยังตลาดต่างประเทศได้

ทางกลุ่มเป็นเครือข่ายของสามพรานโมเดล มีการประชุมกลุ่มทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สมาชิกได้แบ่งปันความรู้และเมื่อเกิดปัญหาก็จะมาร่วมกันแก้ไข นอกจากนี้ เครือข่ายสามพรานโมเดลได้นำระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมพีจีเอสกับกลุ่มผู้ผลิตในเครือข่าย เป็นการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์รูปแบบหนึ่ง รับรองเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่มโดยองค์กรผู้ผลิตเอง

เทคนิคการเตรียมดินก่อนปลูก

คุณไพบูลย์ สวัสดีจุ้ย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยง โทร. 087-009-2860 กล่าวว่า การปลูกพืชผักอินทรีย์ ต้องเริ่มจากบำรุงดินเป็นส่วนสำคัญ ทางกลุ่มใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำจากเศษปลาผสมกับเศษผักผลไม้ในแปลง น้ำตาลทรายแดงแบบบออร์แกนิก และสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 น้ำหมักที่ได้จะนำไปคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมัก แล้วนำไปใส่ปุ๋ยให้กับพืช ดินร่วนซุยมากขึ้น พืชเจริญเติบโตได้ดี ในเรื่องโรคและแมลงจะใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่ปลูกในแปลงเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกในกลุ่ม อาทิ พริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด นำมาหมักด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 เป็นสมุนไพรไล่แมลง”

คุณไพบูลย์ สวัสดีจุ้ย

นอกจากนี้ เกษตรกรยังปรับปรุงบำรุงดินโดยเน้นปลูกพืชสด ประเภทตระกูลถั่ว หว่านคลุมดินรอบแปลงปลูกพืชสมุนไพร ประเภทพริก ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา ที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันแมลง ก่อนปลูกเกษตรกรจะเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร และปรับปรุงโครงการสร้างดินด้วยปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ รวมทั้งทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองด้วยการนำเศษใบไม้ในพื้นที่ผสมกับแกลบเผา รำข้าว และมูลสัตว์ มาหมักกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ส่วนน้ำหมักก็จะใช้เศษปลา เศษผักหมักกับน้ำตาลทรายแดงกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ไว้ฉีดเพื่อสร้างความร่วนซุยให้พืช

“ข้อดีของการปลูกพืชผักอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีคือ สามารถผลิตพืชผักปลอดภัยทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ส่งต่อให้กับผู้บริโภค ขายได้ราคาดีโดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนในเรื่องของราคา ผักหลายชนิด เช่น ผักชีฝรั่ง ส่งออกไปขายต่างประเทศได้อีกด้วย สร้างรายได้เข้าประเทศ” นายไพบูลย์ กล่าว

การจัดการแปลง

สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์บ้านคลองโยง ตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำเกษตรอินทรีย์อย่างประณีต มีการขุดร่องล้อมรอบแปลงเพื่อกักน้ำและเพื่อป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี รูปแบบแปลงจะวางแนวไปตามตะวัน เนื่องจากพืชใช้แสงแดดปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรค ใช้พืชตระกูลถั่วมาหว่านคลุมดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดปรับปรุงดิน

เมล็ดพันธุ์ผักที่นำมาปลูก เกษตรกรจะนำไปล้างน้ำร้อน อุณหภูมิประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หลังจากนั้นนำเมล็ดพันธุ์มาคลุกกับกากสะเดาก่อนนำไปหว่านลงแปลง การปลูกพืชผักอินทรีย์ต้องปลูกพืชสมุนไพรก่อนและต่อเนื่อง มีการปลูกพืชหมุนเวียนสลับกันไป ไม่ปลูกพืชผักชนิดเดิมๆ ในแปลงเดิมจะทำให้ได้ผลผลิตที่ดี ก่อนรดน้ำควรขยี้ให้สมุนไพรช้ำจะได้มีกลิ่นไล่แมลง

พืชสมุนไพรที่ปลูก เกษตรกรสามารถนำไปขายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย หลังเก็บพืชผักแล้ว เกษตรกรจะรีบทำความสะอาดแปลง เศษพืชผักที่เป็นโรค ต้องทำลายนอกแปลงปลูก เศษผักที่ไม่เป็นโรค จะนำมาทำปุ๋ยต่อไปได้ กลุ่มจะใช้ทรัพยากรในแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero waste)

ปัจจุบัน กลุ่มมีการผลิตพืชผักกว่า 20 ชนิด เป็นการปลูกแบบหมุนเวียนกันไป ได้แก่ ตะไคร้ ข่า พริก คะน้า ผักชีฝรั่ง กวางตุ้ง กล้วย โหระพา ถั่วพู ผักบุ้งจีน ผักสลัด ฝรั่ง เป็นต้น โดยวิธีการปลูกนั้นจะเน้นการปลูกแบบยกร่องรอบแปลงเพื่อกักน้ำและป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยรูปแบบแปลงจะวางแนวไปตามตะวัน เนื่องจากพืชใช้แสงแดดในการปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรคไปในตัว ทุกวันนี้ พืชผักอินทรีย์ของกลุ่มเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยมีจุดจำหน่ายสินค้าหลักคือ ตลาดสุขใจ ตลาดในมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยศิลปากร

……………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564