“ประเวศ แสงเพชร” กูรูด้านเกษตร ศิษย์เก่าดีเด่น มช. ประจำปี 2563

สมาคมนักศึกษาเก่าเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี 2563 เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่นักศึกษาเก่าคณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพ สร้างคุณประโยชน์ต่อวงการการเกษตร และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีผู้ที่ได้รับรางวัลศิษย์เก่าเกษตรศาสตร์ดีเด่นประจำปี 2563 จำนวน 4 ท่าน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อาจารย์ประเวศ แสงเพชร ศิษย์เก่ารุ่น 5 รหัส 118030 เกษียณราชการในตำแหน่งนักวิชาการ 8 ว. สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

อาจารย์ประเวศ แสงเพชร

เรียนเกษตรตามพ่อ

อาจารย์ประเวศ เป็นคนอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของมะขามหวานพันธุ์หมื่นจง ต้นแรกของโลก สมัยเด็กๆ  อาจารย์ประเวศ มีความใฝ่ฝันอยากเรียนด้านการปกครอง อยากเป็นปลัดอำเภอ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เส้นทางชีวิตก็หักเหเข้าสู่วงการเกษตรแทนเพราะ คุณพ่ออาจารย์ประเวศเป็นครูเกษตร เก่งเรื่องการคัดเลือกสายพันธุ์ไก่ พันธุ์ปลา ได้รางวัลจากการประกวดผลงานจำนวนมาก ทำให้อาจารย์ประเวศมีโอกาสเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรจากคุณพ่อตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้ความใฝ่ฝันที่จะเรียนด้านการปกครองลดลงและสนใจเรียนด้านเกษตรเพิ่มมากขึ้น จึงตัดสินใจเข้าเรียนต่อคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในเวลาต่อมา และสอบบรรจุเป็นนักวิชาการเกษตร ของกรมการข้าวในสมัยนั้น ปรากฏว่า ทำงานไปได้ 2 เดือน เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง กรมการข้าวถูกยุบรวมกับกรมกสิกรรม กลายเป็น กองข้าว อยู่ในสังกัดกรมวิชาการเกษตร

อาจารย์ประเวศรับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น มช. ประจำปี 2563

เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน

สมัยนั้น อาจารย์ประเวศและคณะต้องลงพื้นที่ไปสำรวจข้อมูลในแปลงไร่นาเกษตรกร 7-8 จังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เพราะระหว่างตะลอนเดินทาง เกิดอุบัติเหตุทำให้เพื่อนร่วมงานเสียชีวิตไปถึง 2 คน อย่างไรก็ตาม การเดินทางลงพื้นที่ดังกล่าว ก็เปิดมุมมองให้อาจารย์ประเวศได้มีโอกาสเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น

หนึ่งในความทรงจำที่อาจารย์ประเวศนำมาเล่าให้หลายคนฟังคือ ครั้งหนึ่งกรมวิชาการเกษตรได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 10 กว่าสายพันธุ์ จากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI ) อาจารย์ประเวศจึงนำมาทดลองปลูกในแปลงนาข้าวของเกษตรกรรายหนึ่งในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ลงทุนจ้างคนงานมาช่วยหว่านไถเสร็จ ก็กลับไปทำงานต่อที่กรุงเทพฯ กลับมาดูแปลงอีกครั้ง ปรากฏว่า แปลงนาถูกถอนทิ้งหมด เจ้าของแปลงนาบอกว่า คนโบราณถือไม่ให้ปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ในแปลงนาเดียวกันเพราะจะทำให้ตาบอด เรื่องนี้ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สอนลูกหลานไม่ให้ปลูกข้าวหลายพันธุ์ในนาเดียวกัน เพราะจะเกิดการผสมข้ามพันธุ์กันได้

สมาคมนักศึกษาเก่าเกษตรศาสตร์ มช. แสดงความยินดีกับศิษย์เก่าดีเด่น

มหกรรมพืชสวนโลก 2554

อาจารย์ประเวศ เป็นหนึ่งในมดงาน ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 โดยอาจารย์ประเวศรับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายดูแลรับผิดชอบคณะทำงาน 5 คณะ ได้แก่ การนำเข้าส่งออก รายได้ สิทธิประโยชน์ และเวทีการแสดง ได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งการทำงานในตำแหน่งนี้ อาจารย์ประเวศยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องทำงานหนักทุกวัน คอยดูแลตรวจสอบความถูกต้องในระเบียบปฏิบัติและข้อกฎหมาย กับนิติกรกรมวิชาการเกษตรอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอนเพราะไม่อยากติดคุกนั่นเอง

มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554

การประมูลจัดซื้อจัดงาน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความพยายามสูง อาจารย์ประเวศพยายามต่อรองราคาให้ได้ต่ำสุดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ยกตัวอย่างเช่น สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ขนส่งจากท่าเรือคลองเตยไปจังหวัดเชียงใหม่ เอกชนเรียกราคา 30 ล้านบาท ก็ต่อรองเหลือแค่ 15 ล้านบาท ส่วนการประมูลจัดจ้าง “สวนแสงแห่งจินตนาการ” ที่ประดับด้วยดวงไฟนับล้านจากพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากขณะนั้น มีบริษัทเอกชนที่ให้บริการดังกล่าวเพียงรายเดียวในประเทศไทย เพื่อให้การประมูลจัดจ้างมีความชัดเจนโปร่งใส หากเสนอ 15 ล้านบาทก็พยายามต่อรองราคาให้ได้ต่ำสุดสัก 12 ล้านบาท

“สวนแสงแห่งจินตนาการ” ที่ประดับด้วยดวงไฟนับล้านจากพลังงานแสงอาทิตย์

 รุกโปรโมตท่องเที่ยวเชิงเกษตร  

ผลงานเด่นในชีวิตการทำงานที่อาจารย์ประเวศภาคภูมิใจก็คือ โปรโมตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของกรมวิชาการเกษตร อาจารย์ประเวศ ได้รับมอบหมายให้ดูแลโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในศูนย์วิจัยพืชทั่วประเทศ 14 แห่ง โดยเจรจาต่อรองกับกระทรวงการคลังว่า ขอจัดส่งรายได้จากนักท่องเที่ยว คืนคลัง 20% ที่เหลือ 80% เป็นรายได้เข้ากรมวิชาการเกษตร โดยแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชจังหวัดภูเก็ต ดอยมูเซอจังหวัดตาก ดอยวาวีจังหวัดเชียงราย ภูเรือจังหวัดเลย ศูนย์พืชสวนจันทบุรี ฯลฯ หลังเปิดให้บริการแค่ปีแรก ก็มีผู้สนใจเข้ามาใช้บริการถึง 140,000 คน

ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ศูนย์เกษตรหลวงที่สูงขุนวางและแม่จอนหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2547-2563 มีนักท่องเที่ยวเข้าชมรวม 494,156 ราย โดยในปี 2559-2563 พบว่ามีนักท่องเที่ยวไปขุนวางเพิ่มเป็นปีละ 2.9 แสนคน เพื่อมาชมดอกนางพญาเสือโคร่งบานในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี

กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ณ ศูนย์เกษตรหลวงที่สูงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่

เคล็ดลับปลูกมะนาวในกระถางให้ลูกดก

ครั้งหนึ่งภรรยาอาจารย์ประเวศได้ซื้อกิ่งพันธุ์มะนาวแป้นพิจิตร 1 มาทิ้งไว้ในบ้าน อาจารย์ประเวศได้นำกิ่งพันธุ์มาทดลองปลูกในกระถาง ปรากฏว่าได้ผลดก 80-100 ผล ต่อต้น ซึ่งเคล็ดลับบังคับมะนาวนอกฤดู ทำได้ง่ายๆ เริ่มจากใช้กระถาง 15-18 นิ้ว เพื่อให้รากเดินสะดวก ใช้วัสดุปลูกคือ ดินร่วน 3 ส่วน กากมะพร้าว 1 ส่วน ผสมปุ๋ยคอกเล็กน้อย และใช้ไม้ค้ำใส่กระถางเพื่อป้องกันต้นล้ม หลังจากใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะให้ทั่ว รดน้ำวันละครั้ง เมื่อต้นมะนาวเริ่มผลิใบอ่อน ให้ปุ๋ยเดือนละครั้ง เมื่อครบ 3 เดือน เปลี่ยนมาให้ปุ๋ยทุก 15 วัน หากต้นมะนาวอายุไม่ครบ 1 ปี ให้เด็ดดอกทิ้งเพื่อให้ได้ต้นสมบูรณ์ที่สุด

หากต้องการบังคับให้มะนาวออกผลนอกฤดูในเดือนเมษายน เดือนตุลาคมต้องเริ่มงดน้ำสัก 1-2 สัปดาห์ หลังใบเริ่มม้วนกรอบ ใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะรอบโคน รดน้ำวันละครั้ง หลังจากนั้น ต้นมะนาวจะเริ่มออกดอกให้เห็นภายใน 7 วัน รดน้ำสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยสูตร 13-13-21 เพียงเท่านี้ก็จะได้มะนาวลูกดกในช่วงฤดูแล้ง

อาจารย์ประเวศกับลูกทัวร์ในกิจกรรมเกษตรสัญจรของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

คิวงานแน่นตลอด

อาจารย์ประเวศ เล็งเห็นว่า กรมวิชาการเกษตรมีข่าวค่อนข้างน้อย จึงเผยแพร่ผลงานวิจัยไปยังสื่อต่างๆ ทำให้ข่าวกรมวิชาการเกษตรแพร่หลายต่อสาธารณชนมากขึ้น หลังเกษียณราชการ อาจารย์ประเวศทำงานไม่มีวันว่าง ในฐานะนักวิชาการอิสระ เป็นคณะกรรมการสมาคมและองค์กรการเกษตรหลายแห่ง และเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่รู้จักกันดีในชื่อ “หมอเกษตร ทองกวาว” ทำหน้าที่ตอบคำถามด้านเกษตรมานานกว่า 20 ปี

คุณพานิชย์ ยศปัญญา บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน กล่าวเสริมว่า ในช่วงธุรกิจหนังสือรุ่งเรือง นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เคยทำสำรวจความนิยมของผู้อ่านพบว่า คอลัมน์หมอเกษตร ทองกวาว ติด 1 ใน 2 คอลัมน์ยอดฮิต (คอลัมน์ภูมิปัญญาไทย) ได้รับความสนใจสูงสุดในกลุ่มผู้อ่านส่วนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักหลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ประเทศไทยต้องแบกรับภาระหนี้ก้อนโตจากการทำสัญญากู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คนตกงานกันมาก ไม่รู้จะทำอาชีพอะไร ก็หันมาทำอาชีพเกษตรกันเป็นแถว

อาจารย์ประเวศ เป็นคอลัมนิสต์ตอบคำถามด้านเกษตรมานานกว่า 20 ปี

บก.พานิชย์ กล่าวว่า สมัยนั้น การสื่อสารยังไม่ก้าวหน้า เมื่อมีปัญหาด้านเกษตร ไม่รู้จะถามใคร เกษตรกรจึงขยันเขียนจดหมายส่งประเด็นคำถามข้อสงสัยมาให้หมอเกษตร ทองกวาว ช่วยไขข้อข้องใจ สมัยนั้นมีจดหมายส่งถึงหมอเกษตร ทองกวาว เข้ามาเป็นจำนวนมาก ไม่ขาดสาย หลายร้อยฉบับต่อปี

ซึ่งการค้นคว้าหาคำตอบในแต่ละคำถามก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจารย์ประเวศต้องใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาข้อตอบที่ถูกต้องจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหรือค้นจากตำราในห้องสมุดต่างๆ เรียกได้ว่า อาจารย์ประเวศมีบทบาทสำคัญในการตอบปัญหาข้อสงสัยทางการเกษตรให้กับเกษตรกรหลายหมื่นคน ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา

อาจารย์ประเวศมีเคล็ดลับปลูกมะนาวในกระถางให้ลูกดก

นอกจากนี้ อาจารย์ประเวศ ยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรในกิจกรรมเกษตรสัญจรให้กับนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างการเดินทางเที่ยวชมงาน หากใครมีปัญหาข้อสงสัยเรื่องใดก็สามารถซักถามได้ตลอด อาจารย์ประเวศยินดีแบ่งปันความรู้ด้านเกษตรให้แก่ผู้สนใจอย่างเต็มที่ จนเกิดกระแสความผูกพันในลักษณะ “แฟนคลับ” ดังนั้น หากมีกิจกรรมเกษตรสัญจรที่มีอาจารย์ประเวศ เป็นวิทยากรประจำคณะ ยอดจองตั๋วจะเต็มไวในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะมีกลุ่มแฟนคลับของอาจารย์ประเวศตามไปเที่ยวด้วยกันทุกครั้ง

คุณพานิชย์ ยศปัญญา บก.นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน (กลาง) ถ่ายรูปร่วมกับ 2 คอลัมนิสต์ (ซ้าย) คุณพัฒนา นรมาศ (ขวา) อาจารย์ประเวศ แสงเพชร

อาจารย์ประเวศ นับเป็นนักวิชาการเกษตรที่มีความรู้ความสามารถ มีกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ อธิบายข้อมูลเนื้อหาอย่างละเอียดเข้าใจง่าย การจัดกิจกรรมเกษตรสัญจรบางครั้งก็ไม่ราบรื่น เจอปัญหาอุปสรรคทำให้ลูกทัวร์อารมณ์เสีย หงุดหงิด อาจารย์ประเวศ จะเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจ จนลูกค้าเกิดความรู้สึกสบายใจ การจัดกิจกรรมราบรื่น ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด กล่าวได้ว่า อาจารย์ประเวศ เป็นนักวิชาการเกษตรที่มีความรู้ความสามารถ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยม สร้างคุณประโยชน์ต่อวงการการเกษตร เหมาะสมกับรางวัลเชิดชูเกียรติ “ศิษย์เก่าดีเด่น ประจำปี 2563”  เป็นอย่างยิ่ง นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ขอแสดงความยินดีกับ “อาจารย์ประเวศ แสงเพชร” ที่ได้รับรางวัลศิษย์เก่าเกษตรศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2563 มา ณ ที่นี้