ผู้เขียน | องอาจ ตัณฑวณิช |
---|---|
เผยแพร่ |
ผักต่างถิ่นที่มาเจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยเนื่องจากรสชาติถูกปากคนไทยมีหลายชนิด เช่น มะละกอ สับปะรด แครอต และที่ไม่น่าเชื่อคือ พริกขี้หนู ต่างก็เป็นพืชที่เข้ามาในไทยเป็นร้อยปีแล้ว จนเรานึกว่าเป็นพืชประจำถิ่นบ้านเรา เพราะเรานำมาประกอบอาหารตั้งแต่อ้อนแต่ออก ลืมตาก็เห็นพืชผักเหล่านี้แล้ว จะไม่ใช่ของบ้านเราได้อย่างไร
ผักไชยา คะน้าเม็กซิกัน ผักโขมต้น หรือ ชายา (ภาษาสเปน Chaya) ชื่อทางพฤกษศาสตร์ : Cnidoscolus chayamansa ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae เป็นไม้พุ่ม อายุหลายสิบปี อยู่ในวงศ์เดียวกับยางพาราและสบู่ดำ เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติในคาบสมุทรยูกาตันของประเทศเม็กซิโก มีลำต้นอวบน้ำ มียางขาวออกมาเมื่อถูกหัก ทรงพุ่มตั้งตรง มีขนาดใหญ่ โตเร็ว สามารถสูงได้ถึง 6 เมตร ใบกว้าง มีแฉกคล้ายใบมะละกอ ผักไชยาเป็นผักกินใบ เป็นอาหารชนิดหนึ่งของประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา และประเทศแถบอเมริกากลาง
ไชยา น่าจะเป็นผักที่เข้ามาในไทยไม่เกินสิบปีที่ผ่านมา ผมรู้จักไชยาเมื่อสามปีก่อน ในงานมหัศจรรย์พันธุ์พืชของนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ทีแรกนึกว่าเป็นผักพื้นบ้านของภาคใต้ จากอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่พอได้ยินอีกชื่อ เรียกว่า คะน้าเม็กซิกัน ก็รู้ว่าเป็นพืชต่างถิ่น เห็นรูปที่ถ่ายไว้สามารถนำไปแทนคะน้าโดยผัดราดหน้า ผัดซีอิ๊ว ผัดน้ำมันหอยได้ด้วย จึงสนใจไปดู สนนราคาตอนนั้น ขายต้นละ 100 บาท เป็นกระถางเล็กๆ ถ้าเอากิ่งเปล่าๆ ที่ตัดออกมา ยาวประมาณ 1 เมตร ก็ขาย 100 บาท เช่นกัน คนขายบอกว่าไปหั่นเป็นท่อนๆ ยาวสักคืบใหญ่ ก็ปลูกได้หลายกระถาง
จึงซื้อมา 1 กิ่ง เอามาตัดได้ 5 ท่อน ปลูกไป 5 กระถาง แอบเอาไว้ในที่ร่มรำไร หมั่นรดน้ำทุกวัน ไม่ถึงสองสัปดาห์ ไชยาก็แตกกิ่งออกมาทุกกระถาง นับเป็นต้นไม้ที่ปลูกง่ายเอามากๆ ตอนนั้นยังไม่กิน เพราะยังมีน้อยอยู่ เมื่อต้นมีขนาดใหญ่แล้วก็นำมาลงดินข้างโรงเรือน จนพุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น โคนต้นขนาดข้อมือผู้ใหญ่ก็ยังไม่กล้ากิน เพราะหักใบดูเป็นยางสีขาวเหมือนต้นมะละกอ ลังเลอยู่ ไม่กล้ากิน
จนมาถึงคราวคับขันไม่มีผักกิน เอ้า! กินก็กิน ต้องลองดู แต่เขาบอกว่าให้นำยอดไชยามาลวกก่อน ก็เด็ดยอดไชยามา ความยาวประมาณ 1 ฟุต เด็ดทั้งใบทั้งก้าน แล้วก็ปอกเอาผิวของยอดออกเหมือนลอกต้นคะน้า ให้ความเขียวหมด จะเหลือเนื้อใสๆ หั่นเฉียงเป็นท่อนๆ ตั้งน้ำจนเดือด พอน้ำเดือดใส่ผักลงไปคนให้โดนน้ำร้อนจนทั่ว ประมาณ 1-2 นาที เอาผักขึ้นมาพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ คราวนี้จะทำอะไรกินก็ทำ ลองชิมผักดูเมื่อลวกแล้ว รสชาติอร่อย มีติดหวานเล็กน้อย ผมเริ่มเมนูแรกที่คะน้าหมูสับใส่พริกขี้หนูลงไปนิดหน่อย รสชาติค่อนข้างดี เหมือนคะน้าทั่วไป แต่จะไม่มีกลิ่นเหม็นเขียวหน่อยๆ เหมือนคะน้า แต่ปรากฏว่ามีบางส่วนคือ ก้านล่างแข็งเกินไป คราวต่อไปจึงต้องเลือกก้านเอาเฉพาะจากยอดแรกลงมาแค่สองก้านเป็นพอ ก้านล่างลงจากนั้นให้ตัดทิ้ง เหลือใช้ได้เฉพาะใบ
ตั้งแต่นั้นการปลูกคะน้าปกติเป็นเรื่องยากสำหรับผมเสียแล้ว เพราะศัตรูพืชค่อนข้างมาก โรยเมล็ดไปได้สองสามวันช่วงนี้จะต้องรดน้ำส้มควันไม้ไล่แมลงอยู่เสมอ เผลอเป็นโดนกินเรียบทั้งแปลง พอรู้รสชาติของคะน้าเม็กซิกัน คะน้าจีนเลยเลิกปลูก แต่สำหรับทำการค้าโดยติดยอดไชยาขายค่อนข้างยาก เพราะยอดไชยาเหี่ยวเร็วมาก มาทำเป็นกำแล้วเก้งก้าง โอกาสที่จะปลูกไชยาขายน่าจะยาก แต่เหมาะสำหรับปลูกไว้กินที่บ้านมาก เนื่องจากปลูกครั้งเดียว กินได้ยี่สิบสามสิบปี
นอกจากเมนูคะน้าหมูสับ คะน้าน้ำมันหอย คะน้าเต้าเจี้ยว แล้ว ยังเอามาลวกกินกับน้ำพริก ชุบแป้งทอด ทำราดหน้า ผัดซีอิ๊ว ผัดไข่ หรือสามารถใส่แทนผักได้แทบทุกอย่าง
การปลูก และการขยายพันธุ์
ไชยา ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ จนแพร่หลายมากแล้ว โดยการตัดกิ่งที่เริ่มเป็นสีเขียวเข้มออกขาวมาปักชำ ตัดความยาวขนาด 1 คืบ ก็เพียงพอแล้ว นำมาปักในกระถาง ขนาดประมาณ 5-6 นิ้ว ใส่ดินพร้อมปลูก วางไว้ในที่แดดรำไร ไม่นานไชยาก็แตกกิ่ง เมื่อไชยาเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ค่อยนำลงปลูกในดิน ปัจจุบัน ราคากระถางละ 20-30 บาท เนื่องจากสามารถขยายพันธุ์ได้เร็ว และเจริญเติบโตค่อนข้างเร็ว การดูแลรักษาง่ายมาก ไม่มีแมลงรบกวน ชอบดินโปร่งที่ระบายน้ำได้ดี ขออย่าให้มีน้ำท่วมขังนานเกินไป แสงแดดที่ชอบจะเป็นแสงตั้งแต่รำไรจนถึงแสงแดดจัด ผักไชยาปลูกครั้งเดียวกินได้ตลอดชีวิต ไม่ต้องพึ่งปุ๋ย ยา ใส่แค่มูลสัตว์ ให้นานๆ ครั้งก็เพียงพอ เพียงแต่หมั่นตัดไม่ให้กิ่งสูงเกินสองเมตร เพื่อสะดวกในการเก็บมากิน สำหรับคนที่ชอบเกษตรไร้สารพิษเป็นเรื่องดีมาก และเป็นที่น่ายินดีที่ไชยาสามารถปลูกได้ทั่วประเทศไทยโดยไม่มีข้อรังเกียจภาค
สรรพคุณ
คะน้าเม็กซิกัน เป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน วิตามิน แคลเซียม โพแทสเซียม และเหล็ก แล้วยังเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของสารต้านอนุมูลอิสระ ใบคะน้าเม็กซิกันยังมีระดับสารอาหารสูงกว่าผักใบเขียวชนิดใดๆ ที่ปลูกบนดิน 2-3 เท่าอีกด้วย แต่ใบคะน้าเม็กซิกันดิบมีพิษ เนื่องจากมีสารกลูโคไซด์ซึ่งจะปลดปล่อยสารพิษจำพวกไซยาไนด์ออกมา จึงจำเป็นต้องทำให้สุกก่อนกิน โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที ในการทำให้สุก เพื่อลดฤทธิ์ของสารที่เป็นพิษให้อยู่ในระดับปลอดภัย
สถาบันโภชนาการแห่งชาติเม็กซิกัน กล่าวถึงประโยชน์ของ “ผักไชยา” ว่า ช่วยในการหมุนเวียนโลหิต ช่วยย่อยอาหาร ช่วยในการมองเห็น ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยบรรเทาริดสีดวงทวาร ช่วยลดน้ำหนัก ป้องกันอาการไอ เพิ่มแคลเซียมให้กระดูก ป้องกันโลหิตจาง โดยเพิ่มธาตุเหล็กให้กับเลือด เพิ่มประสิทธิภาพความจำ และการทำงานของสมอง ช่วยบรรเทาโรคไขข้ออักเสบและโรคเบาหวาน
จริงๆ แล้ว ผักไชยา เป็นพืชที่เหมาะสำหรับคนเมือง เพราะเจริญเติบโตง่าย ไม่ต้องการการดูแลเอาใจใส่มาก สามารถปลูกในกระถางก็ได้ ในกรณีที่มีพื้นที่จำกัด หมั่นเด็ดยอดเรื่อยๆ ไชยาก็จะแตกยอดให้เรากินได้ตลอดไม่เกี่ยงฤดู หนำซ้ำไม่ค่อยมีศัตรูพืชและโรคพืชรบกวน อาจถือได้ว่าเป็นผักปลอดภัยที่ปลูกได้ดีข้างบ้าน ที่สำคัญอย่าลืมลวกน้ำเดือดเสียก่อนที่จะนำมาปรุงอาหาร