หงส์หยกอังกฤษ ตัวใหญ่ ขนฟู หลากสี เลี้ยงดูเล่นหรือส่งประกวด ไม่ผิดหวัง

นกหงส์หยก เป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักที่มีนิสัยร่าเริง รักสวยรักงาม สีขนสวยสดใส แล้วยังมีเสียงร้องเจื้อยแจ้วจนเป็นที่ถูกใจบรรดาผู้เลี้ยงทุกเพศวัย นกหงส์หยกที่เลี้ยงกันแพร่หลายเป็นสายพันธุ์ฮอลแลนด์ มักจะนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น เพื่อความเพลิดเพลิน ถือเป็นนกเบื้องต้นเลยสำหรับผู้ที่เริ่มเลี้ยงนก เนื่องจากเลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว

ลายสแปงเกิ้ล

แต่ยังมีหงส์หยกอีกสายพันธุ์ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ นั่นคือ สายพันธุ์อังกฤษ เป็นนกหงส์หยกที่มีขนาดใหญ่กว่าฮอลแลนด์ มีความสวยงามในเรื่องสีขนเช่นเดียวกัน แต่จะฟูมากกว่า โดยสายพันธุ์นี้นิยมเลี้ยงเพื่อการประกวด จึงเป็นปัญหากับนักเลี้ยงหน้าใหม่ แต่ถ้าจะเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินก็ได้เช่นกัน

สำหรับ คุณคฑาวุธ ทองยิ่ง หรือ คุณบอย เจาะจงเลี้ยงหงส์หยกอังกฤษ เพราะหลงใหลในความสวยงามของขนที่มีสีสวยและฟู มีโครงสร้างรูปร่างเด่น ตัวใหญ่ ขนฟู แล้วยิ่งมีเสน่ห์งดงามมากเมื่อยืนบนคอน จึงนำมาเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินก่อนจะพัฒนาไปสู่การเลี้ยงแบบฟาร์มเพื่อจำหน่ายสายพันธุ์

ลายแฟนซี

คุณบอย ค้นข้อมูลพบว่า นกหงส์หยกสายพันธุ์อังกฤษ ในบ้านเรามีเลี้ยงไม่แพร่หลายเท่ากับหงส์หยกฮอลแลนด์ที่มีรูปร่างเล็กกว่า เนื่องจากคนเลี้ยงหงส์หยกอังกฤษมักเป็นสายประกวด จึงติดต่อเข้าร่วมกลุ่มผู้เลี้ยง ไปดูสถานที่ พูดคุยในเรื่องวิธีเลี้ยงแล้วซื้อมาเลี้ยง 1 คู่

ตามธรรมชาติหงส์หยกอังกฤษเริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 8 เดือน เพราะเป็นช่วงวัยที่นกแข็งแรง แต่นกที่คุณบอยซื้อมา มีอายุเพียง 6 เดือน จึงต้องเลี้ยงต่อไปจนกว่าจะถึงเวลา แล้วบำรุงอาหารอย่างดี ไม่ว่าเป็นเมล็ดธัญพืช ขนมปัง ผักสด กะเพรา หรือแม้แต่วิตามินบำรุงเพื่อให้แข็งแรง

ตัวใหญ่ ขนฟู สีสวย

คุณบอย บอกว่า หลังจากนกผสมพันธุ์ ภายในสัปดาห์เดียวจะเริ่มออกไข่ แล้วทยอยออกไข่วันเว้นวัน ครั้งละ 4-8 ฟอง ขนาดฟองเล็กกว่าหัวแม่โป้ง ทั้งนี้ต้องเก็บข้อมูลวันที่ออกไข่ทุกวัน โดยไข่ใช้เวลาฟัก ประมาณ 18 วัน จึงเป็นลูกนก ทั้งนี้แม่นกสามารถเลี้ยงลูกได้เต็มที่คราวละ 4 ตัว ในกรณีที่ฟักพร้อมกันเกินกว่า 4 ฟอง ที่เหลือมีโอกาสเสี่ยงตายมาก

ลูกนกจะอยู่ในรัง 45 วัน แล้วจะย้ายมาอยู่ในกรงใหญ่ที่แยกต่างหาก จากนั้นแม่นกจะทำความสะอาดรังด้วยการคาบขี้ลูกนกออกมาทิ้ง ทำความสะอาดรังจนเกลี้ยงเพื่อเตรียมผสมพันธุ์รอบใหม่

นกหงส์หยกผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี มีเพียงในช่วงหน้าร้อนนกไม่ค่อยผสมพันธุ์ เพราะอากาศร้อนเป็นอุปสรรค นกมักกินน้ำแล้วนอน แต่ในฟาร์มบางแห่งที่มีทุนหนาอาจสร้างกรงเลี้ยงแบบติดเครื่องปรับอากาศ หรือใช้พัดลม ใช้เครื่องพ่นไอน้ำเข้ามาช่วยปรับอุณหภูมิ

คู่นี้ มีงอน

คุณบอย กำหนดให้แม่นกผสมพันธุ์ออกไข่เต็มที่สัก 3 รุ่นก่อน แล้วย้ายไปพักสัก 2-3 เดือน เพื่อให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์ค่อยนำกลับมาผสมพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้ยังกำหนดให้ตัวเมียออกไข่เต็มที่สัก 3 ปี เพราะหลังจากนั้นแล้วความสมบูรณ์ของตัวนกลดลง จำนวนไข่ลดลง ผสมไม่ติดเชื้อตัวผู้ ส่วนตัวผู้สามารถใช้เป็นพ่อพันธุ์ได้ถึงอายุ 5 ปี

การเลี้ยงลูกนก จะให้วิตามินเสริมโปรตีนหยดลงในน้ำ เพื่อให้แม่นกกินพร้อมอาหาร จากนั้นแม่นกจะคายอาหารเพื่อป้อนลูกนก แล้วทำเช่นนี้ประมาณ 45 วัน จะทำให้ลูกนกได้ทั้งอาหารและวิตามินไปพร้อมกัน วิตามินช่วยทำให้ลูกนกแข็งแรง เติบโตอย่างรวดเร็ว

กล่องให้ตัวเมียออกไข่

อาหารนกโต ใช้เมล็ดธัญพืช อาทิ ข้าวโอ๊ต เมล็ดข้าวฟ่าง มีแหล่งซื้อใหญ่ที่ตลาดนัดจตุจักร ซื้อมาเป็นกระสอบ กระสอบละ 20 กิโลกรัม ถ้าช่วงไหนมีนกมากต้องใช้เดือนละ 2 กระสอบ นอกจากนั้น อาจเสริมด้วยขนมปังแผ่นที่โรยด้วยอาหารไข่ (ทำสำเร็จมาแล้ว) เสริมด้วยผักกาดหอม ใบกะเพรา แครอต ข้าวโพดหวานดิบสีเหลืองในทุก 2 สัปดาห์

ด้านการดูแลสุขภาพ จะต้องป้อนยาเพื่อป้องกันโรคที่มักเกิดแล้วเป็นอันตรายกับนก ซึ่งยาที่ต้องให้กินมี 3 ชนิด คือ ยาป้องกันท้องเสีย ยาระบบทางเดินหายใจ และยาป้องกันหวัด เพื่อสำหรับสร้างภูมิคุ้มกัน โดยจะป้อนให้เป็นรอบ ผสมยากับน้ำเปล่า เป็นบางครั้ง ให้ทั้งนกเล็ก(หลัง 45 วัน) และนกโต

กรงนกโต

คุณบอย บอกว่า การสร้างกรงเลี้ยงนกไม่ควรสร้างแบบเปิดโล่งไว้กลางแจ้ง เพราะนกจะโดนลมมาก ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อศัตรูนก อย่าง งู ที่เข้ามากินไข่ หากจำเป็นควรใช้วัสดุที่มีช่องถี่ๆ หรือควรตั้งไว้ในตำแหน่งที่ไม่โล่งจนเกินไป

สำหรับสถานที่เลี้ยงนกของคุณบอยในพื้นที่บริเวณด้านหลังบ้านพัก เลขที่ 888/4 หมู่บ้านรุ่งกิจการ์เด้นโฮม ถนนร่มเกล้า แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ สร้างเป็นกรงไว้ จำนวน 2 กรงใหญ่ มีช่องทางเดินให้สะดวก แล้วยังแบ่งเป็นกรงเพาะลูกนกไว้ต่างหาก ภายในกรงแบ่งเป็นกรงขนาดย่อมไว้สำหรับให้ลูกนกอายุ 45 วัน- 3 เดือน นกอายุ 4-8 เดือน อีกกรง แล้วอายุเกิน 8 เดือน จะให้อยู่อีกกรง จึงทำให้นกอยู่แบบไม่แออัด มีสุขภาพแข็งแรง สุขภาพจิตดี

คุณบอย ชี้ว่าหงส์หยกอังกฤษนิยมเลี้ยงเพื่อประกวด การพิจารณาหลักเกณฑ์จะดูจากรูปทรง ลักษณะ และสีขน เป็นหลัก ดังนั้น การผลิตนกในแต่ละช่วงจะต้องดูความสนใจของตลาดว่านิยมเล่นนกรูปแบบใด จึงจะเลือกจับคู่ผสม พ่อ-แม่พันธุ์ ให้ถูกต้องเหมาะสม

“ขณะเดียวกันอาจมีการแยกย่อยในเรื่องของเฉดสี ลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบแฟนซี ลายสแปงเกิ้ล หรืออาจมาดูในเรื่องจุดเด่นตามอวัยวะสำคัญ อย่างมีหลังเป็นสีน้ำตาล ใบหน้าสีเหลือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างมูลค่านกในตลาดขาย”

แม่นกกำลังออกไข่

นกที่พร้อมจะขาย ต้องมีอายุอยู่สัก 7-8 เดือน เป็นช่วงวัยที่สามารถผสมพันธุ์ได้ทันที จะประกาศลงขายทางออนไลน์ แต่ก็มีลูกค้าบางรายอยากเห็นนกด้วยตัวเอง ก็จะเดินทางมาที่ฟาร์ม ซึ่งถ้าเห็นลูกนกสวยๆ ก็ซื้อติดมือไปด้วย

สิ่งสำคัญที่ลูกค้าใช้สำหรับเลือกซื้อนก โดยเฉพาะสายประกวด คือมักจะดูจากรูปลักษณะที่สมบูรณ์ ซึ่งสมัยก่อนการประกวดนิยมดูจากรูปร่าง โครงสร้างเป็นหลัก แต่ในยุคนี้เปลี่ยนมาเล่นเรื่องสีกับความแปลกแทน ดังนั้น การผสมพันธุ์จึงควรหาลูกเล่นใส่ลงไปด้วย เพื่อสร้างจุดสนใจ

ไข่นก

“อย่างในกรณีที่พ่อพันธุ์มีลักษณะดี หัวฟู รูปร่างใหญ่ แต่พื้นสีเป็นเขียวขี้ม้า ซึ่งตลาดไม่ค่อยนิยม แต่นกตัวนั้นมีจุดเด่นที่รูปร่าง โครงสร้าง ดังนั้น ก็จะต้องไปเลือกสีและลายที่ต้องการจากตัวเมีย พอนำมาจับคู่ผสมพันธุ์จะได้ลูกนกที่มีลักษณะเด่น เป็นที่ต้องการของตลาดจาก พ่อ-แม่”

สนนราคาขายหงส์หยกอังกฤษอาจไม่มีกฎตายตัวแน่นอน เพราะต้องอิงตลาดและความพอใจของ ผู้ซื้อ-ผู้ขาย โดยมากคุณบอยเริ่มต้นที่ ราคาตัวละ 800 บาท กลุ่มลูกค้ามีทั้งแบบซื้อไปเลี้ยงดูเล่น กับผู้ที่ต้องการเลี้ยงเพาะขายเพื่อส่งประกวด อย่างไรก็ตาม คนเลี้ยงมักเริ่มจากเลี้ยงดูเล่นก่อน แล้วผันตัวเป็นฟาร์มในอนาคต ดังนั้น จึงทำให้มีลูกค้าหลากหลายเกือบทุกวัย เพราะมีจุดหมายต่างกัน

ลูกนกที่เพิ่งฟัก

คุณบอย การันตีลูกค้าที่ซื้อนกไปแล้วภายใน 7 วัน เท่านั้น ถ้ามีปัญหาสามารถเลือกรับเงินคืนหรือเลือกนกตัวใหม่ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นแล้ว ยังให้คำปรึกษาฟรีแก่ลูกค้า

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือต้องการสั่งซื้อหงส์หยกอังกฤษที่มีสีและลายสวยๆ ได้ที่ คุณบอย หรือ คุณคฑาวุธ ทองยิ่ง โทรศัพท์ 081-838-5779 หรือเข้าไปชมภาพและกิจกรรมนกได้ที่ FB: คฑาวุธ ทองยิ่ง และ FB: นกหงส์หยก ร่มเกล้า

เลี้ยงง่าย ใช้ผักเป็นอาหารได้

…………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2565