แปลกที่ชื่อ : ดาดตะกั่ว เพชรและทองเชื่อมด้วยราคา สิ่งของเพิ่มมูลค่า เชื่อมด้วย “ตะกั่ว”

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hemigraphis alternata (Burm. f.)

ชื่อวงศ์ Acanthaceae

ชื่อสามัญ Red lily, Red flame ivy, Waffle plant.

ชื่ออื่นๆ ฮ่อมครั่ง ห่งจี้อั้ง สำหรับกลุ่มเกษตรกรสวนกล้วยไม้ เรียก ผักแหวง หญ้าบังแห

ฉันมีชื่อที่ส่วนหนึ่งของชื่อไปเกี่ยวข้องกับสารโลหะชนิดหนึ่ง ที่เมื่อผู้คนได้ยินแล้วไม่อยากเข้าใกล้หรือสัมผัส ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ เนื่องจากสารตัวนี้มันอยู่ใกล้ชิดรอบๆ ตัวทั่วสิ่งแวดล้อม แต่ฉันเองภูมิใจกับชื่อตัวเองที่เขาเรียกชื่อเต็ม เมื่อใครๆ ได้มองเห็นความแววเป็นมันเลื่อม ราวกับว่าสะท้อนแสง เขาจึงเรียกว่า “ดาดตะกั่ว”

แต่คำหลังที่เป็น “ตะกั่ว” นี่แหละที่ฉันกลุ้มใจ ฉันจึงไปค้นหาและถามผู้รู้ว่า ทำไมคำว่า ตะกั่ว จึงมีคนกลัวกันนัก  พอดีไปพบข้อมูลสรุปไว้ให้รู้จักถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตะกั่วนี้ แต่เขาเขียนว่า “สารตะกั่ว” จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

สารตะกั่ว เป็นโลหะหนักสีน้ำเงิน หรือสีเทาอมเงิน มีคุณสมบัติอ่อนตัว ถูกนำไปใช้ในทางด้านอุตสาหกรรมหลายรูปแบบ ที่คนเราจะปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอยู่รอบๆ ตัวเราและผู้คนทุกระดับ เช่น สีทาบ้าน น้ำมันเชื้อเพลิง แบตเตอรี่ ตัวเชื่อมโลหะอะลูมิเนียม ควันจากท่อไอเสียเครื่องยนต์ และที่ใกล้ชิดที่สุดซึ่งทุกคนคาดไม่ถึง คือท่อน้ำประปาน้ำดื่มที่ทำจาก “pvc” รวมทั้งที่ล่องลอยอยู่ในอากาศสิ่งแวดล้อมที่สามารถสูดดมเข้าสู่ร่างกายเส้นเลือดในสิ่งมีชีวิต เพราะมีการตรวจพบในเลือดคน เนื่องจากการเข้าสู่ร่างกายเข้าได้ด้วยระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และการดูดซึมโดยธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดผลเสียต่อระบบสมอง เซลล์ประสาท เม็ดเลือดแดง รวมทั้งในสตรีตั้งครรภ์ ในภาษาละติน เขียนชื่อ Plumbum ชื่อภาษาอังกฤษ Lead สัญลักษณ์เคมี Pb คุณสมบัติทางเคมีเป็นโลหะที่ไม่ไวต่อปฏิกิริยานัก และทนต่อการผุกร่อนเมื่ออยู่ในรูปของสารประกอบ แต่มีจุดหลอมเหลวต่ำ  นิยมนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรมเครื่องใช้เกือบทุกชนิด ตั้งแต่ในครัวเรือนจนถึงระบบโรงงาน “ตะกั่ว” ได้มาจากการถลุงสินแร่ตะกั่ว (Lead ores)

ฉันเกริ่นออกตัวยาวเพื่อจะให้แยกคำว่า “ตะกั่ว” ออกจากใบที่สวยงามของฉัน ซึ่งเป็นสีเทาเงินเข้ม วาววับยามต้องแสงเหมือนถูก “ราดด้วยตะกั่วหลอมเหลว” แต่คนที่เขาปลูกฉันไว้รอบบ้าน บนพื้นดิน จึงกลายเป็นไม้ประดับ ไม้คลุมดิน หรือจัดภูมิทัศน์สวนหย่อม จนเห็นใบดกหนาปิดลำต้นสีแดงจากต้นสูง ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ใบเดี่ยวรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยัก ส่วนที่ด้านบนของใบสีเขียวหรือสีเงินปนเทาอมม่วง ขึ้นอยู่กับได้รับแสงระดับไหน ยามออกดอกก็เป็นช่อสีขาว ทรงกรวยเล็กๆ แม้ว่าเป็นไม้ล้มลุกแต่มีเหง้าอยู่ใต้ดินก็ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำได้ดี เจริญเติบโตทั้งกลางแจ้งและในร่มเงา แต่หากปลูกในกระถางแขวนไว้ให้ลำต้นย้อยคลุมปากกระถางได้สวยงาม เป็นที่นิยม เพราะมีความแข็งแรง แตกกอแน่น ทนต่อสภาพแสงแดดได้ดี มีข้อสังเกตว่า บางสายพันธุ์ต้นเตี้ยจนไม่มีก้าน และมีแยกเป็นสายพันธุ์ที่มีจุดเด่นจากดอกหรือใบแล้วแต่ชอบ

ฉันขอย้อนกลับมาพูดในสิ่งที่ฉันภูมิใจตัวเองอีกนิดว่า จุดเด่นของใบ แม้หลังใบสีเขียว แต่ถ้าถูกแดดจัดๆ จะมองเห็นเป็นสีเทาอมเขียว หรือเมื่อถูกแสงแดดส่องจะเห็นเป็นประกายสวยงาม ส่วนท้องใบสีแดงหรือสีม่วงแดง และแผ่นใบก็เป็นร่องลึกตามเส้นใบ พอออกดอกก็ออกเป็นช่อตรงส่วนยอดของกิ่ง แต่ละช่อมีใบประดับเรียงซ้อนเป็นชั้นๆ ดอกสีขาวรูปกรวย หรือถ้วยเล็กๆ ปลายดอกแยกเป็น 5 แฉก เมื่อแก่จัดออกเป็นผล แต่ในเมืองไทย มีคนพูดกันว่า ยังไม่มีใครเห็น “ผล” ของฉันเลย

สรรพคุณประโยชน์ด้านสมุนไพร นิยมใช้ใบเป็นยาแก้บิด เป็นยาขับปัสสาวะ รวมทั้งเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร เพราะมีสาร potassium salt อยู่มากในใบ ในประเทศมาเลเซีย ใช้ทั้งต้นมาต้มดื่มเป็นยาแก้ตกเลือด รวมทั้งใช้รักษาโรคผิวหนัง คุณสมบัติเหล่านี้เป็นที่รู้จักหลายประเทศทั้งในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ แต่กล่าวกันว่า มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินโดนีเซีย

เพชร หรือทอง เป็นของไว้อวดโชว์ “ตะกั่ว” ไม่หรูไม่โก้ แต่จำเป็นต้องมีใช้ไว้เป็นตัวเชื่อมที่ดีที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์แนบแน่นจากการ “บัดกรี” เพียงโดนความร้อนจี้ ก็ละลายเป็นมันเลื่อมวาวสะท้อน ถ้าหากปลูก “ดาดตะกั่ว” ไว้ข้างบ้าน แค่ถูกแสงแดดจัดก็วาววับเหมือนปีกแมลงทับขยับตัว กลัวแต่ใครเห็นแล้วคิดว่าเจ้าของบ้านทำ “สะเก็ดเพชรเศษก้อนทอง” หล่นไว้ข้างบ้านเท่านั้นเอง.!

 …………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564