โรงเรียนชุมชนทมป่าข่า อุดรธานี ทำแผนผลิตสินค้าการเกษตร ลดปัญหาการตลาด

โรงเรียนชุมชนทมป่าข่า หมู่ที่ 2 ตำบลทมนางาม อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 2 เปิดการเรียนการสอนระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนในแต่ละปีการศึกษา เกือบ 300 คน และบุคลากรครู เกือบ 20 คน

เรียนรู้เรื่องการจัดสวน

การดำเนินงานของยุวเกษตรกรโรงเรียนชุมชนทมป่าข่า เริ่มจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุดรธานี ประสานงานกับโรงเรียนให้จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนขึ้น และให้มีการดำเนินงานตามกระบวนการของยุวเกษตรกร ซึ่งโรงเรียนชุมชนทมป่าข่าได้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยได้รับหนังสือรับรองการจัดตั้งสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 สมาชิก 40 ราย จากสำนักงานเกษตรอำเภอโนนสะอาด โดยมี อาจารย์พงษ์ศักดิ์ ระวิโรจน์ เป็นที่ปรึกษา โดยเริ่มทำโครงการเลี้ยงปลาดุก 2,000 ตัว กบ 2 บ่อ ปลูกผัก

กิจกรรมดำเนินมาระยะหนึ่งแต่ประสบปัญหาขายไม่ได้ราคา ค่าอาหารแพง และอาจารย์ที่ปรึกษาเกษียณอายุราชการไป การสืบสานกิจกรรมกลุ่มยุวเกษตรกรจึงขาดช่วงไป เหลือเพียงการเรียนในวิชาเรียนเกษตรเท่านั้น โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเป็นชั้นเรียน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ผู้วิจัยในฐานะที่รับผิดชอบโครงการสานฝันยุวเกษตรกรเห็นว่า โรงเรียนมีศักยภาพในเรื่องของพื้นที่มีบริเวณมาก กิจกรรมการเกษตรที่ทำอยู่ มีแปลงเกษตรที่ดี และบุคลากรครูที่เข้มแข็ง จึงสนับสนุนให้โรงเรียนเริ่มกิจกรรมยุวเกษตรกรขึ้นในโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง โดยการสนับสนุนงบประมาณ ในการจัดทำแปลงเรียนรู้ และอบรมสิทธิและหน้าที่ของยุวเกษตรกรในโรงเรียนโดยการนำของ อาจารย์กิตติศักดิ์ มูลสาระ และ อาจารย์นงลักษณ์ มูลสาระ ประกาศรับสมัครสมาชิกตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีความสนใจในกิจกรรมยุวเกษตรกรตามความสมัครใจ

ตอนนั้น ได้จำนวนสมาชิกมา 50 ราย กิจกรรมการเกษตรที่ทำอยู่แล้วคือ

Advertisement
  1. การเลี้ยงกวาง จำนวน 15 ตัว
  2. ไก่ จำนวน 16 ตัว
  3. เป็ดไข่ จำนวน 43 ตัว
  4. เป็ดเทศ จำนวน 32 ตัว
  5. หมูป่า จำนวน 21 ตัว
  6. วัว จำนวน 1 ตัว
  7. ปลา จำนวน 1 บ่อ
  8. กบพ่อแม่พันธุ์ และลูกกบ
  9. มันสำปะหลัง จำนวน 8 ไร่ และ 10. แปลงผัก จำนวน 36 บล็อก

เมื่อได้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร จำนวน 50 ราย โรงเรียนชุมชนทมป่าข่าได้ทำหนังสือขออนุญาตผู้ปกครองของเด็กในการเข้าร่วมกิจกรรมยุวเกษตรกร โดยมีครูที่ปรึกษาโครงการร่วมวางแผนการทำงานกับกลุ่มยุวเกษตรกร หน่วยงานราชการ และภาคีอื่นที่เข้ามาร่วม คือ การคัดเลือกคณะกรรมการกลุ่มยุวเกษตรกรซึ่งได้คณะกรรมการขึ้นมา 5 ตำแหน่ง โดยการคัดเลือกของกลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียน

Advertisement

เมื่อได้คณะกรรมการทั้ง 5 คนแล้ว เรียกคณะกรรมการชุดนี้ว่า “คณะกรรมการหน่วยกลาง” และจะมีการตั้งคณะกรรมการย่อยของแต่ละกิจกรรมอีกครั้งหนึ่งแล้วรับสมัครสมาชิกตามความสนใจของเด็ก จะมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนว่าใครจะทำอะไร แต่คณะกรรมการกลุ่มย่อยต้องขึ้นตรงต่อคณะกรรมการหน่วยกลาง

เมื่อได้คณะกรรมการแล้วกลุ่มยุวเกษตรกรได้ร่วมปรึกษาและวางแผนกันว่าจะปลูกผักอย่างไร ให้ได้ผลผลิตตามฤดูกาลที่เหมาะสม สามารถขายได้ และเด็กนักเรียนมีเวลาดูแลแปลงผักอย่างเต็มที่ หลังการประชุมสรุปได้ว่า จะปลูกผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกะหล่ำปลี ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เพราะระหว่างสอบเสร็จก็พอจะมีเวลาลงมาทำแปลงเกษตรบ้าง โดยจะให้สมาชิกลุ่มยุวเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกกันทุกคน ทั้งหมด 36 แปลง โดยการแบ่งเวร หน้าที่ความรับผิดชอบมาดูแล ผลผลิตจากแปลงผักจะสามารถเก็บจำหน่ายได้ในช่วงเปิดเทอมพอดี และผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายให้กับโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งได้ทำเป็นปฏิทินการปฏิบัติงานและปฏิทินการผลิตไว้เรียบร้อยแล้ว

เมื่อกลุ่มยุวเกษตรกรได้วางแผนการทำงานเรียบร้อย แล้วลงมือปลูกพืชผักโดยมีครูที่ปรึกษายุวเกษตรเป็นผู้นำ และได้รับงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐ โดยมุ่งเน้นจำหน่ายให้กับโครงการอาหารกลางวัน เพื่อนำรายได้มาเป็นทุนในการทำการเกษตร หากผลผลิตเหลือเกินกว่าโครงการอาหารกลางวันต้องการ ก็จะนำไปจำหน่ายให้กับครู ผู้ปกครอง และชุมชนใกล้เคียง

ในการดำเนินงานภาคเกษตร เด็กๆ ที่ประสบปัญหาระหว่างการปฏิบัติงาน จะปรึกษาพ่อแม่ หรือครูที่ปรึกษา หรือบางครั้งจะถามปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้าน รวมถึงการค้นคว้าด้วยตนเองให้ห้องสมุด

กิจกรรมนี้ เด็กๆ สะท้อนให้ฟังว่า การที่ได้ร่วมกลุ่มกันนี้ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม ความสามัคคี การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การตัดสินใจ โดยการใช้เสียงส่วนมาก รู้จักวิธีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร มีรายได้เสริมระหว่างการเรียนหนังสือ ได้ฝึกการเป็นผู้นำ ฝึกความอดทน รู้จักการรอคอยให้ผลผลิตเติบโตตามเวลาของมัน ฝึกประสบการณ์ชีวิต การนำความรู้จากโรงเรียนแล้วไปต่อยอดทำที่บ้าน

แนวทางการวางแผนการปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตในช่วงที่นักเรียน หรือตลาดต้องการพอดี เป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นการแก้ปัญหาของกลุ่มยุวเกษตร เรียนรู้เรื่องของการทำการตลาด นอกเหนือจากการดูแลแปลงผักให้ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ แนวการดำเนินการเช่นนี้ หากสนใจแนวคิด ประสานงานไปได้ที่ โรงเรียนชุมชนทมป่าข่า หมู่ที่ 2 ตำบลทมนางาม อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี