โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ จับมือ สวพส. ส่งเสริมอาชีพเพื่อชุมชนบ้านเลตองคุ

ประวัติโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2529 หมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่มาตั้งฐานปฏิบัติการที่หมู่บ้านเลตองคุ พบว่าประชากรไทยพูดภาษาไทยได้เพียงคนเดียว คือ นายหม่อเอหมี่ ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2529 หมวดตระเวนชายแดนที่ 610 ขึ้นปฏิบัติการในพื้นที่ จึงได้เปิดการเรียนการสอน มีเด็กนักเรียนมาเรียน 7 คน เป็นเด็กชาย 4 คน เด็กหญิง 3 คน เปิดสอนได้ประมาณ 1 เดือน ต้องยกเลิกเพราะว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะให้เด็กเข้าเรียน เพราะกลัวว่าวัฒนธรรมประเพณีลัทธิฤาษีที่พวกตนเองเคารพนับถือจะถูกทำลาย

เมื่อปี 2532 ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 พ.ต.อ. เทโพ ตรีชนะ และผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 347 ร.ต.อ. ไพศาล สุระวาศรี ได้เดินทางมาเยี่ยมหน่วยและราษฎรในพื้นที่ พบว่าราษฎรในพื้นที่บ้านเลตองคุ ไม่สามารถพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ มีเพียงผู้ใหญ่บ้านคนเดียวเท่านั้นที่พูดภาษาไทยได้บ้าง

ในชั้นแรก กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 จึงร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตาก ได้จัดเจ้าหน้าที่ จำนวน 2 นาย และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน จัดอาสาสมัคร จำนวน 1 นาย ขึ้นไปจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนภาษา ได้เปิดทำการสอนในวันที่ 18 มิถุนายน 2533 โดยชาวบ้านจัดสร้างอาคารให้ 1 หลัง ขนาดกว้าง 8×2.50 เมตร เพื่อใช้เป็นที่พักครูและทำการเรียนการสอน

ต่อมาศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตากและกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 ได้ติดต่อประสานงานกับองค์การยูนิเซฟ เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนในการจัดทำโครงการพัฒนาเสริมความมั่นคงและคุณภาพชีวิตชายไทยภูเขา ซึ่งองค์การยูนิเซฟได้ให้การสนับสนุนให้ดำเนินการในปี 2534

หลังจากที่ได้ตั้งเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุแล้วนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเยี่ยมถึง 6 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2535 ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2539 ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ครั้งที่สี่ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ครั้งที่ห้า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ครั้งที่หก เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ล่าสุดครั้งที่เจ็ด เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563

ทั้งนี้ โดยมี ด.ต. คณิต ช่างเงิน ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ คณะครูประกอบด้วย จ.ส.ต. ชินวัตร คีรีดุจจินดา จ.ส.ต. จตุพงษ์ วิไลบรรเจิดกร ส.ต.อ. ปพนสรรค์ คีรีดุจจินดา ส.ต.ท.หญิง สุวนันท์ มณีชาคร ส.ต.ท. สาคร วัฒนาชานนท์ ส.ต.ท.หญิง กรีคีกาญน์ ถวัลสกุล นายปกรณ์ สอนโยธา น.ส.ชินารัตน์ ศิริการะเกด นายวินัย ชนะก้องไพร นายนฤมัย เพชรพิษวงศ์ น.ส.สโรชา อินสุข น.ส.เปรมฤดี ศรีธนจิต น.ส.ชไมพร สาครอมรศรี

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีผู้แทนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ประกอบด้วย ดร.ศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ ที่ปรึกษาด้านการวางแผนและพัฒนาการเกษตร นางสาวเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการ สวพส. ด้านการพัฒนา นายเดชธพล กล่อมจอหอ ผู้จัดการลุ่มน้ำสาละวิน พร้อมด้วยคณะนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ ร่วมรับเสด็จและถวายรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยสังเขป

คณะทำงานจาก สวพส. ที่เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่
ติดตามแปลงปลูกอะโวกาโดในแปลงเกษตรกร

การปฏิบัติงานในพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหมู่บ้านเลตองคุ หลายหน่วยงานได้เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม อาชีพ สิ่งแวดล้อม ในส่วนของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือมีชื่อย่อว่า สวพส. ได้เข้าไปดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ทำการสำรวจพื้นที่ดินของเกษตรกร แผนที่การทำประโยชน์ที่ดินรายแปลง มีเกษตรกร 270 ราย ทำกินบนพื้นที่ 749 แปลง 12,329 ไร่ พบว่า มีการทำการเกษตรตั้งแต่มากไปหาน้อย ได้แก่ หมาก ทุเรียน ข้าวไร่ ข้าวนา บุก ไร่หมุนเวียน

จากข้อมูลสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ตำบลแม่จัน ขอขอบคุณข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 2,000 มิลลิเมตร ฝนตกมากในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน ช่วงที่เหลือจะมีฝนตกค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม สำหรับอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20-31 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 25 องศาเซลเซียส

นางสาวเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการ สวพส. สนใจการปลูกพืชผักเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
การปลูกผักในเรือนโรงของเกษตรกร

จากข้อมูลดังกล่าว เจ้าหน้าที่ นักวิชาการจาก สวพส. จึงได้เข้าไปปฏิบัติงานโดยร่วมกับชุมชนกำหนดแนวทางการส่งเสริม เกษตรกรให้ความสนใจการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพพืชเดิม บางส่วนสนใจพืชใหม่ จึงได้ทำการส่งเสริมควบคู่กันไป ทดสอบสาธิตงานพืชผักในเรือนโรง 1 ราย 3 เรือนโรง และส่งเสริมการปลูกพืชผักนอกเรือนโรงอีก 10 ชนิด โดยกำหนดปฏิทินการปลูกพืชผักเป็นระยะ มีเป้าหมายการผลิตเพื่อการบริโภคและการตลาด 1.5 ตัน ต่อเดือน

งานด้านไม้ผล ส่งเสริมการปลูกอะโวกาโดเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกได้ในพื้นที่ค่อนข้างร้อน 6 ราย 175 ต้น ในพื้นที่ 7 ไร่ ส่งเสริมการปลูกลองกอง 6 ราย 188 ต้น พื้นที่ 8 ไร่ ส่งเสริมการปลูกเงาะ 3 ราย 100 ต้น พื้นที่ 4 ไร่ ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรด้านเมล็ดพันธุ์ผัก 10 ชนิด กล้าหมากพันธุ์เตี้ย 3,000 ต้น สนับสนุนปุ๋ยคอกเพื่อทำปุ๋ยหมัก 2,000 กระสอบ สนับสนุนเครื่องกรองน้ำดื่มสะอาด ระบบเครื่องกรองน้ำดื่มสำหรับนักเรียนและชุมชน จำนวน 2 จุด กำลังการผลิตน้ำดื่มสะอาด 400 ลิตร ต่อชั่วโมง โดยมีระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ

ระบบน้ำดื่มสะอาดเพื่อการบริโภค

นอกจากนี้ ส่งเสริมการให้ความรู้แล้ว ยังแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไปด้วยการทดสอบสาธิตไม้ผลเมืองหนาวอย่างต่อเนื่อง เพิ่มผลผลิตและคุณภาพไม้ผลดั้งเดิม ส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยร่วมกับชุมชนและโรงเรียน ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตข้าวนาและข้าวไร่ พัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กและระบบการกระจายน้ำ การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ เช่น กาบหมากที่มีมากมายอยู่ในพื้นที่ เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และเพิ่มมูลค่าสูงขึ้น และเป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เรือนโรงปลูกผัก ใช้วัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เลขที่ 65 หมู่ที่ 1 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์ (053) 328-496, www.hrdi.or.th