“ข้าวหอมวาริน” จากงานวิจัยสู่ท้องนา ร่วมแก้ปัญหา-ตอบโจทย์วิกฤติข้าวไทย

ปัญหาของการส่งออกข้าวไทยที่นับวันจะถดถอยลงทั้งปริมาณและมูลค่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการข้าว “พื้นนุ่ม” มากกว่าเพิ่มขึ้น  

ขั้นตอนการเก็บตัวอย่างข้าวในแปลงทดลอง

ขณะที่ข้าวที่ประเทศไทยมีการปลูกข้าวพื้นนุ่มน้อย แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้พัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มออกมาและให้การรับรองแล้วหลายพันธุ์ เช่น กข 39, กข 43, กข 53, กข 77 และ กข 79 แต่ยังไม่นิยมปลูกเป็นที่แพร่หลายมากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามที่มีสายพันธุ์ที่หลากหลายกว่า ทำให้ผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวพื้นนุ่มกับคู่แข่งมากขึ้น ไทยจึงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดนี้ให้คู่แข่งอย่างเวียดนามไปอย่างน่าเสียดาย

โดยเวียดนามเป็นประเทศที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างมาก โดยจัดสรรงบประมาณกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,000 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนา โดยนำพันธุ์ข้าวที่ดีในตลาดมาพัฒนาเป็นพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อทำตลาด มีระยะเพาะปลูกที่สั้น 90-95 วัน ปลูกได้ปีละ 3 ครั้ง ขณะที่ประเทศไทยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเพียง 100 ล้านบาท/ปีเท่านั้น

ขั้นตอนการเตรียมแปลงปลูก

แม้ว่าจะขาดแคลนงบประมาณด้านงานวิจัย แต่สถาบันการศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย รศ.ดร. สุรีพร เกตุงาม อาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย ยังเดินหน้าทำงานวิจัยจนสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวเจ้า “หอมวาริน” ได้สำเร็จ โดยใช้เวลา 3-4 ปี ภายใต้งบประมาณ 3 ล้านบาท ที่นักวิจัยท่านนี้ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ในการเสนองานวิจัยเพื่อให้ได้งบประมาณดังกล่าวมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว รศ.ดร. สุรีพร ให้รายละเอียดว่า หลังจากได้รับงบประมาณมาจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2558 ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มให้ตรงกับความต้องการของตลาด เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศของพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และใกล้เคียง ซึ่งเป็นเขตอีสานใต้

ข้าวหอมวารินในแพคเกจจิ้งที่สวยงาม

ซึ่ง รศ.ดร. สุรีพร ระบุอีกว่า งานด้านการวิจัยของสถาบันการศึกษาควรถูกนำมาใช้จริงๆ ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ทำออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับท้องถิ่น

ปัญหาของพื้นที่ที่พบก็คือ การกระจายตัวของน้ำฝนที่ไม่สม่ำเสมอในพื้นที่ปลูกข้าว โดยชาวนาจะอาศัยปลูกข้าวโดยอาศัยน้ำฝน บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ขณะที่ปัญหาความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศก็นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน ฝนทิ้งช่วง ในช่วงที่มีการเพาะปลูก

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดมีการระบาดของโรคและแมลงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงอย่างมากมาย การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีคุณสมบัติทนต่อสภาพเครียดๆ หลายลักษณะ แต่ให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ราบลุ่ม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการศึกษาวิจัย

ต้นกล้าข้าวหอมวาริน

โดยดำเนินการในพื้นที่แปลงนาวิจัย ซึ่งมีพื้นที่ 10 ไร่ แบ่งเป็นแปลงขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวเจ้าหอมวาริน พื้นที่ 3 ไร่ และงานวิจัยของนักศึกษาพืชไร่ จำนวน 7 การทดลอง ดังนี้

  1. การศึกษาพันธุ์และเปรียบเทียบผลผลิตเบื้องต้นของข้าวเจ้าหอมสายพันธุ์ปรับปรุงต้านทานโรคไหม้ (BC2F7และ BC2F8) จำนวน 45 สายพันธุ์ ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (BC2F4 และ BC2F5) จำนวน 39 สายพันธุ์ ต้านทานโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (PY-F7 และ PY-F8) จำนวน 40 สายพันธุ์
  2.  การศึกษาพันธุ์และเปรียบเทียบผลผลิตเบื้องต้นของข้าวเจ้าหอมสายพันธุ์ปรับปรุงต้านทานโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง (F6)จำนวน44 สายพันธุ์ ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล(F6) จำนวน 42 สายพันธุ์
  3.  การประเมินผลผลิต และองค์ประกอบผลผลิตเบื้องต้นของข้าวเจ้าหอมสายพันธุ์ปรับปรุงต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จำนวน39 สายพันธุ์
  4. อิทธิพลของปุ๋ยโพแทสเซียมต่อผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตของข้าวเจ้าหอมวารินในดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
  5. การศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตของข้าวเจ้า จำนวน8 พันธุ์/สายพันธุ์
  6.  การศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตและองค์ประกอบผลผลิตของข้าวเหนียว จำนวน7 พันธุ์/สายพันธุ์
  7. การสืบค้นยีนสำคัญทางเศรษฐกิจโดยใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอและการประเมินคุณภาพการหุงต้มของข้าวพื้นเมืองไทย

จนในที่สุดก็สามารถพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเจ้าหอมวาริน ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่น สามารถตอบโจทย์เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานได้เป็นอย่างดี เพราะได้มีการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว สามารถทนน้ำท่วมฉับพลัน ทนเเล้ง ต้านทานโรคไหม้ ให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ปลูกข้าว อาศัยน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าวสุกมีกลิ่นหอม และมีความนุ่มเหนียวคล้ายข้าวดอกมะลิ 105 โดยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมสนับสนุน นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในอนาคตของเกษตรกรที่สนใจเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณ ส่งเสริมพัฒนางานวิจัยสู่ชุมชนและสังคมอย่างมีสุข ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมแปลงนาทดลอง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทรศัพท์ 045-353-000

รศ.ดร.สุรีพร เจ้าของงานวิจัย

“ข้าวพันธุ์นี้มีระยะปลูก 120 วัน เป็นข้าวนาปี เป็นข้าวพื้นนุ่มที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการ ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน เพราะทนน้ำท่วมฉับพลัน ทนเเล้ง ต้านทานโรคไหม้ ให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ปลูกข้าวอาศัยน้ำฝนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณสมบัติเด่นข้าวสุกมีกลิ่นหอม มีความนุ่มเหนียวคล้ายข้าวดอกมะลิ 105 แต่เมล็ดสั้นกว่าหอมดอกมะลิ จึงแยกออกจากกันได้ง่าย แยกการปลอมปนได้ด้วยสายตา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจดทะเบียนรับรองพันธุ์พืชใหม่ จากนั้นก็จะจดคุ้มครองพันธุ์พืชต่อไป” รศ.ดร. สุรีพร กล่าว

ลงพื้นที่กับสมาคมผู้ส่งออกข้าว

นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า ในอนาคตต้องการให้เกษตรกรสามารถทำแปลงเมล็ดได้เองโดยไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก และหากเกษตรกรสามารถปลูกได้มาตรฐานและมีปริมาณมากพอแล้วก็จะเป็นข้าวที่มีอนาคต สามารถส่งออกได้ตามความต้องการของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งต่อไปเกษตรกรต้องปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ๆ เป็นทางเลือก ไม่ปลูกเฉพาะข้าวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง และต้องมองถึงความต้องการของตลาดเป็นหลัก โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มที่ตลาดโลกมีความต้องการสูง แต่ประเทศไทยปลูกน้อย ทำให้เสียโอกาสทางการตลาด

ขณะเดียวกันยังต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงสีให้รับซื้อข้าวพันธุ์ใหม่ เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกไปแล้วแต่โรงสีไม่รับซื้อ เพราะเป็นข้าวเมล็ดสั้น ไม่ตรงกับสเปคของตลาดและกลัวไปปนกับข้าวหอมมะลิ

ลงพื้นที่แปลงข้าวหอมวารินกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

สอดคล้องกับความเห็นของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย โดย คุณเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่ได้ให้ความเห็นว่า หากปัญหาการขาดแคลนข้าวพื้นนุ่มเพื่อส่งออกเพราะข้าวที่ประเทศไทยปลูกส่วนใหญ่เป็นข้าวพื้นแข็ง และปัญหาอื่นๆ ทั้งข้อมูลผลผลิตข้าวไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงาน ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ยังไม่ได้ถูกแก้ไขภายใน 5 ปีนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยฟันธงว่า ไทยที่เคยเป็นผู้ส่งออก อันดับ 1 อาจหล่นไปอยู่ที่ 5 ต่อจากเมียนมาและจีน จากปัจจุบันไทยอยู่ อันดับ 3 เป็นรองอินเดีย และเวียดนาม ไปแล้ว

โดย คุณเจริญ ระบุว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกข้าวได้ประมาณ 5.7-5.8 ล้านตัน จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะส่งออกได้ถึง 7.5 ล้านตันตอนต้นปี และปรับลดลงมาเหลือ 6 ล้านตันเมื่อกลางปี เนื่องจากประสบกับปัญหาค่าเงินบาทแข็งตัวต่อเนื่อง ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ใช้บรรจุสินค้า ประกอบกับค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้การส่งมอบสินค้าต้องล่าช้ากว่ากำหนด และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น

สัมมนาส่งออกข้าวและหน่วยงานรัฐ

รวมทั้งการระบาดของ โควิด-19 ทั่วโลกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าชะลอตัว ซึ่งภาวะราคาข้าวของไทยในช่วงนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง ขณะที่ข้าวหอมมะลิค่อนข้างทรงตัว ท่ามกลางภาวะค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า ซึ่งส่งผลให้ราคาข้าวไทยห่างจากอินเดีย ประมาณ 150 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา สมาคมประกาศราคาข้าวขาว 5% ที่ 529 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่เว็บไซต์ Oryza.com รายงานราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 498-502 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน อินเดีย อยู่ที่ 368-372 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 410-414 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

อาจารย์สุรีพร กับต้นข้าวหอมวาริน

ด้วยเหตุนี้เองภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดทำ “ยุทธศาสตร์ข้าวไทย (ปี 2563-2567)” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ตั้งเป้า “ไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก”

มีพันธกิจสำคัญ 4 ด้าน คือ

  1. ด้านการตลาดต่างประเทศ มุ่งเน้นการสนองต่อความหลากหลายของตลาดข้าว ซึ่งมีความต้องการข้าวที่หลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวพื้นนุ่มที่เป็นความต้องการของตลาด
  2. ด้านการตลาดภายในประเทศ ดำเนินการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของการบริโภคในประเทศและการผลิตในประเทศ
  3. ด้านการผลิต ต้องลดต้นทุนการผลิตให้เหลือไม่เกิน ไร่ละ3,000 บาท จากปัจจุบันเฉลี่ย ไร่ละ6,000 บาท, เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่ จาก 465 กิโลกรัม เป็น 600 กิโลกรัม, เพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ ในช่วงระยะเวลา 5 ปี

เป้าหมายเพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีลักษณะสั้น เตี้ย ดก ดี โดย 12 พันธุ์ ประกอบด้วยข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอมไทย 2 พันธุ์ และข้าวที่มีโภชนาการสูง 2 พันธุ์

รวมถึงดำเนินการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อส่งเสริมให้มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์เพื่อนำไปสู่การแข่งขันในตลาดข้าวโลกได้ต่อไป สำหรับ ปี 2564 จะเป็นกรณีพิเศษ จะมีการจัดประกวด 2 ครั้งคือ ในต้นปีและปลายปี

อาจารย์สุรีพรกับนักศึกษาที่ช่วยงาน

สำหรับข้าวพื้นนุ่มนั้น กรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันเพื่อให้มีมาตรฐานการซื้อ-ขายในอนาคต ให้ความสำคัญเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น ด้านเคมีและด้านกายภาพ ควรใช้ค่าอะไรบ้าง เกณฑ์ที่ใช้เป็นมาตรฐานในการวัดควรมีอะไร ซึ่งยังต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดจำนวนมาก เช่น สี ความยาว ลักษณะเมล็ด รวมถึงองค์ประกอบคณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลว่า ต้องมาจากส่วนใดบ้าง

ทั้งหมดนี้ก็หวังว่าจะทั้งสามประสานคือ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ จะร่วมกันแก้ไขปัญหาข้าวไทยได้สำเร็จและยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนาไทย ขณะเดียวกันก็ทำให้ประเทศไทยกลับมาผงาดเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว อันดับ 1 ของโลก ทั้งปริมาณและมูลค่า ก่อนที่ประเทศไทยจะตกขบวนการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวโลกแบบกู่ไม่กลับ