“ผำ” อาหารคนพื้นเมือง เม็ดสีเขียวๆ เล็กๆ เหมือนไข่ปลา มีประโยชน์สูง

มีหลายคนสงสัยอยู่ว่า พืชชนิดหนึ่งที่เป็นเม็ดกลมๆ เล็กๆ สีเขียวอ่อน ใส่ถุงวางขายตามตลาดสด มันคืออะไร? คนกินได้หรือ? จะหาคนอธิบายได้บ้างไหมว่า มันเป็นพืชประเภทไหนกันแน่ เห็นคนหลายภาคเอามาประกอบอาหารกินกัน หยึย…ย กินไปเรื่อย ที่จริงแล้วที่เห็นกันอยู่ตามตลาดบางแห่ง ใส่ถุงวางขาย ถุงละ 10 บาท เม็ดสีเขียวๆ เล็กๆ เหมือนไข่ปลา แต่ไม่ติดกันเป็นแพ เป็นก้อน น่าจะเหมือนเศษพืชอะไรสักอย่าง ที่ร่วนซุย คล้ายเม็ดทราย ถ้ามันมีสีขาวใสก็จะเหมือนเม็ดสาคู ที่เป็นขนมหวาน แต่ก็ไม่เหนียวเหนอะ แห้งๆ ถ้าสะเด็ดน้ำแล้ว เป็นเม็ดกลมๆ เล็กๆ ชาวบ้านทางภาคเหนือ เรียกว่า “ผำ” ทางอีสานเรียก “ไข่ผำ” ทางภาคกลางเรียก “ไข่น้ำ” บางที่เรียก “ไข่แหน”

ผำ ไข่ผำ ไข่แหน หรือไข่น้ำ ชื่อภาษาอังกฤษว่า Water Meal เป็นพืชน้ำ คล้ายตะไคร่น้ำ เป็นเม็ดกลมหรือรี เม็ดเล็กๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.1-0.2 มิลลิเมตร เท่านั้นเอง เป็นพืชในวงศ์ LEMNACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wolffia globsa Hartog & plass ขึ้นอยู่ผิวน้ำเป็นแพ เป็นกลุ่ม อาจมีลอยปะปนกับพืชน้ำชนิดอื่น เช่น จอกหูหนู แหนแดง ในน้ำนิ่ง ใส แถวบึง หนองน้ำ พบหากันมากิน มาขายมากในฤดูฝน

เคยมีคนเพาะเลี้ยงในวงบ่อซีเมนต์เพื่อการทดลองศึกษา หรือวิจัยการเพาะเลี้ยงเป็นรายได้เสริม ไม่มั่นใจนัก โดยจัดสภาพดิน น้ำ แสง ให้เหมือนธรรมชาติ ที่เคยพบเห็นในหนอง บึง ก็เจริญเติบโตได้ดี แต่ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ผำ จะอยู่ในลักษณะเม็ดเขียวกลมๆ เล็กๆ เหมือนที่เอามาทำอาหารกินกันนั้น อยู่ไม่นาน แค่วันสองวันก็แก่ ออกดอก ออกราก เม็ดกลมๆ ก็จะคลี่บานเป็นใบ หมายถึงว่า แก่เกินกินแล้ว ซึ่งมีผลการตรวจสอบทางพฤกษศาสตร์ พบว่า เม็ดผำนั้น ไม่มีเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำและอาหารเลี้ยงตัว แต่ประกอบด้วยเซลล์ มีช่องอากาศแทรกอยู่ระหว่างเซลล์ ทำให้เป็นฟองน้ำ ลอยน้ำได้ มีแต่ช่องอากาศอยู่ด้านบน ขยายพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ แบบอาศัยเพศ มีดอกเล็กที่สุดในโลก ที่เจริญผ่านทางช่องอากาศด้านบน ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยง และแบบไม่อาศัยเพศ โดยแตกหน่อทุก 5 วัน

ผำ เป็นพืชอาหารของคนไทยก็จริง แต่ที่พบมากมีกระจายอยู่ทั่วยุโรป แอฟริกากลาง ตอนใต้เกาะมาดากัสการ์ และในเอเชีย ชอบอยู่บริเวณใต้เส้นศูนย์สูตร และแถบตะวันออกเฉียงใต้ มีการเพาะเลี้ยงไว้ศึกษา เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ของพืช เป็นอาหารสัตว์น้ำ อาหารสัตว์ปีกได้ดีทีเดียว ถ้ามีปริมาณมากพอ เคยมีชาวบ้านเอามาต้มปนสาหร่ายน้ำจืด ผักตบชวา ผักโขม หยวกกล้วย ปลายข้าว แล้วคลุกรำละเอียด รำหยาบ เลี้ยงหมูดำ เลี้ยงไก่บ้าน ใช้ได้เลย ประหยัดต้นทุนเยอะมาก

การนำมาทำอาหาร ทำได้หลายอย่าง เป็นเมนูเด็ดที่อยากจะแอบกระซิบให้รู้ คนเหนือเอามาผัดกับหมู หรือกากหมู เรียกว่า “คั่วผำ” สูตรสำเร็จที่ไม่ขาดการคั่วผำคือ ความสะอาด ผำต้องล้าง กรองหลายเที่ยว เอาสิ่งที่ปะปนมาออก และบางทีต้องดมดูด้วย ถ้าเจอที่กลิ่นไม่สะอาด หมายถึงว่าคงเก็บมาจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดดีพอ อย่าเอามากินเลยนะ ทิ้งโคนต้นไม้เป็นปุ๋ยพืชซะ เครื่องปรุงของคั่วผำ พริกสดหรือพริกแห้งหั่นเป็นท่อนๆ ตะไคร้แกง หั่นเป็นท่อน ข่า ซอยบางๆ เป็นแว่นๆ กะปิ หมู หรือกากหมู ผงปรุงรส ผัดผำพร้อมเครื่องให้สุก สังเกตจากสีผำจะคล้ำ เป็นใช้ได้ ชิมแล้วจะติดใจ ยิ่งได้ข้าวเหนียวร้อนๆ ยิ่งสุดยอด

ผำ 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 8 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย (ไฟเบอร์) 0.3 กรัม แคลเซียม 58 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม วิตามินเอ 5346 iu. วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 11 มิลลิกรัม ผำมีแคลเซียม และสารเบต้าแคโรทีนสูงมาก

ข้อพึงระวัง ผำ เป็นพืชน้ำที่ใช้เป็นตัวฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม ผำมีความสามารถดูดและสะสมสารแคดเมียมได้ดีมาก เคยตรวจพบมากถึง 80.05 มิลลิกรัม ในผำหนัก 1 กรัม อันตรายมากทีเดียว แต่ในประเทศไทย ในแหล่งน้ำที่ชาวบ้านเก็บผำมากิน ยังไม่เคยทราบว่ามีแหล่งน้ำที่มีสารแคดเมียมปะปนอยู่สูง ยกเว้นแหล่งน้ำแถบพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง แต่ก็ไม่ใช่แหล่งที่ชาวบ้านเก็บผำมากิน มาขาย สบายใจได้ส่วนหนึ่งแล้ว

……………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564