กระทรวง อว. สวทช. ผนึกกำลัง ‘เพ พา เพลิน’ จ.บุรีรัมย์ วิเคราะห์ทดสอบกัญชา-กัญชง เสริมสร้างขีดความสามารถวิสาหกิจชุมชน

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2564 กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดแถลงข่าว การลงนามการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิเคราะห์ทดสอบกัญชา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถวิสาหกิจชุมชน ระหว่าง วิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน (วพพ.) จ.บุรีรัมย์ กับ ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. หรือ NCTC (NSTDA Characterization and Testing Center) ร่วมลงนาม ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิเคราะห์ทดสอบกัญชา ในการทดสอบหาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ให้ได้มาตรฐานสากล ณ ชั้น 1 Tower-C ฮออล์ อาคาร INC 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

นายณฏฐพล วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช.

นายณฏฐพล วุฒิพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ได้กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เป็นความร่วมมือที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ให้ผ่านการวิเคราะห์ทดสอบที่ได้รับการรับรองมาตราฐานทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลกของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทย ให้สามารถจำหน่ายและควบคุมคุณภาพได้เทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์สากล

อีกทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ช่วยให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสหากิจชุมชน และภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย สามารถเข้าถึงการวิเคราะห์ทดสอบที่มีคุณภาพ ตลอดจนควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ กำหนดราคาสินค้าอย่างชัดเจนและเป็นมาตราฐาน ส่งผลให้ประชาชนในประเทศได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาเหมาะสม ปลอดภัย และได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานในระดับสากล

ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ หรือ NCTC เป็นผู้ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบตามวิธีมาตรฐานสากล ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบด้านกัญชา กัญชง สารสกัดและผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง (Cannabis Analytical Testing Center) หรือ CATC เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า

รวมทั้งสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสินค้ามูลค่าสูงให้กับภาครัฐและเอกชน ดำเนินงานภายใต้ระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ ISO/IEC17025 มาตรฐานสากล ในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบอย่างครบวงจรเกี่ยวกับกัญชา กัญชง สารสกัดและผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง ทั้งในเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณและตรวจสอบความปลอดภัย เช่น การหาปริมาณโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ตัวทำละลายตกค้าง สารพิษจากเชื้อรา เชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อน รวมถึงการหาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ให้ได้ค่ามาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์และกำหนดราคาสินค้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

นางศศิการ ล้อจิโรภาส ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน

ด้าน นางศศิการ ล้อจิโรภาส ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า การลงนามร่วมกันครั้งนี้ เพื่อเป็นศูนย์กลางรับส่งวัตถุดิบกัญชาในการนำไปวิเคราะห์และทดสอบประสิทธิภาพ หาปริมาณกลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) ให้ได้ค่ามาตรฐาน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทกัญชาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลจากเกษตรกร และวิสาหกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยแรกเริ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างรายได้จากการพึ่งพาตนเองและเพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน จากการเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตร เพื่อผลิตสินค้าจากสมุนไพรต่าง ๆ และทำหน้าที่ปลูกกัญชาทางการแพทย์ ด้วยการทำการเกษตรแบบมาตรฐานสูง และใช้โรงเรือนระบบปิด โดยได้รับความร่วมมือที่ดีจากพันธมิตร ทำให้สามารถควบคุมการปลูกกัญชาที่ใช้ในระดับการแพทย์ได้ค่าสารสำคัญคงที่ และนำไปใช้ผลิตเป็นยารักษาทางการแพทย์ได้

Cannacis Indica Leaf ภาพสารสำคัญในกัญชา ถ่ายด้วยเครื่อง 3D digital microsc
ภาพสารสำคัญในใบกัญชา ถ่ายด้วยครื่อง 3D Digital Microsc

“กลไกสำคัญที่ทำให้เราได้รับความเชื่อถือในระดับการแพทย์ที่ผ่านมานั้นคือการตรวจวิเคราะห์ต่าง ๆ ร่วมกับระบบการปลูกที่ดี ตัวอย่างเช่น มีการตรวจสอบตั้งแต่ดินปลูกที่มั่นใจว่าไม่มีการปนเปื้อนสารเคมี หรือสารโลหะหนักที่ต้นกัญชาจะสามารถดูดซับได้ และมีแร่ธาตุที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสายพันธุ์กัญชาที่เราปลูก รวมทั้งการตรวจสอบค่าสาระสำคัญ จากรอบการเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นยาของทางโรงพยาบาล และตรวจสอบว่าไม่มีค่าสารอันตรายเจือปนในกัญชาที่เราเก็บเกี่ยว เพื่อส่งไปใช้ทำยาได้” นางศศิการ กล่าว

ภาพสารสำคัญในกัญชา ถ่ายด้วยครื่อง 3D Digital Microsc

นางศศิการ ได้กล่าวเสริมอีกว่า ในอนาคตจะมีการนำส่วนอื่น ๆ ของกัญชาและกัญชง ไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้จึงจำเป็นต่อวิสาหกิจฯ อย่างมากในการเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจขนาดย่อย อาจประสบปัญหาในการเข้าถึงการตรวจวิเคราะห์เหล่านี้ได้ยาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และมีแล็บในประเทศที่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นวิสาหกิจเพลาเพลินฯ จึงเล็งเห็นว่าการร่วมมือกับทาง ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. ครั้งนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมาก เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้