โรคเหี่ยวกล้วยหิน

กล้วยหิน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดยะลา โดยเป็นพืชประจำถิ่นที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographic Indicator : GI) ในชื่อ กล้วยหินบันนังสตา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 โดยมีพื้นที่ปลูกกระจายทั่วทั้งจังหวัด จำนวน 5,760 ไร่ พบปลูกมากในพื้นที่อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา และอำเภอเบตง ตามลำดับ

ในปี 2558 เกิดปัญหาการระบาดของโรคเหี่ยวในกล้วยหิน ใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเบตง อำเภอธารโต และอำเภอบันนังสตา ต่อมาปี 2561 พบระบาดในทุกอำเภอ ได้แก่ อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง อำเภอกรงปินัง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอเมืองยะลา และอำเภอกาบัง ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ปลูกลดลงเหลือเพียง 2,704 ไร่ สร้างความสูญเสียรายได้ให้กับเกษตรกร มูลค่า 183,360,000 บาท ต่อปี รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจแปรรูปกล้วยหินเป็นกล้วยหินฉาบและกล้วยหินต้ม

ในปี 2559 จังหวัดยะลา มีกลุ่มคลัสเตอร์กล้วยหิน 29 กลุ่ม แปรรูปเป็นกล้วยหินฉาบปริมาณ 20,000 กิโลกรัม ต่อเดือน มูลค่า 4,000,000 บาท ต่อเดือน รวมมูลค่าประมาณ 48 ล้านบาท ต่อปี โดยได้ทำสัญญาซื้อขายกับ Top Supermarket สาขาหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่จากปัญหาการระบาดของโรคเหี่ยวของกล้วยหินทำให้ผลผลิตกล้วยหินไม่เพียงพอ ส่งผลให้จำนวนกลุ่มคลัสเตอร์กล้วยหินยะลา ลดลงเหลือเพียง 6 กลุ่ม มูลค่าแปรรูปลดลง 5 เท่า เหลือเพียง 9.6 ล้านบาท ต่อปี

สำหรับการแปรรูปเป็นกล้วยหินต้ม ผลผลิตกล้วยหินมีไม่เพียงพอ จึงมีการนำผลผลิตกล้วยหินมาจากจังหวัดอื่น ได้แก่ จังหวัดกระบี่ และนครศรีธรรมราช

จากสถานการณ์การระบาดโรคเหี่ยวของกล้วยหินในปี 2559 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ขอให้กรมวิชาการเกษตรตรวจวินิจฉัยสาเหตุโรคพืชและคำแนะนำการควบคุมโรคระบาด เนื่องจากกรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจพื้นที่ปลูกกล้วยหินในอำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา พบการระบาดของโรคพืชกล้วยหิน จึงได้ส่งตัวอย่างกล้วยหินที่พบอาการผิดปกติจำนวน 9 ตัวอย่าง มาที่กรมวิชาการเกษตร เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุโรคพืชและคำแนะนำ

สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชได้ตรวจวินิจฉัยสาเหตุของโรคกล้วยหิน ผลการตรวจตัวอย่างทั้ง 9 ตัวอย่าง พบว่าเกิดจาก แบคทีเรีย Ralstonia syzygii สาเหตุโรค Bacterial solanacearum Disease (BDB) เป็นแบคทีเรียในกลุ่ม Ralstonia solanacearum species complex ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้ไม่เคยปรากฏพบในประเทศไทย จัดเป็นศัตรูพืชกักกันของประเทศไทย

จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่า แบคทีเรียในกลุ่มนี้พบระบาดอย่างหนักในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซียมีการพบการระบาดครั้งแรกในปี 2549 ภายในระยะเวลา 10 ปี พบระบาดทั่วประเทศมาเลเซีย การเข้ามาของโรคเหี่ยวในกล้วยหิน สันนิษฐานว่าระบาดมาจากประเทศมาเลเซียเนื่องจากพบตัวอย่างโรคเหี่ยวในกล้วยหินในพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย

 

การป้องกันกำจัด

กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าไปดำเนินการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหินอย่างเป็นทางการ (official control) โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำคำแนะนำในการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของกล้วยหินโดยการกำจัดต้นที่เป็นโรคออกจากแปลง การจัดการดินและการใช้ชีวภัณฑ์บาทิลิส BS-DOA 24 ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นมาเพื่อควบคุมโรคเหี่ยวที่เกิดจากแบคทีเรีย

ได้ถ่ายทอดวิธีการป้องกันกำจัดให้กับหน่วยงานของกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดยะลา และศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา นำไปปฏิบัติในพื้นที่ระบาดเพื่อกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหิน โดยได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 ต่อเนื่องถึงปี 2560 ในแปลงการเกษตร ตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา จำนวน 2 ราย ผลการดำเนินการสามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผผลิตได้

กรมวิชาการเกษตรโดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับโรคเหี่ยวของโรคกล้วยหิน โดยวิจัยและพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยวของกล้วยหิน เพื่อสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยตัวอย่างกล้วยหิน ทั้งในห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิคทางชีวโมเลกุล และในสภาพแปลงด้วยชุดทดสอบทางเซรุ่มวิทยา (GLIFT kit) ให้แก่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร

มีการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของกล้วยหิน ดังนี้

ถ่ายทอดเรื่องการสำรวจและเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของกล้วยหินให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอและระดับจังหวัดจำนวน 4 ครั้ง 200 ราย

การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีแก่เกษตรกรเรื่องแนวทางการกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหินในจังหวัดยะลาโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา กรมวิชาการเกษตรร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา กรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 5 ครั้ง เกษตรกรรวม 534 ราย

การถ่ายทอดการผลิตและการใช้ชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทิลิส BS-DOA 24 ควบคุมโรคเหี่ยวกล้วยหิน ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา และศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา กรมวิชาการเกษตร จำนวน 6 ครั้ง เกษตรกรทั้งสิ้น 200 ราย เป็นเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหินในเขตอำเภอเมือง อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา อำเภอรามัน อำเภอกรงปินัง และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ยังได้ร่วมกับสำนักงานการเกษตรจังหวัดยะลา เข้าไปจัดทำแปลงเรียนรู้ในการจัดการโรคเหี่ยวของกล้วยในแปลงการเกษตร ที่อำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปินัง และอำเภอยะหา จำนวน 8 แปลง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ รวมทั้งจัดทำต้นแบบการจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหินจำนวน 2 แปลง ในศูนย์วิจัยและพัฒนาจังหวัดยะลา กรมวิชาการเกษตร และศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

กรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา และศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ทำการผลิตขยายชีวภัณฑ์บาซิลัส ซับทิลิส BS-DOA24 จำนวน 120 กิโลกรัม เพื่อสนับสนุนให้แก่เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนคลัสเตอร์กล้วยหินยะลา สำหรับใช้ในการป้องกันกำจัด โรคเหี่ยวในกล้วยหิน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561

จังหวัดยะลา โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาได้จัดทำแผ่นพับคำแนะนำในการป้องกันโรคเหี่ยวกล้วยหิน โดยอ้างอิงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ใช้เป็นสื่อในการสร้างการรับรู้แก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร โดยแจกจ่ายผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอ ทุกอำเภอ

วิธีการกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยหิน

ทำลายกอกล้วยหินที่เป็นโรค โดยการใช้สารกำจัดวัชพืช ไตรโคลเพอร์ บิวทอกซีเอทิล เอสเตอร์ 66.8% อีซี

วิธีเตรียมอุปกรณ์ โดยใช้ไม้เสียบลูกชิ้นขนาดความยาวประมาณ 8 นิ้ว แช่ในกระป๋องที่ใส่สารกำจัดวัชพืช สารไตรโคลเพอร์ บิวทอกซีเอทิล เอสเตอร์ เข้มข้นสูงประมาณ 4-5 นิ้ว แช่ทิ้งไว้ข้ามคืน

วิธีใช้ นำไม้เสียบลูกชิ้นที่แช่ สารไตรโคลเพอร์ บิวทอกซีเอทิล เอสเตอร์ไว้แล้ว เสียบที่บริเวณโคนต้นกล้วยที่เป็นโรคเหี่ยวกล้วยหิน เข้าไปลึกประมาณ 5 นิ้ว โดยให้เสียบที่ต้นกล้วยใหญ่ในกอ ประมาณ 2-3 ต้น ต้นกล้วยจะตายภายในประมาณ 20-30 วัน ขึ้นกับขนาดของต้นกล้วยและห้ามเคลื่อนย้ายต้นกล้วยที่เป็นโรคออกนอกบริเวณ

จากนั้น โรยปูนขาวประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อกอ ตรงบริเวณโคนและรอบรากต้นกล้วยที่เป็นโรค ทำให้บริเวณโดยรอบรากและโคนต้นกล้วยมีความเป็นด่างเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในดิน

ต้นกล้วยที่เป็นโรคหากมีปลีหรือเครือกล้วย ให้ใช้ถุงพลาสติกคลุมเพื่อป้องกันแมลงที่จะมาสัมผัสเชื้อและยับยั้งการแพร่กระจายโรคไปสู่ต้นอื่น

หลังจากใช้สารกำจัดวัชพืชและต้นกล้วยตาย เพื่อให้ย่อยสลายได้เร็วยิ่งขึ้น ให้สับต้นกล้วยที่ตายเป็นท่อน ใช้จุลินทรีย์ พด.1 ที่ผสมน้ำตามอัตราแนะนำ รดลงบนต้นกล้วยที่สับไว้ ทิ้งให้ย่อยสลายเป็นเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ ห้ามนำต้นกล้วยที่ย่อยสลายแล้วไปเป็นปุ๋ย

ทำการฆ่าเชื้อแบคทีเรียในดินอีกครั้ง โดยสับกอกล้วยที่ย่อยสลายแล้วกับดินบริเวณรอบกอกล้วย ใช้ยูเรียอัตรา 0.5 กิโลกรัม ผสมกับปูนขาว 5 กิโลกรัม ต่อกอ โรยส่วนผสมทั่วกอกล้วย กลบดินบริเวณกอกล้วยให้แน่น รดด้วยน้ำให้ชุ่ม ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ เพื่อให้ยูเรียและปูนขาวเมื่อได้ความชื้นแตกตัวเป็นแก๊สพิษฆ่าแบคทีเรีย เมื่อครบกำหนดใช้จอบสับดินให้แก๊สพิษที่อยู่ในดินฟุ้งออกมา ทำการปลูกพืชได้ตามปกติ

ทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น มีดตัดผลกล้วย จอบ เสียม รองเท้า เป็นต้น โดยใช้น้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์อัตรา 250 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 3 ลิตร หรือปูนคลอรีน 100 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ใส่ในขวดสเปรย์ฉีดล้างอุปกรณ์ทางการเกษตร

ห้ามเกษตรกรเดินจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นที่ไม่เป็นโรค หากต้องเดินไปที่ต้นเป็นโรคควรเปลี่ยนรองเท้าเนื่องจากดินที่มีเชื้อแบคทีเรียอาจติดไปกับรองเท้าไปยังต้นที่ไม่เป็นโรคทำให้เกิดการระบาด และต้องทำความสะอาดรองเท้าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากดินที่ติดรองเท้า