อ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี

อ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ได้รับการรับรองเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการวิจัยโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการสุพรรณบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5 กรมวิชาการเกษตร

อ้อย เป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญพืชหนึ่งของประเทศไทย สามารถใช้ผลิตน้ำตาลและเอทานอลได้ พื้นที่ปลูกอ้อยทั้งประเทศมีประมาณ 9.5 ล้านไร่ เกษตรกรสามารถผลิตอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลได้มากกว่า 100 ล้านตัน (เฉลี่ย 10.54 ตัน/ไร่) มีความหวานเฉลี่ย 11.64 ซีซีเอส สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้ 100.28 กิโลกรัม ภาคกลาง 30% ภาคตะวันออก 5% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40%
โดยเฉลี่ยในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ยังมีผลผลิตอ้อย น้ำตาลอ้อย และน้ำตาล อยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากขาดการจัดการที่ดีในไร่อ้อย และขาดพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น พันธุ์อ้อยแต่ละพันธุ์เกษตรกรสามารถใช้ปลูกได้ ประมาณ 6-10 ปี เพราะโรคและแมลงศัตรูอ้อยมีมาก งานวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมกับแหล่งปลูกในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

พันธุ์อ้อยที่เกษตรกรใช้ปลูกกันในปัจจุบันมีเพียงไม่กี่พันธุ์ แต่ละพันธุ์ไม่มีความเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ปลูก เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งสภาพดิน สภาพอากาศ หรือแหล่งน้ำ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2537 จนได้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกอ้อยของแต่ละภูมิภาค

อ้อยพันธุ์อู่ทอง 15
อ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตน้ำฝน ซึ่งหากพิจารณาจากสภาพแหล่งน้ำที่ใช้ในการปลูกอ้อย สามารถแบ่งออกเป็น 3 สภาพ คือ
1. การปลูกอ้อยโดยใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว
2. การปลูกอ้อยโดยมีการใช้น้ำบนดินและใต้ดินเสริม
3. การปลูกอ้อยในเขตชลประทาน ซึ่งปลูกอ้อยที่ใช้ปลูกในสภาพพื้นที่แตกต่างกัน ย่อมต้องเป็นพันธุ์ที่แตกต่างกันด้วย

พื้นที่ปลูกอ้อยของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝน 80% โดยสภาพทั่วไปของอ้อยที่ปลูกในเขตอาศัยน้ำฝน ต้นอ้อยจะเตี้ย มีการพัฒนาอ้อยให้เป็นลำเก็บเกี่ยวต่ำ ไม่สามารถไว้ตอได้

จากการดำเนินการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่ผ่านมาของสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี ได้แนะนำพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรปลูกในพื้นที่เขตใช้น้ำฝนหลายพันธุ์ เช่น ขอนแก่น 1 ขอนแก่น 80 อู่ทอง 13 แต่ละพันธุ์ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของอ้อยในแต่ละแหล่งยังไม่คงที่และต่ำอยู่

การปลูกอ้อยในสภาพใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว จะต้องเป็นพันธฺุ์อ้อยที่มีการย่างปล้องและยืดปล้องเร็ว เพื่อให้มีจำนวนลำอ้อยที่เก็บเกี่ยวได้และไว้ตอได้

อ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 (94-2-254) เป็นลูกผสมตัวเอง ของพันธุ์อู่ทอง 2 เมื่อปี 2537 จากนั้นดำเนินการคัดเลือกปลูกเปรียบเทียบทดสอบพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้อ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ในปี 2557

ลักษณะเด่น มีความหวาน ให้ผลผลิตสูง ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 16.97 ตัน/ไร่ ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.47 ตัน ซีซีเอส/ไร่ แต่หากปลูกในฤดูปลายฝนเขตน้ำฝน จะได้ผลผลิตสูงกว่าประมาณ 1 ตัน/ไร่ โดยจะได้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 17.91 ตัน/ไร่ แต่ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีน้ำขัง และระวังโรคเหี่ยวเน่าแดงระบาด เหมาะสำหรับพื้นที่ดอน ระบายน้ำได้ดี ในดินร่วนและดินร่วนปนทราย นิยมปลูกมากในเขตอาศัยน้ำฝน เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ มีลักษณะทางเกษตรที่สำคัญคือ
• ทรงกอ : ตั้งตรง
• จำนวนลำต่อกอ : 5 – 6 ลำ ขนาดลำปานกลาง
• อายุเก็บเกี่ยว 11 – 12 เดือน
• ลักษณะอื่น : ลอกกาบยาก (กาบติด) ไม่ออกดอก หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่น้ำท่วมขัง
• โรคและแมลง : อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง พบการเข้าทำลายของหนอนกอค่อนข้างสูง

พื้นที่แนะนำ ควรปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ในดินร่วนปนทราย จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี หรือในฤดูปลายฝนเขตน้ำฝน จังหวัดบุรีรัมย์ ของแก่น นครราชสีมา ชลบุรี หรือในฤดูต้นฝนเขตน้ำฝน จังหวัดลพบุรี กาญจนบุรี

การปรับปรุงพันธุ์พืชของกรมวิชาการเกษตร นักวิจัยยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพืชหลายชนิดจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลานานในการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้เหมาะสมตรงตามความต้องการของเกษตรกร การใช้พันธุ์พืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูก เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากช่วยเพิ่มผลผลิต และลดโอกาสในการสูญเสียผลผลิตจากการเจริญเติบโตด้วยปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวย

ที่มาของงานวิจัย : อ้อยแต่ละพันธุ์ เกษตรกรสามารถใช้ทำพันธุ์ได้ประมาณ 6-10 ปี เนื่องจากการสะสมโรคและแมลงศัตรูอ้อย ดังนั้นงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมในแต่ละแหล่งปลูก จึงมีความจำเป็นต้องวิจัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์อ้อยอู่ทอง 15 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตอ้อยและน้ำตาลสูงกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ K84-200 หรืออู่ทอง 3 หรือ LK92-11 ร้อยละ 5 โดยมีความหวานไม่ต่ำกว่า 12 ซีซีเอส ซึ่งอ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 สามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในเขตอาศัยน้ำฝน ในดินร่วนปนทราย เพื่อไปทดแทนอ้อยพันธุ์เก่าในพื้นที่ปลูกอ้อยในเขตน้ำฝน ซึ่งเริ่มแสดงศักยภาพของพันธุ์อ้อยถดถอยลง และสามารถตอบโจทย์ของเกษตรกรได้

การนำไปใช้ประโยชน์
1. ในดินร่วนปนทราย อ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 16.97 ตัน ต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K84-200 (15.08 ตัน ต่อไร่) ร้อยละ 13 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (15.55 ตัน ต่อไร่) ร้อยละ 9 โดยให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.47 ตันซีซีเอส ต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ K84-200 (2.22 ตันซีซีเอส ต่อไร่) ร้อยละ 11 และสูงกว่าพันธุ์อู่ทอง 3 (2.36 ตันซีซีเอส ต่อไร่) ร้อยละ 5 เป็นพันธุ์ที่ไม่ออกดอกและต้านทานต่อโรคแส้ดำระดับปานกลาง
2. ในฤดูปลายฝนเขตน้ำฝน อ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ให้ผลผลิตน้ำหนักเฉลี่ย 17.38 ตัน ต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 (14.53 ตัน ต่อไร่) ร้อยละ 23 และให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.37 ตันซีซีเอส ต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 (2.12 ตันซีซีเอส ต่อไร่) ร้อยละ 12 ฤดูปลายฝนเขตน้ำฝน เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดชลบุรี ฤดูต้นฝนเขตน้ำฝนเหมาะกับพื้นที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี

ปัจจุบัน อ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ปลูกมากในดินร่วนปนทราย มีพื้นที่ปลูกในจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ มีพื้นที่ปลูกประมาณ 60,000 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 16.97 ตัน ต่อไร่ สามารถสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เป็นเงิน 845.1 ล้านบาท ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับการปลูกพันธุ์ LK92-11 ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 14.53 ตัน ต่อไร่ คิดเป็นเงิน 723.6 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเงิน 121.5 ล้านบาท

สนใจอยากทดลองปลูกอ้อยพันธุ์อู่ทอง 15 ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 0-3555-1543, 0-3555-1433, 0-3556-4863 ในเวลาราชการ