ค้า “ทุเรียนอ่อน” วังวนผลประโยชน์ ปัญหาระดับชาติที่แก้ไม่ตก

ถึงหน้าทุเรียนออกเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นต้องกุมขมับเมื่อนั้น เนื่องจากปัญหาการค้าทุเรียนอ่อนช่วงต้นฤดู วังวนผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก

เนื่องจากการค้าทุเรียนอ่อนในช่วงต้นฤดูกาลมักจะได้ราคาดี ขณะที่เกษตรกรก็ไม่ต้องเสี่ยงภัยธรรมชาติ สอดคล้องกับพ่อค้าที่คอยรวบรวมทุเรียนต้องการจำนวนมาก เพื่อส่งให้ล้งซึ่งส่วนใหญ่เป็นล้งจีนอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีราว 116 แห่ง โดยวิธีการซื้อขาย คือ ล้งจีนต้องอาศัยพ่อค้าคนไทยเป็นผู้รวบรวมผลผลิตให้ได้ตามปริมาณ และเวลาที่กำหนด ซึ่งพ่อค้ามักจะซื้อเหมาสวนจากชาวสวนโดยการทำสัญญาล่วงหน้าไว้ทั้งแบบปากเปล่า และหนังสือสัญญาของผู้ซื้อ พร้อมวางมัดจำ 15-20% เมื่อถึงกำหนดเวลาตัดทุเรียน พ่อค้าจะมาพร้อมกับมือมีดเพื่อมาตัดทุเรียนเอง โดยช่วงต้นฤดูที่ทุเรียนมีราคาแพง จะมีการแข่งขันกันสูง พ่อค้าแย่งกันซื้อ การเร่งตัดจึงมีโอกาสที่ทุเรียนอ่อนจะปนเข้าไปด้วย

หนุนสหกรณ์ทำทุเรียนคุณภาพ

นายวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์
นายกสมาคมชาวสวนผลไม้ จังหวัดตราด ประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จังหวัดตราด จำกัด และประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่าทุกวันนี้พบทุเรียนอ่อนในตลาดเมืองจีนแล้ว ปัญหาจากพ่อค้าและล้งที่ตัดทุเรียนอ่อนไปขาย ทำให้ช่วงหนึ่งตลาดจีนปฏิเสธการรับซื้อ หันไปซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านเวียดนาม มาเลเซียแทน ส่งผลให้เกษตรกรที่ทำทุเรียนคุณภาพสูญเสียโอกาสในการขายทุเรียน มองว่าชาวสวนต้องควบคุมคุณภาพ ไม่ยอมให้ล้ง หรือพ่อค้าผู้รวบรวมมาตัดทุเรียนอ่อนออกไปขาย ซึ่งจากนี้หอการค้าจังหวัดตราดมีโครงการที่จะสนับสนุนสหกรณ์ให้เข้ามารับซื้อทุเรียนคุณภาพ แทนที่จะให้ตลาดเป็นของล้งจีนฝ่ายเดียว

“ถึงเวลาแล้วที่จังหวัดตราดต้องรวมตัวกันซื้อ-ขายด้วยระบบสหกรณ์ต้องสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือและเป็นผู้ซื้อ ผู้ขายเองเพื่อต่อรองกับล้ง พ่อค้าเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นตลาดทุเรียนคุณภาพจะถูกพ่อค้าทำลาย เพราะการแข่งขันกันซื้อของพ่อค้าที่รวบรวมไปส่งล้ง ชาวสวนบางรายได้เงินจำนวนมากดีใจ แต่สุดท้ายจีนจะไม่ซื้อทุเรียน หรือซื้อราคาต่ำ ผลกระทบจะย้อนกลับมาทำลายอาชีพตัวเอง”

เกษตรกรขอลดค่าเปอร์เซ็นต์แป้ง

ด้าน “ภานุวัฒน์ ไหมแก้ว” นายกสมาคมผู้ประกอบการค้าทุเรียน มังคุด จ.จันทบุรี ตัวแทนผู้รวบรวมทุเรียนที่ถูกอายัดทุเรียน กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์แป้งในเนื้อทุเรียน โดยพันธุ์กระดุม 27% พันธุ์ชะนี 30% พันธุ์พวงมณี 30% และพันธุ์หมอนทอง 32% แต่ปัญหาขณะนี้ตนมี 2 ประเด็น เรื่องแรก คือ ทุเรียนหมอนทองที่ตัดส่วนใหญ่เป็นหมอนทองแก่ 70-80% แต่เมื่อตรวจวัดค่ามาตรฐานได้เพียง 27-28% เท่านั้น เรื่องนี้เป็นเพราะสภาพฝนตก ทำให้ต้นแตกใบอ่อนทำให้เนื้อทุเรียนได้อาหารไม่เต็มที่ แต่ยืนยันว่าจำนวนวันที่ตัดตามกำหนด ดูจากเนื้อทุเรียนสีเหลือง ซึ่งมีตลาดรับซื้อแน่นอน ประเด็นที่สอง ทุเรียนหมอนทองที่ต้องตัดส่งตลาดต่างประเทศมองว่าต้องปรับเปลี่ยนให้ต่ำลง เหลือ 28% เนื่องจากเงื่อนไขระยะเวลาขนส่งหลายวัน เมื่อถึงตลาดจีน ทุเรียนก็จะสุก และแตก ทำให้ถูกกดราคา

ขณะที่ “ชาตรี แดงตะนุ” เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนหมอนทองขนาด 18 ไร่บ้านอ่าวช่อ ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด จ.ตราด หนึ่งในเจ้าของสวนทุเรียนที่มีการตัดทุเรียนอ่อน กล่าวว่า ทุเรียนในสวนของญาติได้ทำสัญญาขายเหมาล่วงหน้าให้พ่อค้าผู้รวบรวม 3 รุ่น สำหรับรุ่นที่ 2 ตัดได้จำนวน 4 ตัน ขายเหมากิโลกรัมละ105 บาท โดยแต่ละรุ่นจะมีเชือกสีโยงเป็นเครื่องหมาย ซึ่งที่ตัดมาเป็นทุเรียนแก่เนื้อสีเหลือง ครบกำหนดตัด 90-95 วัน เร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ ที่ใช้เวลาประมาณ 110-120 วัน เนื่องจากทุเรียนแถบ ต.อ่าวใหญ่ต.อ่าวช่อ อ.เมืองตราด สุกเร็วกว่าพื้นที่อื่นโดยไม่ได้ใช้สารเร่งแต่อย่างใด ด้วยสภาพพื้นที่ดินเป็นดินปนทราย มีทะเลโอบล้อม 3 ด้าน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งได้ 28% เพราะเกิดจากสภาพอากาศที่มีฝนตก ทุเรียนแตกใบอ่อน เรื่องนี้เกษตรกร ต.อ่าวใหญ่ 40 คน ได้เสนอให้ อบต.อ่าวใหญ่ ขอให้จังหวัดประสานหน่วยงานปรับลดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแป้งหมอนทองลงมา 28%

เพิ่มโทษ-ปรับงานวิจัย

ขณะที่ปัจจุบันมีความพยายามจากหลายหน่วยงาน ที่ร่วมด้วยช่วยกันหาทางแก้ปัญหาการขายทุเรียนอ่อน ทั้งส่วนของฝ่ายกฎหมาย มีการเพิ่มบทลงโทษประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แก้เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 มาตรา 47 โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“วันชัย เจริญใจ” เกษตรอำเภอเขาสมิง กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจสอบทุเรียนอ่อนจะใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากแถวที่ 3 ลูกที่ 3 ของรถบรรทุกทั้งหมด นำไปตรวจวัดมาตรฐานเปอร์เซ็นต์แป้งแต่ละพันธุ์ ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดให้ พันธุ์หมอนทอง 32% กระดุมทอง 27% และชะนีกับพวงมณี 30% ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั้ง 3 จังหวัดภาคตะวันออก ตราด จันทบุรี ระยอง โดยจะนำไปตรวจ หากพบว่ามีทุเรียนอ่อนเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำกว่ามาตรฐานปะปน จะไม่อนุญาตให้ส่งไปจำหน่ายที่ตลาด โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการอายัดทุเรียนไว้ เพื่อรอการคัดแยกทุเรียนอ่อน-แก่อีกครั้ง

สำหรับมาตรฐานการวัดเปอร์เซ็นต์แป้งนั้น “ดร.พีรพงษ์ แสงวนางค์กูล”อาจารย์ศูนย์เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ ศ.ดร.จริงแท้ ศิริพานิช ทำวิจัยกำหนดเปอร์เซ็นต์แป้งหมอนทองที่ 32% และใช้เป็นมาตรฐานตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเกณฑ์คือ สิ่งที่บอกว่าทุเรียนแก่ ถ้าลดเปอร์เซ็นต์แป้ง ปัญหาคือทุเรียนด้อยคุณภาพจะติดมามากขึ้น ขณะที่ล้งที่รับซื้อส่งตลาดจีนต้องคัดทุเรียนคุณภาพ หากไม่ได้คุณภาพ ทุเรียนจะถูกเวียนขายให้พ่อค้าเพื่อนำไปขายปลีกตลาดภายใน และอาจเป็นโอกาสให้กับทุเรียนเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่สามารถเก็บทุเรียนแก่ส่งเข้าจีนทางบกระยะทางใกล้กว่าไทยอีกทั้งมาเลเซียที่ส่งทุเรียนแช่แข็งเข้าไปขายราคาดีกว่า

“ดังนั้นการที่ล้งหรือเกษตรกร ร้องขอให้ปรับลดเปอร์เซ็นต์แป้ง ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งงานวิจัยใหม่ โดยต้องปรับเกณฑ์มาตรฐานหลายอย่าง อาทิ สภาพอากาศฝนตกมีผลต่อน้ำหนักเปอร์เซ็นต์แป้งจริงหรือไม่ ซึ่งต้องหาทิศทางร่วมกันต่อไป”

ที่มา ประชาชาติธุรกิจอนไลน์