เมื่อไร ควรจะให้น้ำแก่ต้นมะม่วง

เมื่อฝนไม่ตก หรือเว้นระยะการให้น้ำไปนานๆ น้ำที่เก็บอยู่ในดินจะถูกรากมะม่วงดูดเอาไปใช้ รวมทั้งน้ำในดินส่วนหนึ่งได้ระเหยออกไปจากพื้นดินโดยตรง จึงทำให้ความชื้นในดินเหลือน้อย มะม่วงไม่สามารถดูดเอาไปใช้ได้เพียงพอ ทำให้มะม่วงเฉาและอาจถึงตายได้ ฉะนั้น หลังจากที่ให้น้ำแก่มะม่วงเต็มที่แล้ว อาจจะเป็น 3 วัน หรือ 10 วัน แล้วแต่ชนิดของดิน และการใช้น้ำของมะม่วงก็มีความจำเป็นต้องให้น้ำครั้งต่อไป นอกจากช่วงพักตัวของมะม่วง ต้องพยายามให้ความชื้นเหลือน้อย แต่อย่าให้ถึงกับเหี่ยวเฉา

ช่วงระยะเวลาที่มะม่วงต้องการน้ำมากที่สุด มีอยู่ 2 ช่วง ด้วยกันคือ ในช่วงของฤดูที่มีการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบ ซึ่งส่วนใหญ่ในช่วงนี้จะอยู่ตรงกับช่วงของฤดูฝนโดยตลอด ฉะนั้น การให้น้ำอาจไม่มีความจำเป็น เพราะมีน้ำฝนจากธรรมชาติช่วยอยู่แล้ว สำหรับอีกช่วงหนึ่งคือ ช่วงระยะที่มะม่วงกำลังมีการติดผลอ่อนและตลอดช่วงของฤดูการเจริญเติบโตของผลโดยตลอด และสำหรับในช่วงก่อนออกดอกนั้น มะม่วงต้องการน้ำน้อยมาก หรือไม่ต้องการเลย เพราะต้องการช่วงแล้งเพื่อสะสมอาหารให้สูงถึงระดับที่สามารถสร้างตาดอกได้ หากช่วงเวลาดังกล่าวมะม่วงได้รับน้ำหรือน้ำฝนที่มีมากไปสักหน่อย น้ำจะละลายไนโตรเจนออกมาได้มากกว่าปุ๋ยตัวอื่นๆ จะมีผลทำให้ส่วนที่เจริญขึ้นมาเป็นยอดอ่อนแทนที่จะเป็นตาดอก ฉะนั้น จะให้น้ำไม่ได้เป็นอันขาดในช่วงนี้ ส่วนในช่วงที่ผลกำลังเจริญเติบโตนั้น มะม่วงต้องการน้ำในปริมาณที่ค่อนข้างสูง นอกเหนือจากนี้ความสม่ำเสมอของการให้น้ำก็เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน ไม่ควรปล่อยให้มะม่วงที่ติดผลแล้วอยู่ในสภาพที่ขาดน้ำเป็นระยะเวลานานๆ

ข้อมูลที่จะนำมาพิจารณาว่า ควรให้น้ำแก่มะม่วงมื่อไร ได้แก่ ความสามารถในการเก็บน้ำของดินที่จะมีประโยชน์ต่อมะม่วง และอัตราการใช้น้ำของมะม่วง มะม่วงที่มีใบมากจะมีอัตราการใช้น้ำมากกว่าที่มีใบน้อย มะม่วงถ้ารากยังตื้นจำเป็นต้องให้น้ำครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง และดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ดินเหนียวเก็บความชื้นไว้ได้มากกว่าดินทราย

ดังนั้น การให้น้ำในดินเหนียวจึงอาจเว้นระยะไปได้นานกว่าดินทราย อย่างไรก็เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าถึงเวลาที่ควรให้น้ำแก่พืชแล้วหรือยัง สมควรตรวจสอบความชื้นในดินเสียก่อนและระหว่างการให้น้ำก็ควรจะตรวจสอบความชื้นในดินพร้อมกันไปด้วย เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าดินได้รับน้ำบรรจุเข้าไปเต็มบริเวณรากมะม่วงทั้งในส่วนกว้างและส่วนลึกแล้วหรือยัง ถ้าน้ำซึมลงไปเลย เขตรากมะม่วงจะเป็นการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ การให้น้ำแก่มะม่วงน้อยเกินไป มะม่วงก็ได้รับน้ำไม่พอใช้ จำเป็นต้องให้บ่อยเสียเวลาโดยใช่เหตุ การให้น้ำมากเกินไป ดินจะแฉะจนขาดอากาศ และสูญเสียน้ำโดยไม่เกิดประโยชน์ กลายเป็นน้ำที่ไหลหนีทิ้งไปทางผิวดินส่วนหนึ่ง ซึ่งจะชะล้างปุ๋ยและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์แก่มะม่วงไปเสียด้วย ยิ่งกว่านั้นน้ำที่ซึมเลยเขตรากมะม่วงอาจจะทำให้ระดับน้ำในดินสูงขึ้น จนบางครั้งท่วมรากมะม่วง เกลือที่ละลายอยู่ในน้ำใต้ดิน ก็มีโอกาสถูกน้ำใต้ดินพาขึ้นเอามาไว้ที่หน้าดิน สะสมกันมากๆ เข้า ก็ทำให้เกิดดินเค็มและดินด่าง

วิธีตรวจสอบความชื้นในดินอย่างง่าย

โดยทั่วไปเราจะสังเกตได้ว่า เมื่อให้น้ำลงไปในดินนานๆ ดิยจะเหลวเละ ฉะนั้น ในการให้น้ำ ถ้าอยากจะรู้ว่าให้น้ำนานเท่าไร จึงจะพอดี วิธีการหนึ่งที่ฏิบัติกันก็คือ แทงดินดูว่าเปียกลึกลงไปแค่ไหน วิธีง่ายๆ ก็คือใช้พลั่วแทงไปในดินที่เปียก หรือถ้าจะให้ดีก็ใช้เป็นท่อนเหล็กขนาดครึ่งนิ้ว มีด้ามถือ ซึ่งใช้แทงลงไปในดินได้ง่ายและถอนขึ้นได้ง่าย ก็สามารถรู้ได้ว่าน้ำซึมลงไปลึกแค่ไหน ถ้าสุดระยะรากมะม่วงแล้วก็หยุดให้น้ำได้

นอกจากการตรวจสอบความชื้นแล้ว การกำหนดความถี่ห่างของการให้น้ำแก่มะม่วงยังสามารถใช้วิธีการคำนวณได้ โดยอาศัยข้อมูลความสามารถในการเก็บน้ำมะม่วงนำไปใช้ได้สะดวกในดิน อัตราการใช้น้ำสูงสุดของมะม่วงเป็นตัวกำหนด เพื่อความเข้าใจดูตัวอย่างการหาความถี่ห่างของการให้น้ำ

ความถี่ในการให้น้ำ

ตัวอย่างที่ 3 สมมุติปลูกมะม่วงในดินร่วนปนทราย มะม่วงมีรากลึก 50 เซนติเมตร วัดการใช้น้ำของมะม่วงได้ วันละ 6 มิลลิเมตร อยากทราบว่าถ้าให้น้ำแก่ดินเต็มที่และมะม่วงจะใช้ได้อีกกี่วัน จึงจะต้องให้น้ำใหม่

วิธีคำนวณ

จากตารางที่ 1 ดินที่ปลูกเป็นดินร่วนปนทราย มีความสามารถเก็บน้ำให้มะม่วงนำไปใช้สะดวกโดยเฉลี่ย 0.7 มิลลิเมตร/เซนติเมตร

ความลึกของดิน 50 เซนติเมตร

เพราะฉะนั้น ดินจะเก็บน้ำให้มะม่วงใช้ได้สะดวก 0.750 = 35 มิลลิเมตร

 

ความถี่ในการให้น้ำ

= ความสามารถเก็บน้ำให้มะม่วงใช้ได้สะดวก (มิลลิเมตร)

อัตราการใช้น้ำของมะม่วง (มิลลิเมตร/วัน)

เพราะฉะนั้น จะใช้น้ำได้นาน = 6 วัน

นั่นคือ ต้องให้น้ำอย่างน้อยทุก 6 วัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การให้น้ำแต่ละครั้งไม่สามารถที่จะให้น้ำเป็นประโยชน์ต่อมะม่วงทั้งหมดได้ เพราะมีบางส่วนสูญเสียโดยการรั่วซึม การระเหย และการไหลเสียไปทางผิวดิน ยิ่งมีการสูญเสียมาก ก็เรียกว่ามีประสิทธิภาพการให้น้ำต่ำ ดังนั้น ในการให้น้ำแต่ละครั้งจำเป็นต้องให้ในปริมาณมากกว่าที่มะม่วงต้องการจริงๆ คือ ต้องเผื่อการสูญเสียน้ำด้วย ซึ่งการสูญเสียน้ำนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการให้น้ำและการจัดการเป็นสำคัญ

 

ควรให้น้ำแก่มะม่วงด้วยวิธีไหน

การจะเลือกวิธีการให้น้ำหรือการจัดระบบการให้น้ำแก่มะม่วงนี้ หมายถึง การนำน้ำจากแหล่งน้ำแจกจ่ายน้ำไปให้แก่แปลงมะม่วง ซึ่งอาจจะกระทำได้หลายวิธี การที่จะเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งนั้น จะต้องพิจารณาจากลักษณะภูมิประเทศ คุณสมบัติของดิน ลักษณะของพื้นที่ที่เตรียมไว้ วิธีการเพาะปลูก เงินค่าลงทุน ตลอดจนจำนวนน้ำที่จะหามาได้ในหลายพื้นที่ของตน วิธีการให้น้ำแก่มะม่วง สามารถทำได้ทั้ง 4 แบบใหญ่ๆ คือ

1.การให้น้ำทางใต้ผิวดิน (แบบร่องสวน)

2.การให้น้ำทางผิวดิน

3.การให้น้ำแบบฉีดฝอย  และ

4.การให้น้ำแบบหยด

การให้น้ำทั้ง 4 แบบใหญ่ๆ ดังกล่าวนี้ แยกย่อยได้อีกหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น วิธีการให้น้ำตรงผิวดิน ต้องพิถีพิถันในการปรับระดับพื้นที่มาก ต้องใช้น้ำและแรงงานมาก ส่วนวิธีการให้น้ำฉีดแบบฝอยและแบบหยดจะใช้น้ำและแรงงานน้อย แต่ต้องลงทุนครั้งแรกสูง ในบางท้องที่ก็อาจให้น้ำด้วยแบบต่างๆ ได้หลายแบบ และในบางที่อาจใช้ได้เพียงแบบเดียว หรือในบางท้องที่ชาวสวนก็คุ้นเคยกับการให้น้ำแบบหนึ่ง และปฏิบัติติดต่อเรื่อยๆ มา แม้ว่าจะมีวิธีอื่นที่เหมาะสมกว่า ซึ่งบางครั้งระบบที่ใช้อยู่นั้นไม่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และพืชที่ปลูกแซม หรือเป็นวิธีการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพต่ำมากก็ตาม การที่จะเลือกใช้ระบบใดนั้นควรจะต้องพิจารณาถึงค่าลงทุน ความสะดวกในการใช้งาน การบำรุงรักษา แรงงาน ความชำนาญ ที่ต้องใช้ในการดำเนินงานและความเหมาะสมกับกิจการในสวนที่ทำอยู่ เพื่อให้การใช้น้ำนั้นมีประสิทธิภาพดี

พื้นที่สำหรับทำสวนมะม่วงส่วนใหญ่จะอยู่ในที่ดอน และโดยมากจะอยู่นอกเขตโครงการชลประทาน ชาวสวนอาจจะต้องลงทุนจัดหาน้ำมาด้วยตนเอง ในบางครั้งการลงทุนดังกล่าวอาจจะไม่คุ้มกับผลประโยชน์ที่จะได้รับ ฉะนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนจัดหาน้ำมาเพื่อการชลประทาน ควรจะต้องพิจารณาทำก็ต่อเมื่อผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้น คุ้มกับค่าลงทุนเท่านั้น ถ้าหากไม่คุ้มก็ไม่ควรมีการชลประทาน สำหรับวิธีการให้น้ำแก่มะม่วง มีดังนี้

1.การให้น้ำทางใต้ผิวดิน

เป็นการให้น้ำแก่มะม่วง โดยการยกระดับน้ำใต้ดินให้ขึ้นมาอยู่ในระดับที่น้ำจะไหลซึมขึ้นมาสู่ระดับเขตรากได้ ความลึกของระดับน้ำใต้ดินในขณะที่ให้น้ำนั้น อยู่ระหว่าง 30-50 เซนติเมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของดินและความลึกของรากมะม่วง ถ้าดินเนื้อละเอียดก็ให้ระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าเขตรากได้ 50-60 เซนติเมตร ถ้าดินเนื้อหยาบระดับน้ำควรจะอยู่ต่ำกว่าเขตรากประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้น้ำไหลไปสู่จุดต่างๆ ในเขตรากโดยการดูดซึม

การให้น้ำทางใต้ดินทำได้ 2 วิธี คือ

1.1 แบบระบบท่อส่งน้ำที่ฝังไว้ใต้ดินและ

1.2 แบบขุดคูยกร่อง

การยกระดับน้ำใต้ดิน โดยการให้น้ำแบบขุดคูยกร่องนั้น เป็นที่นิยมกันมากกว่าการให้น้ำในท่อ โดยเฉพาะปลูกในที่ลุ่ม เพราะทำได้ง่ายและประหยัดกว่า ท้องร่องดังกล่าวนี้จะขุดขึ้นตามแถวของมะม่วงที่ปลูกช่วงห่างระหว่างท้องร่องเหล่านี้จะต้องไม่ไกลกันจนเกินไปนัก เพื่อที่ว่าน้ำจะสามารถไหลซึมเข้าไปในดินและระบายออกได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการ โดยระยะห่างของร่องอาจอยู่กึ่งกลางแถว ถ้าเป็นการปลูกที่มีระยะห่างกันเกินกว่า 8 เมตร ถ้าห่างกันไม่เกิน 4 เมตร ก็อาจจะใช้ 2 แถว ต่อร่องได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะเนื้อดินด้วย ความลึกของร่องก็อยู่ระหว่าง 1-2 เมตร กว้าง 1.5-2.0 เมตร เชื่อมติดกับคูส่งน้ำ ซึ่งมีอาคารเป็นประตูน้ำคอยควบคุมน้ำในคูทั้งสอง ให้อยู่ระดับน้ำได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการระบายน้ำออก เมื่อมีน้ำมากเกินไป หรือช่วงที่ต้องการให้มะม่วงขาดน้ำเพื่อพักตัวก่อนที่จะให้ออกดอก (ดูรายละเอียดใน หัวข้อการสร้างสวนมะม่วง ของ ผศ. สนั่น ขำเลิศ) รูปที่ 4 แสดงการให้น้ำทางใต้ผิวดิน โดยการขุดคูเพื่อยกระดับขึ้นลง

2.การให้น้ำทางผิวดิน

เป็นวิธีการให้น้ำแก่มะม่วง โดยให้น้ำขังหรือไหลไปบนผิวดินและซึมลงไปในดินตรงบริเวณที่น้ำขังหรือไหลผ่าน เพื่อเก็บความชื้นไว้ให้แก่มะม่วง การให้น้ำทางผิวดินอาจแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ แบบปล่อยท่วมไปบนพื้นที่ที่ปลูกมะม่วง โดยการพูนโคนต้นไม้ให้น้ำถูกลำต้น และแบบให้น้ำท่วมเฉพาะในร่องคู สิ่งสำคัญสำหรับการให้น้ำทางผิวดินก็คือ จะต้องมีการเกลี่ยพื้นที่ให้เรียบ และมีความลาดเทให้น้ำไหลผ่าน ไม่ควรเกิน 2% ถ้าพื้นที่ดินสูงๆ ต่ำๆ จะต้องเกลี่ยพื้นที่เสียก่อน ซึ่งบางครั้งค่าลงทุนในการเกลี่ยพื้นที่แพงเกินไป จนไม่อาจจะลงทุนใช้วิธีนี้ให้คุ้มทุนได้ ต้องหาวิธีการให้น้ำแบบอื่น นอกจากนี้ ถ้าพื้นที่ลาดเทชันเกินไป น้ำจะไหลเร็วและเกิดการกัดพาผิวดิน ถ้าจะแก้ไขโดยใช้ความยาวที่น้ำไหลเพียงสั้นๆ กำหนดอัตราการให้น้ำต่ำๆ ก็มักจะเปลืองน้ำ ถ้าจะแก้ไขโดยวางร่องคูขวางลาดของพื้นที่ในพื้นที่ที่ลาดชันก็ต้องมีการตัดดินเป็นขั้นบันได ซึ่งก็เปลืองค่าใช้จ่ายเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม การให้น้ำทางผิวดินสามารถแยกเป็นแบบย่อยได้หลายแบบ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป สำหรับแปลงมะม่วงอัน ได้แก่ การให้น้ำแบบแปลงยาว แปลงอ่าง แบบวงแหวน และแบบร่อง