กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จของระบบส่งเสริมการเกษตรกับเด็กและเยาวชน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยการส่งเสริมพัฒนายุวเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ด้วยการส่งเสริมการรวมตัวของเด็กและเยาวชนให้จัดตั้งเป็นกลุ่มยุวเกษตรกร เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะอาชีพการเกษตร ทักษะการดำเนินชีวิตในสังคม โดยเน้นวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์และการปฏิบัติจริง ให้ยุวเกษตรกรมีความสามารถและมีความพร้อมในการสืบทอดอาชีพการเกษตร และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 และได้ดำเนินงานและกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง จากผู้บริหารรุ่นสู่รุ่น จากครูรุ่นสู่รุ่น และจากนักเรียนรุ่นสู่รุ่น ทำให้มีการพัฒนางานเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ด้วยความโดดเด่นของการบริหารจัดการกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา ซึ่งมีผู้บริหารโรงเรียนที่ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรด้วยตนเอง นอกจากนี้คณะครูทุกท่านยังเป็นที่ปรึกษาร่วมงานส่วนบุคคล งานกลุ่มย่อย และงานรวม มีคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรที่เกิดจากการเลือกตั้งจากสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร จำนวน 5 คน มีสมาชิกตามหลักเกณฑ์กว่า 40 คน และมีสมาชิกสมทบอีกกว่า 200 คน

งานของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา

  1. งานส่วนบุคคล ที่ปรึกษาหลักและที่ปรึกษางานกลุ่มย่อยทุกคน มีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรทุกคน เพื่อให้คำแนะนำในการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ปกครอง ทำให้เกิดความร่วมมือในระดับชุมชน เกิดความเชื่อมโยงกลับมายังโรงเรียน เช่น นักเรียนบางคนมีฟาร์มแพะ ทำให้มีความชำนาญในการเลี้ยงแพะ สามารถนำความรู้มาถ่ายทอดสู่เพื่อนสมาชิกได้อย่างง่ายดาย
  2. งานกลุ่มย่อย มีการแบ่งงานเป็นกลุ่มย่อย เพื่อฝึกฝนสมาชิกกลุ่มให้ลงมือปฏิบัติจริงตามสาขาวิชาที่สมาชิกสนใจ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ มีความรับผิดชอบ ได้ฝึกปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองสนใจ และสร้างความสนิทสนมกับเพื่อสมาชิกกลุ่มย่อยมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา มีการแบ่งงานกลุ่มย่อยออกเป็น 3 ลักษณะ ประกอบด้วย

            2.1 งานกลุ่มย่อยเกี่ยวกับการเกษตร ได้แก่ กลุ่มย่อยการปลูกกล้วยน้ำว้า กลุ่มย่อยการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ กลุ่มย่อยการเพาะเห็ดนางฟ้า กลุ่มย่อยการเลี้ยงแพะ กลุ่มย่อยการเลี้ยงปลาดุก และกลุ่มย่อยการทำปุ๋ยหมัก

2.2 งานกลุ่มย่อยเกี่ยวกับเคหกิจเกษตร ได้แก่ กลุ่มย่อยผลิตภัณฑ์จากกล้วย (กล้วยตาก และกล้วยฉาบ) กลุ่มย่อยผลิตภัณฑ์จากตะไคร้ (น้ำตะไคร้ น้ำพริกตะไคร้ สเปรย์ตะไคร้หอมกันยุง และน้ำยาล้างจานกลิ่นตะไคร้หอม) และกลุ่มย่อยผลิตภัณฑ์จากเห็ดนางฟ้า (น้ำพริกเห็ดนางฟ้า และเห็ดกรอบสมุนไพร)

2.3 งานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้แก่ กลุ่มย่อยการกำจัดขยะอินทรีย์ และกลุ่มย่อยธนาคารขยะ

3. งานรวม กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา กำหนดให้การปลูกตะไคร้เป็นงานรวมที่ทุกคนต่างช่วยกันปลูกในโรงเรียนผ่านกิจกรรมสำคัญ คือ การไหว้ครูโดยใช้ตะไคร้ เป็นประเพณีที่ดีงามของโรงเรียน อีกทั้งยังสามารถใช้แปรรูปได้หลากหลาย เช่น น้ำตะไคร้ น้ำพริกตะไคร้ สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง น้ำยาล้างจานตะไคร้ ต่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ

นอกจากงานตามภารกิจแล้ว สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรโรเรียนบ้านพรุจำปายังมีการปฏิบัติกิจกรรมอย่างหลากหลาย ได้แก่ การบันทึกการปฏิบัติงาน การบันทึกรายรับรายจ่าย การร่วมวางแผนประชุม การดำเนินกิจกรรมด้านจิตอาสา สาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้สมาชิกมีศักยภาพหลายด้าน เหมาะสมกับการเป็นยุวชน กลุ่มยุวเกษตรกรของไทยอย่างแท้จริง

ผลของการใช้ระบบส่งเสริมการเกษตร (T&V System)

ในการขับเคลื่อนกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นองค์กรขนาดใหญ่มีภารกิจที่หลากหลายในการพัฒนาให้เกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ประกอบกับในสภาพปัจจุบันมีข้อจำกัดของทรัพยากรที่ใช้ในการพัฒนา ทั้งในด้านอัตรากำลัง งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ส่งผลให้วิธีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี ไปสู่เกษตรกรโดยตรงลดน้อยลง มีการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารมาช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และเกษตรกรลดน้อยลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อที่จะให้เกิดความชัดเจนของการทำงานในเชิงบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ จึงได้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบส่งเสริมการเกษตรขึ้น โดยนำแนวทางระบบส่งเสริมการเกษตร T&V และการดำเนินการต่างๆ ที่ผ่านมา มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ทำงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            โดยมีองค์ประกอบของระบบส่งเสริมการเกษตรที่ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงใหม่ และยังคงยึดแนวทางของระบบส่งเสริมการเกษตร T&V ประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบ ดังนี้

  1. การถ่ายทอดความรู้ (Training) เป็นระบบที่มุ่งเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรของกรมส่งเสริมการเกษตรทุกระดับทั้งในด้านสมรรถนะ วิชาการ และการบริหารจัดการโครงการ ผ่านเวทีตามระบบส่งเสริมการเกษตรที่จัดขึ้นในทุกระดับ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอถลาง และสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรอย่างสม่ำเสมอ ทั้งจากการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตรและจังหวัดภูเก็ต เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ ชี้แจงทำความเข้าใจ และร่วมนำเสนอและแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มศักยภาพการพัฒนายุวเกษตรกร เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร เป็นต้น

  1. การเยี่ยมเยียน (Visiting) เป็นการพบปะทั้งในลักษณะกลุ่มและรายบุคคล เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มยุวเกษตรกรมีการจัดทำแผนพัฒนาตนเอง จัดให้มีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับกลุ่มโดยเฉพาะกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับงานของกลุ่มยุวเกษตรกร ทั้งงานส่วนบุคคล งานกลุ่มย่อย และงานรวม พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ตลอดจนเป็นการประสานการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน โดยยึดพื้นที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน ทั้งนี้สำนักงานเกษตรอำเภอถลาง และสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต มีการวางแผนลงพื้นที่เยี่ยมเยียนกลุ่ม ประสานและบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ เช่น เกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอถลาง สำนักงานประมงอำเภอถลาง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต เพื่อร่วมกันถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับกลุ่ม และติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ
  2. การสนับสนุน (Supporting) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้มีขวัญกำลังใจ มีสมรรถนะ มีระบบวิธีการทำงาน มีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อมในการปฏิบัติงาน เพื่อขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรอำเภอถลางในฐานะผู้ปฏิบัติงานกับเป้าหมายหรือกลุ่มยุวเกษตรกร ได้รับการสนับสนุนจากหลายช่องทาง เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ที่เปรียบเสมือนหน่วยงานที่ร่วมกันทำงานในระดับพื้นที่ การสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา รวมทั้งจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งในรูปแบบขวัญกำลังใจ คำแนะนำเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะและระบบวิธีการทำงาน เครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้งการสนับสนุนจากเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น การสนับสนุนต้นกล้าไม้ดอกไม้ประดับของกลุ่มย่อยการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต การสนับสนุนวัสดุทำปุ๋ยอินทรีย์ของกลุ่มย่อยการทำปุ๋ยหมัก จากสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต การสนับสนุนพันธุ์ปลาดุกของกลุ่มย่อยการเลี้ยงปลาดุก จากสำนักงานประมงอำเภอถลาง ซึ่งเป็นการสนับสนุนกลุ่มยุวเกษตรกรที่เปรียบเสมือนการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรด้วยอีกทาง ที่ส่งผงให้งานเสร็จลุล่วงและประสบความสำเร็จ
  3. การนิเทศงาน (Supervision) เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อให้การดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน กระตุ้น และติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ ให้มีความสำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิผล ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้สามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้อย่างรวดเร็ว มีการให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนปฏิบัติงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตในฐานะหน่วยงานส่วนภูมิภาค ที่ทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้ดำเนินการนิเทศงานสำนักงานเกษตรอำเภอถลาง พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนปฏิบัติงานของกลุ่มให้มีประสิทธิภาพต่อไป

  1. การจัดการข้อมูล (Data Management) การทำงานส่งเสริมการเกษตรเป็นการทำงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับครัวเรือนเกษตรกร ระดับกลุ่ม ระดับตำบล และระดับเหนือขึ้นไป ซึ่งจำเป็นต้องให้ทุกระดับมีข้อมูลเป็นของตนเอง โดยเริ่มจากการค้นหาชนิดหรือประเภทของข้อมูลที่มีความจำเป็นต้องรู้และใช้ เพื่อให้แต่ละระดับได้มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และใช้ประโยชน์ในการจัดการและพัฒนา ตลอดจนการใช้ข้อมูลเพื่อเป็นสื่อกลาง ในการเชื่อมโยงหรือบูรณาการร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่จะให้การสนับสนุนหรือใช้ข้อมูลสำหรับในการตัดสินใจของหน่วยงานต่างๆ ในการวางแผนและการพัฒนา ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต ได้รวบรวมข้อมูลในทุกระดับ รวมทั้งข้อมูลกลุ่มยุวเกษตรกร เพื่อใช้ประกอบการวางแผนพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรของจังหวัดภูเก็ตให้มีประสิทธิภาพ โดยเสนอโครงการและได้รับงบประมาณจากจังหวัดภูเก็ต (งบพัฒนาจังหวัด) ในการสนับสนุนกลุ่มยุวเกษตรกรของจังหวัดภูเก็ตอย่างต่อเนื่อง

อีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา คือ การเข้าร่วมการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรดีเด่น ประเภทกลุ่มยุวเกษตรกร ประจำปี พ.ศ. 2563 และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับเขต (ภาคใต้) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกหน่วยงาน รวมทั้งความตั้งใจของกลุ่มยุวเกษตรกร และที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านพรุจำปา ที่ต้องการปลูกฝังให้สมาชิกกลุ่มมีวินัยเป็นสิ่งสำคัญ บนพื้นฐานของคุณธรรม และความรู้ด้านวิชาการ โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชามาน้อมนำสู่การปฏิบัติและสืบทอดต่อไป