วช. ส่งเสริมการปลูกองุ่นพันธุ์ “ไชน์มัสคัต” เกรดพรีเมี่ยม ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนวิจัยให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินโครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไชน์มัสคัตเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ การปลูก การจัดการโรคและแมลง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวองุ่นไชน์มัสคัต และการประเมินคุณภาพองุ่นให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ตาก และกำแพงเพชร พร้อมส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก

องุ่นไชน์มัสคัตไร้เมล็ด เกรดพรีเมี่ยมของญี่ปุ่น

องุ่นไชน์มัสคัต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท (โทร. 081-971-3510) กล่าวว่า องุ่นพันธุ์ “ไชน์มัสคัต” (Shine Muscat) ถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2531 ที่สถานีวิจัยองุ่นและพลับอะกิซึ จังหวัดฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ขึ้นทะเบียนพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2549 เป็นลูกผสมระหว่าง องุ่นพันธุ์ Akitsu21 [Steuben (Vitislabruscana) x Muscat of Alexandria (V. vinifera)] กับองุ่นพันธุ์ Hakunan [Katta Kurgan (V. vinifera) x Kaiji (V. vinifera)]

ลักษณะเด่นขององุ่นพันธุ์นี้คือ ผลกลม ขนาดใหญ่ มีเมล็ด ผิวผลสีเขียวอมเหลือง ไม่แตกง่าย เนื้อแน่น กรอบ ไม่ฝาด มีกลิ่นมัสคัต ทนต่อโรคผลเน่าและราน้ำค้างได้ในระดับปานกลาง แต่อ่อนแอต่อโรคแอนแทรกโนส ทนร้อนและหนาวเย็น ถ้าผลมีเมล็ดจะมีขนาดประมาณ 10 กรัม ถ้าทำให้ผลไม่มีเมล็ด จะมีขนาด 12 กรัม ขึ้นไป มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ 19 องศาบริกซ์ ปริมาณกรด 0.4 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 80 วัน หลังดอกบานเต็มที่ในประเทศญี่ปุ่น

เมื่อนำองุ่นพันธุ์ “ไชน์มัสคัต” มาปลูกในประเทศไทย พบว่า มีการเจริญเติบโตดี สามารถออกดอกติดผลได้ แต่จะมีอายุเก็บเกี่ยวเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่น คือ ประมาณ 70 วัน หลังดอกบานเต็มที่

แปลงปลูกองุ่นไชน์มัสคัตของญี่ปุ่น

เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้องุ่นพันธุ์ “ไชน์มัสคัต” ไม่มีเมล็ด คือการใช้กรดจิบเบอเรลลิค (GA3) และ CPPU การตัดแต่งช่อผล เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น ไม่มีเมล็ด และช่อใหญ่ รสชาติหวาน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ กล่าวแนะนำให้เกษตรกรตัดแต่งช่อดอก เมื่อดอกองุ่นเริ่มบานจะตัดแต่งช่อดอก เนื่องจากดอกองุ่นจะเริ่มบานจากด้านบนสุดของช่อดอกและบานเรื่อยลงมาจนถึงปลายช่อดอก ส่งผลให้องุ่นด้านบนสุกก่อนองุ่นบริเวณปลายช่อ ทำให้คุณภาพผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ดังนั้น จึงตัดแต่งช่อดอกให้เหลือความยาวที่ปลายช่อดอก 3.5-4 เซนติเมตร

เทคนิคที่ทำให้องุ่นไม่มีเมล็ด

ส่วนเทคนิคที่ทำให้องุ่นไม่มีเมล็ด คือหลังดอกบานเต็มที่ 1-3 วัน จุ่มช่อดอกลงในสารละลายที่มีสเตรปโตมัยซิน ความเข้มข้น 100 ppm ร่วมกับจิบเบอเรลลิคแอซิด ความเข้มข้น 25 ppm และ CPPU ความเข้มข้น 5 ppm ตัดแต่งช่อผลหลังดอกบานเต็มที่ 10-15 วัน จะตัดแต่งช่อผลให้เหลือ 35-40 ผล หากไม่ตัดแต่งช่อผลจะทำให้ผลเบียดกันและผลจะมีขนาดเล็ก และขยายขนาดของผลได้น้อย หลังจากตัดแต่งช่อผล จุ่มช่อผลลงในสารละลายจิบเบอเรลลิคแอซิด ความเข้มข้น 25 ppm

ขยายขนาดของผลหลังจากตัดแต่งช่อผล

เทคโนโลยีการปลูกองุ่นพันธุ์ “ไชน์มัสคัต”

ปลูกองุ่นในระยะห่างระหว่างต้นและแถว 6×8 เมตร ขนาดของหลุม กว้าง 70xยาว 70xลึก 30 เซนติเมตร

ค้างองุ่น

นิยมใช้ค้างแบบราวตากผ้า ความสูงของค้างประมาณ 1.80 เมตร ความกว้าง ด้านบนของค้างสูงกว้างประมาณ 3 เมตร ใช้ลวดเบอร์ 14 ขึงให้ตึงระหว่างหัวแปลง ท้ายแปลง ระยะระหว่างลวดประมาณ 25 เซนติเมตร

ปลูกองุ่นในปีแรก ตัดยอดหรือเด็ดยอดเพื่อเลี้ยงกิ่งหลัก/กิ่งรอง

การจัดการทรงต้นและการสร้างกิ่ง

การจัดทรงต้นที่แนะนำคือ ทรงต้นแบบตัว H เทคนิคการสร้างกิ่งที่ใช้คือ การสร้างกิ่งแบบก้างปลา จากกิ่งแขนงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกข้อของเถา ต้องเร่งการเจริญเติบโตให้เถาเจริญเติบโตเร็วที่สุดและสมบูรณ์จึงจะสร้างกิ่งแขนงได้ดี

การตัดแต่งกิ่งองุ่น

กิ่งที่จะตัดแต่งเพื่อให้ออกดอก จะต้องเป็นกิ่งที่แก่จัด กิ่งเป็นสีน้ำตาล ใบแก่จัด ดังนั้น ก่อนการตัดแต่งจะต้องงดการให้น้ำ 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้ต้นองุ่นพักตัวอย่างเต็มที่ การตัดแต่งให้ใช้กรรไกรตัดกิ่งให้สั้นลง ความยาวของกิ่งที่เหลือขึ้นอยู่กับพันธุ์องุ่น

เว้นระยะห่างระหว่างกิ่ง 20-25 เซนติเมตร
ลักษณะของกิ่งปีที่ 3 ฤดูร้อน

การจัดเถาและช่อองุ่น

เมื่อเห็นช่อดอกยืดออกมา ดอกจะบาน หรือหลังจากตาองุ่นแตกได้ 2-3 สัปดาห์ ควรปลิดตาข้างออกให้หมด เพื่อให้ยอดองุ่นที่แตกออกมาที่มีช่อดอกยืดยาวออกไป เมื่อติดผลเล็กๆ ควรผูกเถาติดกับค้างหรือดูความยาวของเถาประมาณ 80-100 เซนติเมตร

การปลิดช่อดอก

การปลิดช่อดอก ช่อผล ควรให้ช่อดอก ช่อผล ที่เหลือกระจายอยู่ทั่วๆ ไปในต้น จะทำให้ผลที่คงไว้มีคุณภาพดี แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงราคาขายด้วย การปลิดช่อดอก ช่อผล ออกมากๆ แม้คุณภาพผลจะดี แต่ผลผลิตจะลดลงมาก

ตัดแต่งช่อดอกให้เหลือความยาวที่ปลายช่อดอก 3.5-4 เซนติเมตร

การตัดแต่งช่อดอก

หลังจากจัดกิ่งเรียบร้อยแล้ว บางครั้งต้นองุ่นออกดอกมากเกินไป ถ้าปล่อยไว้ทั้งหมดจะทำให้ต้นโทรมเร็ว คุณภาพของผลไม่ดี ควรตัดแต่งช่อที่ติดเป็นผลเล็กๆ แล้ว โดยเลือกช่อที่เห็นว่ามีขนาดเล็ก รูปทรงไม่สวย ติดผลไม่สม่ำเสมอ มีแมลงทำลาย

การซอยผล/การตัดแต่งผล

การปลิดผลออกจากช่อ มักทำ 1-2 ครั้ง เมื่อผลโตพอสมควร ผลองุ่นอ่อนที่ตัดออกมาเอาไปดองขายได้ วิธีปลิดผลให้ใช้กรรไกรขนาดเล็กสอดเข้าไปตัดที่ขั้วผล อย่าใช้มือเด็ดหรือดึง เพราะจะทำให้ช่อผลช้ำเสียหายฉีกขาด และมีส่วนของเนื้อผลผลิตอยู่ที่ขั้ว ทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย

ตัดแต่งช่อผลหลังดอกบานเต็มที่ 10-15 วัน

การใช้สารฮอร์โมน

สารฮอร์โมนที่ใช้ในการยืดช่อผล ขยายขนาดของผล คือ สาร “จิบเบอเรลลิค” การใช้ฮอร์โมน มักใช้ 1-2 ครั้ง คือ ครั้งแรกหลังจากดอกบาน 3-7 วัน (ดอกบาน หมายถึง ดอกบาน 8 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด โดยดอกองุ่นจะบานจากโคนช่อไปหาปลายช่อ เมื่อเห็นว่าดอกบานไปจนเกือบจะสุดปลายช่อ หรือประมาณ 4 ใน 5 ของความยาวช่อ) ครั้งที่ 2 อาจให้หลังจากครั้งแรก ประมาณ 7 วัน การใช้สารฮอร์โมนนี้ อาจใช้วิธีฉีดพ่นไปที่ช่อดอก

การห่อผล

หลังจากตัดแต่งผลแล้ว ควรห่อผลเพื่อป้องกันแมลงและนกเข้าทำลาย อีกทั้งทำให้ผลองุ่นผิวสวย ลูกโตกว่าปกติ และป้องกันความเสียหายจากเส้นผมของผู้ปฏิบัติงานไปโดนผลองุ่นอีกด้วย

การปลูกองุ่นในโรงเรือน

การให้ปุ๋ย

ระยะที่ต้นยังเล็ก หรือยังไม่ได้ตัดแต่ง ควรใส่ปุ๋ย สูตร 15-0-0 สูตร 15-15-15 สูตร 20-20-20 สูตร 12-24-12 อัตราต้นละ 300-500 กรัม ต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยคอก 10 กิโลกรัม ต่อต้น

ระยะที่สอง ให้ปุ๋ยเช่นเดียวกับระยะแรก เมื่อดอกบานแล้ว 15 วัน หลังการตัดแต่งกิ่งได้ประมาณ 45 วัน

ระยะที่สาม เมื่อองุ่นเริ่มเข้าสี ระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น สูตร 13-13-21 สูตร 8-24-24 สูตร 0-52-34 ต้นละ 300-500 กรัม หรือใส่ก่อนเก็บผลประมาณ 15-30 วัน

การให้น้ำ

ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ระยะติตผลและผลกำลังพัฒนาไม่ควรขาดน้ำ ระยะก่อนเก็บผลผลิต 1-2 สัปดาห์ ควรงดการให้น้ำ หรือรดน้ำให้น้อยที่สุด เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพดี

การเก็บเกี่ยวผลองุ่น

วิธีดูผลองุ่นที่แก่จัดอาจทำได้หลายอย่าง เช่น การนับอายุ ตั้งแต่ตัดแต่งจนถึงแก่จัดซึ่งแตกต่างกันไป แล้วแต่พันธุ์ โดยการนับอายุมีข้อสังเกต เช่น ผลองุ่นที่ชุบสารฮอร์โมนจะสุกเร็วกว่าผลที่ไม่ได้ชุบสารฮอร์โมนหลายวัน หรือหน้าแล้งผลจะสุกเร็วกว่าหน้าฝน หรือการเปลี่ยนสีของผลที่แก่จัดจะเปลี่ยนจากสีเขียว และอาจดูจากขั้วช่อผล ถ้าผลแก่จัด ขั้วของช่อผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล

การพักตัวของต้นองุ่น

หลังจากที่เก็บผลองุ่นจนหมดแล้ว จะต้องปล่อยให้ต้นองุ่นพักตัวระยะเวลาหนึ่ง ประมาณ 1-2 เดือน เพื่อให้ต้นองุ่นได้สร้างอาหารสะสมไว้ในต้น เพื่อให้ดอกให้ผลในครั้งต่อไป ช่วงที่ให้ต้นองุ่นพักตัวนี้ควรให้น้ำเป็นครั้งคราว ไม่ให้ดินแห้งเกินไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท กับเกษตรกรญี่ปุ่น

โรคและแมลงที่สำคัญ

ได้แก่ โรคราน้ำค้าง โรคกิ่งแห้ง โรคแอนแทรกโนส แสคป โรคใบจุด โรคราสนิม โรคราแป้ง โรคลำต้นและรากเน่าจากเห็ด โรคใบไหม้ใบลวก โรคใบจีบคล้ายพัด ส่วนแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ เช่น เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน หนอนกระทู้หอม แมลงวันผลไม้ และหนอนเจาะสมอฝ้าย

1. โรคราน้ำค้าง (Doeny mildew) – Pladmopara Viticola

การป้องกันกำจัด บำรุงรักษาต้นให้สมบูรณ์ตัดแต่งให้โปร่ง เผาทำลายเศษซากพืชที่เป็นโรคและการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราน้ำค้าง เช่น ฟอสเอทิลอะลูมินัม (fosetyl AI), เมทาแลคซิล ผสม แมนโคเซบ เน้นระยะฉีดพ่นให้ถี่หลังฝนตก ควรผสมสารจับใบเมื่อใช้ ฉีดพ่นหรือราดทางดินบริเวณโคนต้น ควรใช้ปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

2. โรคแอนแทรกโนส (Antracnose)

การป้องกันกำจัด ควรทำความสะอาดเผาทำลายเศษซากพืช และฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อรา ตั้งแต่ระยะช่อดอก ใบอ่อนและใบแก่ ได้แก่ คาร์เบนดาซิม เมทาแลกซิล โดยฉีดพ่นครั้งแรกหลังจากตัดแต่ง และครั้งที่สองเมื่อเริ่มแตกใบอ่อน

3. โรคช่อแห้ง (Bacterial Blight)

การป้องกันกำจัด ควรเก็บกวาดออกไปทิ้งหรือเผาให้หมด ไม่ให้เป็นที่สะสมโรค ยิ่งแปลงปลูกชื้นแฉะโรคนี้ก็จะยิ่งระบาดได้รวดเร็ว ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัด เช่น คาร์เบนดาซิม และแมนโคเซบ ควรผสมสารจับใบและฉีดพ่นให้ถี่ขึ้นเมื่อมีฝนตกชุก

4. โรคราแป้ง (Powdery mildew)

การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งให้มีอากาศผ่านทรงพุ่ม ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น กำมะถันผง หรือใช้สารชนิดดูดซึม และสารกลุ่มไตรอาโซล ผสมสารจับใบ ฉีดพ่นป้องกันระยะที่อ่อนแอต่อโรค