“ถังหมักดักกลิ่น” เปลี่ยนเศษอาหารมาเป็นปุ๋ย ลดปัญหาขยะ นวัตกรรมทำง่ายใกล้ตัว

ในเมื่อเศษอาหารประจำวันที่ดูจะเพิ่มขึ้นทุกวัน กลายเป็นปัญหาปวดหัวของสังคม ทิ้งอย่างไร กำจัดอย่างไรก็ไม่รู้จักหมดสิ้น คงต้องใช้วิธีแบบเกลือจิ้มเกลือด้วยการนำเศษอาหารที่เป็นขยะประจำวันมาแปรเปลี่ยนเป็นปุ๋ยใช้ปลูกพืชซะเลย งานนี้ประหยัดค่าปุ๋ย แถมได้พืชผักที่ปลอดภัยไว้รับประทานในบ้านอีกด้วย…

การเปลี่ยนเศษอาหารมาเป็นปุ๋ยให้พืชเป็นหนึ่งในอีกหลายแนวคิดของ คุณสุทน แสนตันเจริญ หนุ่มราชบุรีดีกรีช่างไฟฟ้าจากเทคนิคราชบุรี ที่หันมาเอาดีทางงานพัฒนาชุมชนและสังคม สังกัด SCG

งานที่คุณสุทนทำคือลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมด้านต่างๆ ในขณะทำงานหากพบว่าชาวบ้านมีปัญหาอะไรที่แก้ไขไม่ได้ในทางเทคนิค คุณสุทนจะนำปัญหานั้นมาคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือ/อุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือหาทางออกเพื่อตอบโจทย์ปัญหาให้เกษตรกรแต่ละแห่ง แล้วอุปกรณ์เหล่านั้นจะออกแบบง่ายๆ สามารถนำสิ่งของใกล้ตัวในชุมชนมาประดิษฐ์ ตามแบบอย่างจากต้นแบบของคุณสุทน เน้นความประหยัด ใช้งานได้จริง

คุณสุทน แสนตันเจริญ

“ตัวอย่างเช่น ถ้าขยะเป็นปัญหาของชุมชน ก็จะออกแบบถังขยะที่สามารถแปรรูปเป็นปุ๋ยโดยไม่มีกลิ่นเพื่อนำไปใช้บำรุงต้นไม้ หรือบางชุมชน หมู่บ้านที่มีพื้นที่น้อยอยากปลูกต้นไม้ก็จะออกแบบกระถางที่สามารถปลูกพืชได้หลายชนิดแล้วไม่ต้องรดน้ำบ่อย ทำให้ประหยัดพื้นที่ ประหยัดน้ำ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ต้องคิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบสนองปัญหาของชุมชน ภายใต้หลักคิดคือ ต้องประหยัดพื้นที่ ประหยัดน้ำ สามารถทำให้พืชผักเจริญงอกงามดีอย่างมีคุณภาพ”

งานชิ้นแรกเกิดจากเมื่อครั้งลงพื้นที่ชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นช่วงที่ชาวบ้านประสบปัญหาน้ำท่วม อาหารมีแต่เนื้อสัตว์ ไม่มีผักเพราะน้ำท่วม จึงคิดค้นกระป๋องปลูกต้นไม้ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ใช้ชื่อว่า “กระถางปลูกพืชประหยัดน้ำ” เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาในเบื้องต้นได้ระดับหนึ่ง หรืออีกแห่งที่สระบุรี แถวแก่งคอย พบว่าเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ มีน้ำน้อยปลูกพืชในครัวเรือนไม่ค่อยได้ผล  ก็ไปถ่ายทอดวิธีประดิษฐ์กระป๋องปลูกพืชประหยัดน้ำแบบเดียวกันนี้ให้แก่ชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีพืชผักบริโภคได้ทั้งปีแม้จะน้ำน้อยก็ตาม

เมื่อกระถางปลูกพืชประหยัดน้ำเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกที่ประสบความสำเร็จอย่างดี คุณสุทนไม่รอช้าที่จะพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงเพิ่มฟังก์ชั่นให้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายเพื่อตอบสนองปัญหามากขึ้น อย่างแกลลอนใส่น้ำสีขาวขุ่นที่เก่ามากแล้วใช้งานไม่ได้ก็สามารถนำกลับมาใช้ประดิษฐ์เป็นกระถางประหยัดน้ำสำหรับปลูกต้นไม้ เพียงตัดส่วนด้านบนออกไม่ทิ้ง หงายขึ้นให้รูปากถังอยู่ด้านล่างต่อท่อระบายน้ำเชื่อมกันใช้ทำเป็นที่ปลูกต้นไม้อีกชั้น เรียกว่า “กระถางลูกหนูสู้ภัยแล้ง” สามารถปลูกพืชผักได้สองชั้น รดน้ำครั้งเดียวได้ถึงสองชั้น ช่วยประหยัดน้ำ

ต้นแบบถังหมักดักกลิ่นที่นำไปสาธิตให้ชุมชน

ต่อมามองว่ากระป๋องหิ้วพลาสติกเก่าซึ่งมีกันเกือบทุกบ้านที่ไม่ใช้งานแล้ว ควรนำมาสร้างประโยชน์ด้วยการออกแบบเป็นกระถางปลูกผัก โดยเสียบขวดพลาสติกเล็กไว้กลางกระป๋องสำหรับเป็นกลไกการกลั่นไอน้ำให้พืช จึงตั้งชื่อว่า “กระถางไอน้ำหมุนเวียน” เป็นงานคิดค้นที่แทบไม่ต้องใช้น้ำรดต้นไม้ เพราะพืชได้น้ำจากไอที่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำ

อีกชิ้นงานคือ “กระถางแคปซูลเพาะพืชประหยัดน้ำ” ที่ใช้เพียงขวดน้ำพลาสติกทั่วไปจะเป็นขวดใหญ่หรือเล็กก็ได้ เหมาะกับการใช้ปลูกพืชเป็นชิ้นงานที่ทำง่าย ไม่ยุ่งยาก เด็กๆ สามารถทำได้ โดยชิ้นงานกระถางไอน้ำหมุนเวียนและกระถางแคปซูลเพาะพืชประหยัดน้ำ ช่วยตอบโจทย์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่สามารถผลิตเองได้ง่าย

คุณสุทนพบว่าชุมชนเมืองมีปัญหาเรื่องขยะ โดยเฉพาะเศษอาหารจำนวนมาก ที่ผ่านมานิยมใช้น้ำหมักเพื่อย่อยสลายเศษอาหาร แต่พบว่าบางชนิดมีกลิ่นแรง ไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อมอย่างในชุมชนเมือง ดังนั้น จึงคิดค้นอุปกรณ์เพื่อย่อยสลายขยะเหล่านั้นแล้วนำกลับมาใช้ประโยชน์ในชื่อ “ถังย่อยสลายขยะอินทรีย์” ซึ่งถังย่อยสลายขยะอินทรีย์จะต้องทำงานควบคู่ไปกับกลไกที่เรียกว่า “สี่สหาย” ที่ประกอบด้วยถังย่อย ถังแยกเศษอาหาร ถังรับน้ำ และถังเก็บน้ำ ประโยชน์ของถังย่อยสลายขยะอินทรีย์จะช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ในครัวเรือนให้เป็นปุ๋ยตามธรรมชาติที่เป็นอาหารของต้นไม้ที่ปลูกไว้

อย่างไรก็ตาม ถังย่อยสลายขยะอินทรีย์ ยังคงมีจุดที่ต้องแก้ไข เพราะยังมีกลิ่นเล็ดลอดออกมาบ้าง ดังนั้น เพื่อกำจัดให้กลิ่นหมดไปควรมีกลไกโดยใช้ความร้อนจากแสงแดดสร้างการหมุนเวียนเพื่อช่วยกำจัดกลิ่น จึงนำมาสู่งานชิ้นที่ชื่อ “ถังหมักดักกลิ่น” ซึ่งเป็นผลงานสุดฮ็อตที่ได้รับความนิยมมาก

ถังย่อยสลายขยะอินทรีย์

“เนื่องจากแต่เดิมอาหารที่อยู่ในถังจะส่งกลิ่นรบกวน ดังนั้น ใช้ขวดพลาสติกเสียบตรงฝาถังแล้วต่อเข้ากับขวดพลาสติกด้านข้างเพื่อดึงก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มาที่ขวดแล้วใช้ออกซิเจนจากน้ำที่ระเหยมากำจัดซัลเฟอร์ให้น้ำมีความเป็นกรดเพื่อกำจัดกลิ่นให้หายไป แล้วยังไปช่วยย่อยเศษอาหารด้วย ถือเป็นงานต้นแบบล่าสุดที่คิดค้น”

อย่างไรก็ตาม สำหรับใครที่ใช้ถังย่อยสลายขยะอินทรีย์อยู่ก็เพิ่มกลไกด้วยการใส่ขวดพลาสติกเข้าไปเพื่อช่วยดับกลิ่น โดยไม่จำเป็นต้องผลิตถังหมักดักกลิ่น ยกเว้นใครที่ยังไม่เคยใช้ก็ให้ผลิตถังหมักดักกลิ่น สำหรับวัสดุที่ใช้ผลิตถังหมักดักกลิ่นจะใช้อ่างพลาสติกขนาด 1 เมตร หรือหากบ้านใครมีพื้นที่เหลือก็สามารถใช้อิฐบล็อกก่อเป็นบ่อขนาด 1.5 เมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วให้ใส่หินอิฐ เศษใบไม้แล้วกลบด้วยดินครึ่งหนึ่ง แล้วจะปลูกพืชอะไรก็ได้ โดยแต่ละวันให้นำเศษอาหารเหลือทิ้ง (ควรเป็นเศษอาหารที่ไม่มีน้ำปน) ใส่ลงในถังแล้วปิดฝา โดยพื้นที่บริเวณรอบถังจะปลูกพืชอะไรก็ได้ ทั้งนี้ บางรายอาจนำไส้เดือนใส่ลงไปที่ปลูกพืชเพื่อช่วยให้กระบวนการย่อยสมบูรณ์โดยเร็ว อีกทั้งมูลไส้เดือนยังเป็นปุ๋ยได้อีก

หลักการทำงานถังย่อยสลาย

คุณสุทน ชี้ว่า นวัตกรรมที่ผลิตขึ้นมีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนของคนในชุมชน ครัวเรือน ทำให้ไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยใส่พืชผัก เพียงนำเศษอาหารที่เหลือใช้ในแต่ละวันมาสร้างประโยชน์เป็นปุ๋ยตามธรรมชาติเพื่อเป็นอาหารให้พืช ถือเป็นแนวคิดเล็กๆ ที่มีคุณค่าในความยิ่งใหญ่เพื่อช่วยเหลือสังคม

คุณสุทนเป็นเพียงผู้คิดค้นแล้วผลิตชิ้นงานต้นแบบขึ้นมาก่อน จากนั้นจะต้องนำไปทดสอบหลายครั้งเพื่อให้มั่นใจว่ามีประสิทธิภาพ จึงค่อยนำไปถ่ายทอดเผยแพร่ให้สาธารณชนต่อไป จึงไม่ได้ผลิตขาย แต่ถ้าสนใจจะลองทำเองก็ขอคำแนะนำได้ หรือหากต้องการซื้อแบบที่สำเร็จรูปทางคุณสุทนจะแนะนำกลุ่มต่างๆ ที่ผลิตขายให้ไปติดต่อกันเอง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุทน แสนตันเจริญ โทรศัพท์ (081) 945-6925 fb : สุทน แสนตันเจริญ