กรมชลประทาน ห่วงข้าวชาวนาขาดน้ำยืนต้นตาย หลังปลูกเกินแผน 3 ล้านไร่

กรมชลประทาน ห่วงข้าวชาวนาขาดน้ำยืนต้นตาย หลังปลูกเกินแผน 3 ล้านไร่ ขอความร่วมมือเกษตรกรพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ทำนาอย่างประณีต ไม่สูบน้ำเก็บเกินจำเป็น เหตุน้ำต้นทุนมีจำกัด

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงเกษตรกรที่มีการทำนาในช่วงฤดูแล้ง หลังผลสำรวจล่าสุดมีการทำนาปรัง ปี 2563/64 ทั่วประเทศ จำนวน 4.87 ล้านไร่ เกินแผนมากกว่า 2.97 ล้านไร่ หรือ 156.80% จากแผนการเพาะปลูกที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านไร่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด มีการทำนาเกินแผนแล้ว 2.786 ล้านไร่ จากที่ไม่ได้กำหนดให้มีการทำนาในฤดูแล้งแต่อย่างใด เพราะปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ไม่มีน้ำต้นทุนที่จะสนับสนุนการทำนา เกษตรกรต้องใช้น้ำในแหล่งน้ำของตัวเองและแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ จากสถานการณ์น้ำที่จำกัดและการทำนาเกินแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายต่อนาข้าวใน 45 จังหวัด ทั่วประเทศ ที่มีพื้นที่ทำนา 3.621 ล้านไร่ เฉพาะใน 4 จังหวัด คือพระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และนครศรีธรรมราช มีการทำนาปรังถึง 3.075 ล้านไร่

สำหรับการทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในฤดูแล้ง ปี 2563/64 พบว่า มีการทำนาปรังเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ แม้ภาครัฐจะไม่สนับสนุนน้ำเพื่อทำนาปรัง โดยสัปดาห์ที่ 16 นับจาก พ.ย. 2563 มีการทำนาเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ 15 จำนวน 6,692 ไร่ หรือมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 836,662 ไร่

“กรมชลประทาน จึงขอความร่วมมือให้ชาวนาทำนาอย่างประณีต ไม่สูบน้ำเข้าไปเก็บในนาเกินความจำเป็น เพราะน้ำต้นทุนมีน้อย จึงต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มีการทำนาเกินแผน เนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนมีจำกัด ประตูระบายน้ำและอาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดย อปท. และ อบจ. จะให้เปิดรับได้เฉพาะน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค เป็นครั้งคราว ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในแม่น้ำ ปิง น่าน เจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2563 – 30 เม.ย. 2564”

นายประพิศ กล่าวว่า สำหรับปริมาณน้ำต้นทุน ฤดูแล้งปี 2563/64 ทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2563 มีปริมาณน้ำต้นทุนเหลือ 25,857 ล้าน ลบ.ม. มีแผนจัดสรรในฤดูแล้ง จำนวน 17,122 ล้าน ลบ.ม. มีเหลือสำรองน้ำสำหรับต้นฤดูฝน 8,735 ล้าน ลบ.ม. สำหรับน้ำที่จัดสรรในฤดูแล้งนี้ จำนวน 17,122 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการจัดสรรน้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เพื่ออุตสาหกรรม 392 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้ไปแล้ว 202 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52% ของน้ำที่ได้รับจัดสรร เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 6,508 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้ไปแล้ว 3,840 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของน้ำที่ได้รับจัดสรร เพื่ออุปโภคบริโภค 2,572 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้ไปแล้ว 1,516 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของน้ำที่ได้รับจัดสรร น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,650 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้ไปแล้ว 4,548 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของน้ำที่ได้รับจัดสรร

ณ วันที่ 23 ก.พ. 2564 คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้รวมในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก มีจำนวน 18,346 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 2563 ถึง 23 ก.พ. 2564 จำนวน 10,106 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 59% ของ แผนฯ คงเหลือ ที่จัดสรรจากแผนฯ 7,016 ล้าน ลบ.ม. หรือ สัดส่วน 41% ของแผนฯ