ผักขี้ขวง รสขมอร่อย และเป็นยาพื้นบ้านเรา

ผักพื้นบ้านบางชนิด ดูเหมือนว่าไม่น่าจะเป็นผักที่คนเรานำมากินเป็นอาหารได้ แต่ก็ไม่พ้นฝีมือคนบ้านเรา ที่คิดค้นหาวิธีเอามาทำกิน จัดขึ้นสำรับกับข้าวกันจนได้ คงเป็นเพราะว่าคนบ้านเรา มักจะใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ คัดเลือกว่าของชนิดใดที่กินได้ไม่มีพิษภัย กับกินไม่ได้มีอันตรายถึงตายได้ และยังมีการตั้งชื่อแปลกๆ ตามที่คนทั่วไปรู้และเห็นลักษณะ เช่นผักชนิดนี้ “ผักขี้ขวง”

ตามคำบอกเล่าจากคนรุ่นเก่า ว่าของกินใดที่ได้เคยลิ้มรสแล้ว เห็นว่าใช้ได้ กินได้ อร่อย มักจะแอบเก็บซ่อนไว้เพื่อจะหาข้อมูลเพิ่มเติม ทดสอบตรวจพิสูจน์ให้มั่นใจ ก่อนจะแจ้งบอกกล่าวให้ลูกหลานนำไปกินได้ โดยในระหว่างเก็บซ่อนนั้น จะตั้งชื่อให้น่าเกลียด ใส่คำว่า “ขี้” ขึ้นหน้า เช่น ขี้เหล็ก ขี้เพี้ย ขี้เขียด ขี้ขวง แต่พอเริ่มเผยแพร่แล้ว บางที่บางถิ่นชื่อเดิมบางอย่างถูกตัดคำหน้าออก บางอย่างยังใช้เรียกอย่างเดิมกันอยู่ และ ผักขี้ขวง หรือ ขวง ก็คงเป็นเช่นนั้น ชื่อมันไม่น่ากิน แต่เมื่อได้รู้จัก คนมักจะรักนิยมชมชอบกัน

ผักขี้ขวง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glinus oppositifolius (L.) Aug.DC เป็นพืชในวงศ์ MOLLUGINACEAE ในภาษาไทย เรียกแต่ละถิ่นไม่เหมือนกัน ภาคเหนือ ภาคอีสาน เรียก ผักขี้ก๋วง หรือ ผักขี้ขวง ภาคกลาง เรียกว่า ผักขวง หรือ สะเดาดิน แต่ชื่อที่เป็นทางการคือ “ขวง” พืชในกลุ่มพืชสมุนไพร มีทรงต้นเตี้ย เลื้อยทอดแผ่แขนงไปตามผิวดิน ก้านแขนงแตกไปรอบต้น ใบเล็กขนาด 0.3-0.5 เซนติเมตร ยาว 1-2 เซนติเมตร แผ่ใบสีเขียว ก้านใบสั้น ใบแตกออกตามข้อก้านแขนง ข้อละ 4-5 ใบ ใบรูปหอกยาวรีปลายแหลม ขอบใบเรียบ ดอกเป็นชนิดดอกเดี่ยว สีขาวอมเขียว มี 5 กลีบ ออกรวมอยู่กับข้อต้น ข้อละ 4-6 ดอก ส่วนผลเป็นรูปยาวรี เล็กนิดเดียว ผลแตกออกเป็น 3 แฉก ข้างในมีเมล็ดเล็กมาก สีน้ำตาลแดง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ชอบที่มีแสงแดดจ้า ขึ้นได้กับดินทุกชนิดที่มีความชื้น หรือที่ชื้นแฉะ แต่เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี พบขึ้นตามที่นาหลังเกี่ยวข้าวแล้ว หรือบริเวณสนามหญ้า หรือแถวริมห้วย ริมคลองที่น้ำแห้งแต่ดินยังชื้นอยู่

คุณค่าทางอาหาร นักวิชาการวิเคราะห์แล้วว่า ผักขี้ขวง 100 กรัม หรือ 1 ขีด ให้พลังงาน 30 กิโลแคลอรี น้ำ 90.3% เส้นใยอาหาร 1.1 กรัม โปรตีน 3.2 กรัม ไขมัน 0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 3.4 กรัม เถ้า 1.7 กรัม แคลเซียม 94 มิลลิกรัม เหล็ก 1.8 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม วิตามินซี 19 มิลลิกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.45 มิลลิกรัม วิตามินบีสาม 2.7 มิลลิกรัม

ผักขี้ขวง มีสรรพคุณทางยาที่ชาวบ้านเขารู้กันมานาน ต้นสดนำมาตำร่วมกับขิงแก่ ใช้สุมกระหม่อมเด็ก แก้ปวดศีรษะ แก้หวัดคัดจมูก ทั้งราก ต้น ใบ ดอก ผล ใช้ปรุงเป็นยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ตำผสมน้ำมันละหุ่งหยอดหูแก้ปวดหู หรือจะใช้ต้มกินเพื่อบำรุงน้ำดี ใช้แก้อาการคัน ทารักษาโรคผิวหนัง เป็นยาฆ่าเชื้อ ทาแก้อาการฟกช้ำบวมอักเสบ มีเส้นใยอาหารมาก ช่วยในระบบขับถ่ายของเสียออกจากลำไส้ ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ บำรุงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ป้องกันโรคเหน็บชา ช่วยเจริญอาหาร ผักขี้ขวง หรือ “ขวง” เป็นสมุนไพรที่ปรากฏชื่อตำรับยาในคัมภีร์โบราณต่างๆ เช่น พระคัมภีร์โรคนิทาน คัมภีร์ธาตุวิวรณ์ และคัมภีร์ปฐมจินดา ว่าเกี่ยวกับธาตุไฟ หรือเตโชธาตุ เกี่ยวกับเด็ก และทารก เป็นยาแก้อาการมูกเลือดตานโจร หรือโรคตานขโมย แก้ซางเด็ก เป็นยาแดงแก้ท้องลง ยาประจำท้องกุมาร ยาแก้ซางเจ้าเรือน ยาน้ำดับไฟ ยาจันทร์รัศมี คนอินเดีย ใช้สมุนไพรขวง เป็นยาบำรุงธาตุ ปรุงเป็นยาระบาย

ถึงแม้ว่า โดยธรรมชาติผักขี้ขวงจะมีรสขมจัด ภาษิตไทยว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา ชาวบ้านเรามีวิธีการปรุงที่สามารถลดความขมจัด ให้เหลือแค่ขมนิดหน่อยได้ โดยนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ลวกน้ำร้อนที่ใส่เกลือลงไปด้วย เป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก บางคนใช้กินสดๆ แกล้มกับน้ำพริก หรืออาหารที่เผ็ด เค็ม เปรี้ยว เช่น ลาบ ยำ พล่า ส้า ก้อย นำมาแกงใส่ปลาย่าง แกงส้มปลาใส่น้ำมะขามเปียก แกงแบบทางภาคเหนือ เรียก “เจี๋ยว” ใส่แหนม ใส่ไข่ หรือจะทำเป็นผักชุบแป้งทอดกรอบ จิ้มน้ำพริกกะปิ และยังมีเมนูอีกมากมายที่คนบ้านเราคิดค้น หาวิธีกินผักขี้ขวง ที่มากประโยชน์นี้ให้ได้

ตามท้องไร่ท้องนา หลังฤดูกาลการเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นไปแล้ว ในดินยังมีความชื้น มีอาหารไว้ให้ชาวบ้านหากิน บ้างก็มีตามธรรมชาติ บ้างก็ต้องปลูกสร้างบำรุงบูรณะขึ้นมา ผักพื้นบ้านมากมายหลายชนิดที่โลกสรรสร้างให้มวลหมู่ชาวชนได้กินได้ใช้เป็นอาหาร เป็นยา หน้าแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว อากาศเย็นสบาย บางทีถึงหนาว แต่ก็ไม่หนาวจัดจนทำอะไรไม่ได้ เป็นโชคดีของบ้านเรา แต่สภาพเช่นนี้ เป็นอันตรายต่อคน 2 ประเภท หนึ่ง ขี้เกียจสันหลังยาว สอง หมกมุ่นจมปลักอยู่แบบคนหัวสมัยใหม่ในโลกเทคโนโลยี มุ่งสู่แต่อนาคต ไม่เหลียวหลังมองอดีต ไม่ยอมรับปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงในปัจจุบัน นั่นแหละอันตรายอย่างมหันต์ ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน สมุนไพรพื้นบ้าน คือชีวิตความเป็นอยู่อย่างพื้นบ้าน จึงเป็นสังคมที่น่าจะอยู่รอดอย่างมั่นคงที่สุด