ธนาคารที่ดิน นวัตกรรมทางสังคม กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ไม่ว่าจะเป็นความพยายามจัดสรรทรัพยากรที่ดินอย่างเหมาะสม ความพยายามพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง หรือความพยายามกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ผ่านนโยบาย กลไก เครื่องมือ และหน่วยงานต่างๆ แต่การกระจุกตัวของความร่ำรวยและความมั่งคั่งที่สะท้อนผ่านการจัดอันดับทรัพย์สินมหาเศรษฐี ในทรัพย์สินที่ว่านั้นส่วนหนึ่งคือ อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ยังแสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งกับความพยายามเหล่านั้น

ที่ดิน คือความมั่นคงในชีวิต คือความมั่นคงทางอาหาร

10% ของผู้ถือครองโฉนด
ครอบครองพื้นที่ 62% ของประเทศ

ข้อมูลจาก เศรษฐสาร นำเสนอโดย ธนศักดิ์ เจนมานา เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ฉายภาพชัดเจนว่า กลุ่ม Top 1% ในประเทศไทย คือกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด จำนวน 5.2 แสนคน จากประชากรวัยทำงาน ประมาณ 52 ล้านคน และเมื่อจำแนกบุคคลกลุ่ม Top 1% เป็นสองกลุ่มย่อย ชั้นที่ 1 คือกลุ่มผู้ประกอบการ (Entrepreneur) มีจำนวนหลายพันถึงหมื่นคน ครอบครองทุนและที่ดินจำนวนมหาศาล รายได้หลักมาจากการเป็นเจ้าของทุนและกิจการ ตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด จำนวน 50 ราย ที่ Forbes จัดอันดับทุกปีอยู่ในกลุ่มนี้

และคนกลุ่มบนนี้เองที่ครอบครองครองโฉนดที่ดินอยู่ในระดับสูงทั้งในนามบุคคลและนิติบุคคล นั่นคือมีจำนวน 1.6 ล้านราย ซึ่งเท่ากับ 10% ของผู้ถือโฉนด แต่ครอบครองพื้นที่ถึง 62% ของประเทศ ที่ดิน 320 ล้านไร่ 128 ล้านไร่ เป็นของเอกชน ที่สาธารณประโยชน์ที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย 7.4 ล้านไร่ ที่ราชพัสดุ 12 ล้านไร่ และต้องตรวจสอบอีกว่าเป็นที่ในเขตทหารจำนวนเท่าใด

การเข้าถึงที่ดิน คือจุดเริ่มการพึ่งพาตนเองและการเข้าถึงที่อยู่อาศัย

ยุบเลิก บจธ. สู่องค์กรใหม่
ขับเคลื่อนภารกิจกระจายการถือครองที่ดิน

สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. คือหนึ่งในหน่วยงานของรัฐที่ประกาศนวัตกรรมในการบริหารจัดการ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาเมื่อ พ.ศ. 2544 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2562 ให้สถาบันฯ ดำเนินภารกิจตามวัตถุประสงค์ 5 ข้อ

หนึ่งในนั้นคือดำเนินการเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน และมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม และจัดตั้งธนาคารที่ดิน

การเปิดรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินฯ ภาคเหนือ

มาตรา 40 ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ ให้สถาบันเป็นอันยุบเลิกเมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) มีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน หรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน

(2) เมื่อพ้นวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในที่ดิน
คือการกระจุกตัวของที่ดิน

“การเปลี่ยนชื่อจากธนาคารที่ดินเป็นสถาบันบริหารจัดการที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เป็นหน่วยงานที่จะมาทำหน้าที่ในการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ใช่ธนาคารที่มาทำหน้าที่สถาบันการเงิน แต่บริบทที่สำคัญคือเป็นหน่วยงานที่มาทำหน้าที่โดยเน้นมิติด้านสังคม คือ การช่วยเหลือและส่งเสริมการเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมและเต็มศักยภาพ เพราะปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในที่ดินคือการกระจุกตัวของที่ดิน ดังนั้น การสนับสนุนเพียงแต่มิติด้านการเงินไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายตัวของที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาการได้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือการให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อเพิ่มศักยภาพของที่ดิน และก่อให้เกิดรายได้อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เป็นร่างกฎหมายที่มุ่งเน้นด้านสังคมเป็นหลักเพียงจำเป็นที่จะต้องใช้เงินมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภารกิจของงาน โครงสร้างร่างกฎหมาย แบ่งออกเป็น 6 หมวด 60 มาตรา และ 1 บทเฉพาะกาล” คุณกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน อธิบาย

คุณกุลพัชร ภูมิใจอวด

พ.ร.บ. ใหม่ ต้องมาควบคู่กับกฎหมาย 4 ฉบับ ของภาคประชาชน
“เรื่องที่ดินเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คำว่ายั่งยืน มันต้องมีสิทธิชุมชน ไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นรายบุคคล ธนาคารที่ดิน หรือ พ.ร.บ. ตัวใหม่จะสมบูรณ์แบบได้ต้องมาควบคู่กับกฎหมาย 4 ฉบับ ของภาคประชาชน ส่วนกองทุนธนาคารที่ดิน จะทำอย่างไรให้ธนาคารที่ดินมีเงินเพื่อจะไปแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ทั่วประเทศ ถ้าเรามีภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เมื่อที่ดินกระจุกตัว แล้วมีการจัดเก็บภาษี คนที่มีที่ดินเยอะ ก็จัดเก็บภาษีสูงกว่าภาษีปกติธรรมดา มันจะลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมาก คือใช้ภาษีที่ดิน ไปกระจายที่ดิน นั่นคือเป้าหมายของพวกเรา” ดิเรก กองเงิน สมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ให้ความเห็น

หน่วยงานใหม่
อยากให้มีคนรุ่นใหม่มาช่วยบริหาร

“หน่วยงานใหม่ก็อยากให้มีคนรุ่นใหม่มาช่วยบริหาร เพราะการต่อสู้ของพี่น้อง เรื่องที่ดิน ผืนป่า ทรัพยากรธรรมชาติ เรามีคนรุ่นใหม่มาร่วมกันปกป้อง กับเรื่องสิทธิชุมชน ที่ชุมชนต้องช่วยกันดูแล ณ ปัจจุบัน บจธ. เปิดรับฟังความคิดเห็น ให้พี่น้อง ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ ตัวใหม่ ถ้าเป็นไปแบบที่ภาคประชาชนกำหนดหรือว่ามีกฎหมาย มีระเบียบนี้ขึ้นมา เราถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่จะแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องเรา ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องภาคเหนือ แต่มันไปทั่วประเทศ” สุแก้ว ฟุงฟู ผู้แทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าว

สุแก้ว ฟุงฟู (ซ้าย) และ ดิเรก กองเงิน กับการขับเคลื่อนธนาคารที่ดิน และสิทธิชุมชน

บจธ. เปิดรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ. ใหม่
วิถีใหม่ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

บจธ.เปิดรับฟังความเห็น ร่างพระราชบัญญัติสถาบันบริหารจัดการที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ….. ไปแล้วในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ จึงต้องออกแบบการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน โดยส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดทั่วประเทศ องค์กรชุมชนและเกษตรกร ให้ครบทุกกลุ่ม โดยมุ่งเน้นที่ภาคเกษตร หรือผู้ที่มีอาชีพเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว เช่น สภาองค์กรชุมชน สภาเกษตรจังหวัด กลุ่มองค์กรชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบท กลุ่มชาติพันธ์ทั่วประเทศ

ผังแปลงที่ดิน

ขณะที่ภาคเอกชนได้มีการสอบถามไปหลายหน่วยงาน เช่น สภาหอการค้าประจำจังหวัดต่างๆ หลังจากที่รับฟังความคิดเห็นฯ แล้วรวบรวมความคิดเห็นและนำมาพิจารณาผ่านคณะทำงาน คณะอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนภาคประชาชนเพื่อร่วมกันพิจารณา หลังจากนั้นจึงจะเสนอคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน เพื่อเสนอรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล บจธ. พิจารณาเห็นชอบ แล้วจึงจะดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ต่อไป

ที่ดิน คือปัจจัยหลักการเริ่มต้นของชีวิต

การดำเนินงานของสถาบันฯ มี 4 ส่วน ดังนี้

1. การบริหารจัดการที่ดินและการกระจายการถือครอง เพื่อทำหน้าที่กระจายการถือครองที่ดินและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้แก่เกษตรกร ผู้ยากจน ที่รวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชนและมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการใช้ประโยชน์ในที่ดินด้วยการประกอบการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

2. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่จะสูญเสีย หรือได้สูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินจากการจำนอง ขายฝาก และการถูกบังคับคดี

3. การสนับสนุนด้านอาชีพ เพื่อเกษตรกร ผู้ยากจน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในที่ดินที่ได้รับการสนับสนุน

4. ดำเนินการด้านงานวิชาการ งานวิจัย เพื่อศึกษาค้นคว้างานวิจัยและนวัตกรรม เสริมสร้างความรู้เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการที่ดินให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน