เผยสูตรอาหารสัตว์ ต้นทุนต่ำ เลี้ยงลูกหมูโตเร็ว ได้กำไรดี

หลายคนบ่น ยุคนี้ข้าวยากหมากแพง ต้นทุนค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ไม่คุ้มกับต้นทุนค่าจ้างแรงวันละ 300 บาทเลย ภาคเกษตรก็เจอภาระต้นทุนที่สูงขึ้นเช่นกัน ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าอาหารสัตว์ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายของเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ จึงขอแนะนำสูตรการผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำจากทั่วประเทศมาฝากกัน ซึ่งมีขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก สามารถใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น

อาหารสัตว์ต้นทุนต่ำสูตรแรก เป็นของ ผู้ใหญ่สงบ หาญกล้า แห่งบ้านดอนตะหนิน 18 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองค่าย อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา และเป็นเจ้าของศูนย์เครือข่ายเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์อินทรีย์ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ที่นี่ทำการเกษตรแบบไม่พึ่งพาสารเคมี และมีการศึกษาเรียนรู้วิธีการนำเอาวัสดุจากธรรมชาติมาใช้ในการลดต้นทุนอย่างได้ผล การลดต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยง ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

ผู้ใหญ่สงบ เลี้ยงหมูหลุมรุ่นละ 10 ตัว ระยะเวลาเลี้ยง 4-5 เดือน ต่อรุ่น มูลหมู นำไปใส่แปลงปลูกพืช ผัก และการเลี้ยงหมูหลุมลดรายจ่าย ประหยัดมากกว่าการเลี้ยงหมูปกติ และไม่มีปัญหากลิ่นและน้ำเสียจากการล้างคอก อาหารที่ใช้เป็นผักผสมกับปลายข้าวต้ม ผสมกับรำ หยวกกล้วย และผักโขม

ผักโขม พืชผักพื้นบ้าน ที่สามารถนำมาเลี้ยงหมูได้ดี

ผักโขมโด่งดัง เพราะป๊อบอายส์ตัวการ์ตูนกะลาสีที่กินเป็นประจำจนแข็งแรงทั้งๆ ที่ตัวเล็กนิดเดียว เนื่องจากผักโขมมีธาตุเหล็ก ซัลเฟอร์ เบต้าแคโรทีน แมกนีเซียม และแคลเซียมสูง สำหรับผักโขมพันธุ์พื้นบ้านไทย มีลักษณะเป็นต้นเตี้ยๆ เล็กๆ ชาวบ้านชอบเก็บเอามาต้มให้สุก กินกับน้ำพริก หากใครมีโอกาสซื้อผักในตลาดสดท้องถิ่น ให้ลองสังเกตผักโขมบ้านที่ชาวบ้านและกำเป็นมัดสั้นๆ วางขาย ผักโขมบ้านจะมีใบเขียวเข้มกว่าและใบเล็กนิดเดียว แต่นำมาปรุงเป็นอาหารสำหรับคน หรือต้มเป็นอาหารเลี้ยงหมูก็มี  คุณประโยชน์ไม่แพ้กัน

สำหรับเคล็ดลับที่สอง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยแห่งชาติ 2553 ของ คุณพิณซอ กรมรัตนาพร ผศ. เสรี แข็งแอ และ ผศ.สาธิร พรตระกูลพิพัฒน์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่แนะเลี้ยงหมูขุน ได้กำไร ด้วยพืชอาหารหมัก โดยนำ  ข้าวโพดต้นอ่อน ใบมันสำปะหลังตากแดด 1 แดด ยอดอ้อย หยวกกล้วย นำพืชเหล่านี้มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ขนาด 0.5 เซนติเมตร นำมาหมักกับกากน้ำตาล เป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น นำมาคลุกเคล้ากับรำ ปลายข้าว และหัวอาหารสุกร หากนำสูตรนี้มาให้หมูขุนกินจะได้ โปรตีน 16% หากใครต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สถานีฟาร์มฝึกนักศึกษา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บ้านทรัพย์ไพศาล ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย โทร. 042- 801-096

เคล็ดลับที่สาม มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรคนเก่งคือ คุณณรงค์ สุรธรรม อยู่บ้านเลขที่ 278 หมู่ที่ 1 บ้านอาฮี ตำบลอาฮี อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย คุณณรงค์ เลี้ยงหมูหลุมแบบโบราณ ต่อมาได้พัฒนาเป็นการเลี้ยงหมูแบบชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยง

การเลี้ยงหมูแบบชีวภาพ นำอาหารวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาทำเป็นอาหารเลี้ยงหมู เช่น กล้วยดิบ มันสำปะหลัง มะละกอ ใบกระถิน มาใช้เลี้ยงหมูแล้ว ยังสามารถใช้เลี้ยงวัวและปลาได้อีกด้วย พบว่า หมูเจริญเติบโตดีมาก 5 เดือน ก็สามารถขายได้แล้ว โดยที่เราไม่ต้องเลี้ยงด้วยหัวอาหารแต่อย่างใด และยังลดต้นทุนโดยไม่ต้องซื้อหัวอาหารที่มีราคาแพง

ฟาร์มหมูหลุม

ข้อดีของการเลี้ยงหมูแบบชีวภาพก็คือ ลดต้นทุนโดยเฉพาะหัวอาหารได้ประมาณ 70-80% ด้วยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดปัญหาการทำความสะอาดคอกบ่อยๆ คอกหมูไม่มีกลิ่นเหม็น สัตว์ที่เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรง จำหน่ายได้ราคาดี และยังได้ปุ๋ยแบบธรรมชาติจากมูลหมูไปใช้ประโยชน์ได้

ส่วนหนึ่งที่ทำให้การเลี้ยงหมูแบบชีวภาพประสบความสำเร็จก็คือ จะต้องเป็นหมูลูกผสมพันธุ์ดี อาหารดีคือ อาหารธรรมชาติ โรงเรือนถูกลักษณะ การจัดการที่ดี มีการป้องกันโรคที่ดี การเลี้ยงหมูในลักษณะนี้ โรงเรือนที่เลี้ยงหมู ควรตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นเนิน น้ำท่วมไม่ถึง การระบายน้ำดี อากาศถ่ายเท สร้างโรงเรือนตามแนวทิศตะวันออกและตะวันตก ขนาดกว้างที่เหมาะสม 3×3.50 เมตร โดยสามารถเลี้ยงได้คอกละ  3-5 ตัว โดยไม่ต้องราดซีเมนต์ โดยใช้แกลบเทในคอกเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นแฉะ แกลบที่ผสมกับขี้หมู สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับอาหารที่เลี้ยงหมูแบบชีวภาพนั้น ต้องคำนึงถึงอาหารที่มีในท้องถิ่น สามารถหาได้ง่าย เช่น อาหารสด ได้แก่ กล้วยน้ำว้า มะละกอทั้งดิบทั้งสุก ผักสดต่างๆ มันสำปะหลังที่ตากแห้งแล้ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งฝักสดและแห้ง ซึ่งจะมีหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี นอกจากนั้น ก็จะมีจำพวกอาหารเสริม ซึ่งเป็นอาหารที่สำคัญอย่างยิ่งคือ น้ำหมักชีวภาพซึ่งหมักจากพืชต่างๆ กับกากน้ำตาล นำมาผสมในอาหารที่เราผลิตขึ้นมาเพื่อให้หมูกิน

เมื่อนำน้ำหมักชีวภาพผสมให้หมูกิน จะมีข้อดีก็คือ เพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยอาหารที่สัตว์กินเข้าไป ทำให้สัตว์ได้รับธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพราะสัตว์ประเภทสัตว์ปีกและสุกร เป็นสัตว์กระเพาะเดียว ไม่สามารถย่อยพืชต่างๆ ได้ดีเท่าสัตว์เคี้ยวเอื้อง ทำให้เราประหยัดอาหารได้ถึง 70% ถ้าสัตว์ได้รับน้ำหมักชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าทางน้ำและทางอาหาร

การเลี้ยงหมูแบบชีวภาพ สามารถเลี้ยงตั้งแต่ลูกหมูหย่านม เพื่อไม่ให้หมูสับสนในเรื่องการกิน จะทำให้เกิดเป็นนิสัยในการกินอาหาร ถ้ากินกล้วยดิบก็ดิบไปตลอด โดยจะห้อยกล้วยดิบให้หมูกิน ตัวเล็กก็ห้อยต่ำหน่อยพอให้หมูแหงนกินได้สะดวก ไม่ควรวางกับพื้นดิน ถ้าตัวโตขึ้นก็จะขยับสูงขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนั้น ก็ต้องกำหนดจุดให้อาหารแยกกัน เช่น น้ำ อาหาร กล้วย ควรจะอยู่คนละมุม ในบริเวณคอกเราก็โรยด้วยแกลบและราดด้วยน้ำหมักชีวภาพทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น

อาหารชีวภาพที่นำมาเลี้ยงหมู เป็นวัตถุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น กล้วยดิบ มะละกอ มันสำปะหลัง โดยเฉพาะมันสำปะหลังนั้นจะต้องหั่นให้เป็นมันเส้น ตากแดดให้แห้งสนิทเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา วิธีทำก็เอากล้วยดิบ มะละกอมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วบดรวมกับมันสำปะหลังที่ตากแห้ง ใส่น้ำหมักชีวภาพ ผสมให้เข้ากันดีแล้ว จากนั้นก็เอาไปให้หมู วัว ปลา รวมทั้งเป็ด ไก่ กินได้หมด จากที่เลี้ยงมา หมู 5 เดือน ก็ขายได้แล้ว และหมูก็สมบูรณ์มากตามความต้องการของตลาด และทางการเกษตรอำเภอท่าลี่ ก็มาให้การแนะนำ

ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอท่าลี่ โทร. 042-889-060