ราชมงคลสุวรรณภูมิ รุกช่วยเศรษฐกิจฐานรากสร้างรายได้ให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งก้ามกรามภาคกลาง ชี้พื้นที่กว่า 10,000 ไร่

 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร. สุวรรณภูมิ) ส่งทีมอาจารย์นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลงพื้นที่ทำงานวิจัย เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีบนฐานศักยภาพ ทรัพยากรชุมชน และภูมิปัญญาพื้นถิ่น โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาให้กับชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง ทั้งในศูนย์พื้นที่ที่จัดการเรียนการสอนและพื้นที่ใกล้เคียง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาขวัญ ทองรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี              การอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร. สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโครงการหมู่บ้านวิถีวิทย์กุ้งก้ามกรามองค์รักษ์ ตำบลองค์รักษ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งต่อเนื่องมาประมาณ 30 ปี ในพื้นที่ 10,000 ไร่ สิ่งที่เกษตรกรประสบ คือ ปัญหาหนี้สิน จากการขาดทุนสะสม ต้นทุนการเลี้ยงสูงและได้รับราคากุ้งที่ไม่เป็นธรรมด้วย จึงร่วมมือกับคณาจารย์และนักศึกษาเข้าไปให้ข้อแนะนำโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมไปปรับใช้ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี การเลี้ยงกุ้งให้โตเร็ว ปลอดโรค อัตราการรอดตายสูง ลดต้นทุนการผลิต

พร้อมกับการแปรรูปเพิ่มมูลค่ากุ้งก้ามกราม กุ้งขาวที่มีขนาดเล็กและเสียหายระหว่างการเลี้ยง และการจำหน่าย นำมาแปรรูปเป็นน้ำพริกกุ้งเมืองเหน่อ อาทิ น้ำพริกเผาผัดกุ้ง น้ำพริกกุ้งสมุนไพร โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 37 ราย พื้นที่เลี้ยงกุ้ง 460 ไร่ และจัดให้มีการบริหารจัดการกลุ่มเป็นกลุ่มเลี้ยงกุ้ง กลุ่มแปรรูปกุ้ง และกลุ่มซื้อขายกุ้ง

จากการดำเนินงานโครงการ ระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา สามารถลดการผูกขาดทางการตลาดได้มากกว่า 30% เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม รวบรวมผลผลิตจากสมาชิกออกไปจำหน่าย มีเงินหมุนเวียนในระบบการซื้อขายกุ้งของกลุ่มมากกว่า 3 ล้านบาท ต่อเดือน (จากเดิมไม่มีเลย) ลดการสูญเสียจากการเลี้ยงมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกุ้ง มีแบรนด์สินค้า บรรจุภัณฑ์เหมาะสม สร้างรายได้เพิ่ม ลดหนี้สิน ทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขมากขึ้น ลดความกังวลและเกิดการปรับตัว สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ประการสำคัญภายใต้โครงการนี้ นอกจากเกษตรกรได้ประโยชน์ดังที่กล่าวแล้ว นักศึกษายังได้ร่วมในการออกแบบสร้างแบรนด์สินค้า ออกแบบฉลาก เลือกใช้บรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม นำเทคโนโลยีมาร่วมใช้งานจริง เป็นการเรียนรู้การปฏิบัติจริง ทำให้ มทรส. เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัย