กำจัดศัตรูผลไม้ มะม่วง-มังคุด ส่งออกนอกประเทศ เทคโนโลยีการกำจัดศัตรูผลไม้เพื่อส่งออก

การส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศ ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ เหมือนการส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆ ยิ่งเป็นสินค้าผลิตสดยิ่งมีข้อกำหนดและเงื่อนไขมากมายจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะผลไม้ สิ่งที่ประเภทคู่ค้ากลัวอย่างยิ่ง นอกจากการปนเปื้อนหรือการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชากรของเขาแล้ว ยังมีเรื่องศัตรูพืชที่อาจจะติดไปกับผลผลิตอันอาจจะไปแพร่ระบาดทำลายผลผลิตของประเทศของเขาเสียหายอีกด้วย

นอกจากทุเรียนและลำไย ที่สามารถส่งออกไปต่างประเทศทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว มะม่วงและมังคุด ก็เป็นผลไม้ที่ประเทศไทยพยายามขยายตลาดไปต่างประเทศอย่างจริงจังด้วย แต่ทั้งมะม่วงและมังคุด มีศัตรูพืชสำคัญที่ต่างประเทศกำหนดเป็นศัตรูพืชกักกันซึ่งประเทศไทยต้องมีเทคโนโลยีและวิธีการในการป้องกันกำจัดซึ่งเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าเสียก่อนจึงจะทำการค้าขายกันได้ เช่น การส่งออกมะม่วงส่งออสเตรเลีย และการสั่งมังคุดไปไต้หวัน

 การส่งออกมะม่วงไปออสเตรเลีย

ในคราวการประชุมคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช และมาตรฐานอาหารระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Expert Group on SPS Measures and Food Standards) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ณ ประเทศไทย กรมวิชาการเกษตรได้ยื่นคำขอเปิดตลาดมะม่วงไปยังออสเตรเลีย และในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม 2555 ที่บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย กรมวิชาการเกษตรได้สอบถามความคืบหน้าในการพิจารณาการนำเข้ามะม่วงจากประเทศไทย และขอให้ออสเตรเลียพิจารณาการจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชของมะม่วงโดยวิธีการฉายรังสี

ต่อมาเจ้าหน้าที่กักกันพืชฝ่ายออสเตรเลียเดินทางมาตรวจรับรองสวนมะม่วงที่ผลิตตามระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และโรงคัดบรรจุผลมะม่วงส่งออกไปต่างประเทศตามระบบการจัดการที่ดี (GMP) ที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร และโรงงานฉายรังสีสำหรับมะม่วงในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-15 ธันวาคม 2555

ฝ่ายออสเตรเลียได้ส่งร่างผลการพิจารณาศัตรูพืช (Pest categorization for mango fruit from Thailan) ประกอบการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของมะม่วงมาให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 3-7 กันยายน 2561 ณ เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลียได้ประกาศอนุญาตนำเข้ามะม่วงจากประเทศไทยได้ทุกพันธุ์ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2561 โดยต้องการกำจัดศัตรูพืชกักกัน ด้วยวิธีการฉายรังสีที่ 400 เกรย์

กรมวิชาการเกษตรโดยกลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการทราบ ทำให้เริ่มมีการส่งออกมะม่วงไปยังออสเตรเลียครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562

เมื่อมะม่วงจากประเทศไทยได้รับอนุญาตนำเข้าออสเตรเลียได้แล้ว หากประเทศไทยสามารถเจาะตลาดมะม่วงในออสเตรเลียได้ จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสส่งออกมะม่วงมากขึ้น เนื่องจากออสเตรเลียเป็นประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และออสเตรเลียไม่จำกัดชนิดพันธุ์ของมะม่วงที่อนุญาตนำเข้า

มังคุดไทยสู่ตลาดไต้หวัน

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2546 ไต้หวันโดยสำนักงานกักกันและตรวจสอบสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Bureau of Animal and Plant Health Inspection and Quarantine BAPHIQ) ได้ออกประกาศ (Notification) ทางด้านสุขอนามัยพืชห้ามนำเข้าพืชผักและผลไม้ จำนวน 7 ชนิด คือ มังคุด ลำไย หมาก เงาะ พริก ถั่วฝักยาว และมะเขือเทศจากประเทศไทย เข้าไปจำหน่ายในไต้หวัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 โดยอ้างเป็นพืชอาศัยของศัตรูพืชกักกัน (Quarantine pests) ได้แก่ แมลงวันผลไม้ (Fruit fly) จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ Bactrocera carambolae, B. papaya, B. correcta และ B. zonata

การจะอนุญาตให้นำเข้าไต้หวันได้ประเทศไทยต้องเสนอวิธีการจัดการความเสี่ยง (Risk management) ที่มีประสิทธิภาพ และสามารถกำจัดแมลงวันผลไม้ที่ติดไปกับสินค้าได้ทั้งหมด กลุ่มงานกำจัดศัตรูพืชกักกัน กลุ่มวิจัย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยหาวิธีการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมสำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ โดยทำการศึกษาสถานภาพการไม่ได้เป็นพืชอาศัย (Non-host status) ของแมลงวันผลไม้ดังกล่าวในผลมังคุด ลำไย และหมาก และได้ส่งข้อมูลให้ทางไต้หวันพิจารณา ซึ่งทางไต้หวันได้อนุญาตให้มีการนำเข้าเฉพาะผลหมากสดจากประเทศไทยเข้าไปจำหน่ายยังไต้หวัน ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

สำหรับมังคุดที่จะส่งออกไปไต้หวันได้นั้น ทาง BAPHIQ ได้กำหนดมาตรการให้ประเทศไทยได้เสนอวิธีการความทนทานต่อความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพันธ์ Modified Vapor Heat Treatment MVHT) ในการกำจัดแมลงวันผลไม้ระยะวางไข่ (อายุ 24 ชั่วโมง) ซึ่งเป็นระยะที่ทนทานต่อความร้อนมากที่สุดของแมลงวันผลไม้ 3 ชนิด คือ B. carambolae, B. dorsalis และ B papayae ที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 58 นาที

ประเทศไทยได้ส่งข้อมูลผลการทดลองให้ BAPHIQ พิจารณาและยอมรับผลดังกล่าว จากนั้นกรมวิชาการเกษตรได้เชิญเจ้าหน้าที่ BQPHIQ เดินทางมาตรวจประเมินการทดลองยืนยันการกำจัดแมลงวันผลไม้จำนวนมาก (Large-scale confirmatory test) ในผลมังคุดที่ประเทศไทย

เมื่อวันที่ 16-28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 หน่วยงาน BAPHIQ ได้ส่งเจ้าหน้าที่กักกันพืชไต้หวัน จำนวน 2 ราย คือ Mr.Lin, Chin-Hsiang (Chief Taichung Branch) และ Mr.Wang. Tang-Kai (Specialist) เดินทางมาตรวจประเมินการทดลองดังกล่าว กลุ่มงานกำจัดศัตรูพืชกักกัน ได้ทำการทดลองร่วมกับเจ้าหน้าที่กักกันพืชไต้หวัน

จากผลการทดลอง กระบวนการอบมังคุดด้วยวิธีการอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพันธ์ (MVHT) โดยช่วงแรกของการเพิ่มอุณหภูมิผลขึ้นถึง 43 องศาเซลเซียส อบมังคุดด้วยอากาศร้อน ความชื้นสัมพันธ์ 50-80 เปอร์ซ็นต์ เมื่อมังคุดมีอุณหภูมิถึง 43 องศาเซลเซียส ปรับเปลี่ยนเป็นอากาศร้อนที่อิ่มตัวด้วยไอน้ำ ความชื้นสัมพันธ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้น เพิ่มอุณหภูมิผลมังคุดถึง 46 องศาเซลเซียส และคงไว้ที่อุณหภูมิ นาน 58 นาที พบว่ามังคุดมีระยะไข่ของแมลงวันผลไม้ในผลมังคุดตายทั้งหมด กระบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูง สามารถกำจัดแมลงวันผลไม้ B. carambolae ได้ตามข้อกำหนดของวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้านกักกันพืชสำหรับใช้กำจัดแมลงวันผลไม้ในผลมังคุดก่อนการส่งออกไปไต้หวัน

กระบวนการกำจัดแมลงวันผลไม้ด้วยความร้อน โดยวิธีฉายรังสีและการอบไอน้ำปรับสภาพความชื้นสัมพันธ์ (MVH) เป็นที่ยอมรับให้ใช้เป็นวิธีการกำจัดศัตรูกักกันซึ่งประเทศไทยได้ใช้วิธีการเหล่านี้ในการกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลไม้หลายชนิด ได้แก่ มะม่วง ส้มโอ เป็นต้น เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ