วิเชียร เนียมจ้อย จบ ป.4 ผลิตเครื่องดูดเลน ประสิทธิภาพดีเยี่ยม

ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ถึงจะมีการพัฒนาเมืองให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีชาวบ้านไม่น้อยที่ยังคงทำการเกษตรอยู่ และมีการลอกเลนที่อยู่คู่กับเกษตรกรมาช้านาน   

การลอกเลน ต้องใช้ทั้งกำลังคนและเวลามาก วันนี้อยากจะนำเสนอเครื่องดูดเลนเทคนิคชาวบ้าน ของ คุณวิเชียร เนียมจ้อย เกษตรกรนักประดิษฐ์ที่จบการศึกษาเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่สามารถคิดค้นเครื่องทุ่นแรงในการลอกเลน ที่ผลิตเอง ประหยัดทั้งเวลา ใช้จำนวนคนน้อย และส่งขายไปทั่วประเทศ

คุณวิเชียร อยู่บ้านเลขที่ 40/2 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี 11140

คุณวิเชียร เนียมจ้อย

ก่อนจะทำเครื่องดูดเลน

คุณวิเชียร บอกว่า เมื่อก่อนนั้นทำนาปลูกข้าว แต่ทำไปได้ระยะหนึ่งช่วงนั้นมีพื้นที่จำกัด ต้องเช่าพื้นที่เขาปลูก มีพื้นที่ส่วนตัวเพียงแค่ 3 ไร่ ราคาขายข้าวนั้นไม่ดีนัก จึงหันมาทำสวนแทน เพราะทำสวนใช้พื้นที่น้อยแต่เวลาเก็บผลผลิตนั้นได้มากกว่า เวลาทำสวนยกร่องก็จะมีขี้เลนอยู่ภายในท้องร่อง สมัยก่อนนั้นไม่ได้มีเทคโนโลยีเหมือนในปัจจุบัน เวลาจะเอาเลนออกจากร่องต้องใช้แรงคนและเสียเวลาเป็นจำนวนมาก โดยจะต้องวิดน้ำออกเสียก่อนจึงจะสามารถลงไปทำได้ ต้องจ้างคนมาช่วย เลยอยากจะหาอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องทุ่นแรงที่จะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและประหยัดต้นทุน ในตอนนั้นเห็นเครื่องสูบน้ำ จึงได้ไอเดียขึ้นมา เลยลองผิดลองถูกดัดแปลงเป็นเครื่องดูดเลนขึ้นมา ตอนนั้นอยู่ในช่วง พ.ศ. 2530 ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักนัก ทำเองใช้เอง จนมีวันหนึ่ง มีผู้ใหญ่บ้านเดินมาเห็นคุณวิเชียรที่กำลังใช้เครื่องดูดเลน ราดเลนใส่ต้นกุยช่ายเพื่อเป็นปุ๋ย ผู้ใหญ่บ้านจึงบอกให้ทำเครื่องดูดเลนให้บ้าง เริ่มจากจุดนี้บอกต่อๆ กัน บริเวณรอบๆ คนใกล้เคียงจึงเริ่มลองนำไปใช้บ้าง จึงเริ่มมีคนมาสั่งทำมากขึ้นเรื่อยๆ

สวน

ต้นทุน-ส่วนประกอบ

คุณวิเชียร กล่าวว่า ในตอนนั้นรูปแบบของเครื่องดูดเลนยังไม่ลงตัวนัก ใบพัดไม่ถูกใจ ต้นทุนสูง ก็เลยพัฒนาเปลี่ยนรูปแบบมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน ที่มีต้นทุนต่ำ แข็งแรง ใช้งานได้ดี ใช้น้ำมันเบนซินเป็นพลังงานในการทำงาน ปริมาณการใช้งาน ใน 1 วันเต็มๆ ใช้น้ำมันประมาณ 15 ลิตร เครื่องดูดเลนประกอบไปด้วย ท่อสเตนเลส ปลายหัวเหล็กคล้ายกับถังน้ำมันที่มีใบพัดอยู่ข้างใน สายยางที่ไว้ลำเลียงเลนออก และยางรถสิบล้อ ที่ทำให้เครื่องยนต์สามารถลอยน้ำได้ ส่วนใหญ่คุณวิเชียรจะลงมือผลิตด้วยมือตัวเอง แต่มีตัวหัวดูดและใบพัดต้องสั่งทำ มีต้นทุนอยู่ประมาน 6,000 บาท ไม่รวมเครื่องยนต์ สายยาง ยางรถสิบล้อ ราคาเครื่องยนต์อยู่ที่ 3,500 บาทขึ้นไป อยู่ที่แรงม้าของเครื่อง รวมถึงสายยางด้วยอยู่ที่ความยาวขนาดเท่าไร ยางรถสิบล้อจะอยู่ที่ 600 บาท ราคาจะไม่แน่นอนนัก แล้วแต่ความต้องการของลูกค้าว่าต้องการแบบไหน ใช้ในพื้นที่แบบไหน ราคาขายแบบครบชุด จะราคาประมาณ 18,000-20,000 บาท ใช้เวลาผลิต 2-3 วัน ภายใน 1 วัน เครื่องสามารถดูดเลนได้ประมาณ 100 วา (1 วา เท่ากับ 2 เมตร) ที่สำคัญไม่ต้องสูบน้ำออกก่อน ถ้าใช้แรงงานคนในการลอกเลน 1 วัน จะได้ประมาณ 25 วา และต้องสูบน้ำออกก่อน ถ้าไม่สูบน้ำออกก็จะไม่สามารถเอาเลนออกได้

เครื่องกลึง
หัวดูดเลน
ใบพัด
สายยาง

วิธีใช้

วิธีใช้เครื่องดูดเลน ต้องใช้คนจำนวน 2 คน คนหนึ่งอยู่ในน้ำ เปิดเครื่องให้ใบพัดทำงาน ใช้หัวดูดดูดเลนขึ้นมาเข้าสู่หัวดูดลำเลียงออกไปที่สายยาง ส่วนอีกหนึ่งคนอยู่บนบก คอยจับสายยางไม่ให้สายยางสะบัดและเลือกทิศทางที่ต้องการปล่อยเลนออกมาจากปลายของสายยาง เครื่องดูดเลนสามารถใช้ได้เกือบจะทุกพื้นที่ เช่น บ่อปลา บ่อกุ้ง บ่อขี้หมู ร่องสวน เป็นต้น พื้นที่ที่เป็นอุปสรรคก็จะเป็นพวกพื้นที่ที่ดินเป็นหินหรือกรวดทราย และสิ่งที่ต้องระวังก็คือ เชือกฟาง ขยะภายในร่องสวนหรือบ่อ อาจจะเข้าไปพันกับใบพัดได้ ต้องพยายามเก็บให้เรียบร้อยก่อนที่จะดำเนินงาน เพื่อที่จะให้เครื่องทำงานได้สะดวกต่อเนื่อง

ดูดเลนภายในน้ำ

การขาย

เริ่มจากคนในพื้นที่ยืมทดลองใช้กัน ปรากฏว่าใช้งานได้ จึงบอกปากต่อปาก ค่อยๆ มีการสั่งทำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บริเวณรอบๆ จนมีการสั่งซื้อจากต่างจังหวัดมากขึ้น แต่เมื่อก่อนการขนส่งนั้นลำบากมาก เพราะเครื่องมีขนาดที่ยาว แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาระบบขนส่งที่ดีขึ้น ทำให้สามารถส่งได้ทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2563 สามารถขายได้มากกว่า 100 เครื่อง มีจำหน่ายทั้งครบชุด และแยกชิ้นส่วน” คุณวิเชียร กล่าว

เลนที่ดูดจะออกมาทางสายยาง

‘‘เครื่องมือนี้ใช้ง่าย เคลื่อนย้ายง่าย ไปไหนก็ได้ ใช้คนเพียง 2 คน ในการใช้ น้ำหนักเบา รวดเร็วใช้เวลาไม่เยอะ’’ เจ้าของบอก

สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ทั่วประเทศ ที่ คุณวิเชียร เนียมจ้อย สวนโชควิเชียร บ้านเลขที่ 40/2 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี 11140 FB : วิเชียร เนียมจ้อย LINE/เบอร์โทร. 081-927-7299

เลนที่ถูกดูดขึ้นมา

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2564