เสื่อใบเตยหนาม ผลิตภัณฑ์งามน่าใช้

เสื่อ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อปูรองนั่งหรือนอน บางครั้งใช้บังแดด บังลม บังฝน เสื่อทอด้วยวัสดุหลายชนิด เช่น กระจูด หวาย หรือพลาสติก เกษตรกรบ้านตาอุด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อว่างจากการทำนาทำไร่ก็ไปตัดใบเตยหนามมาทอเป็นเสื่อ พร้อมออกแบบให้มีลวดลายสีสันสวยสดงดงามเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น แล้วนำออกวางขายทั้งในตลาดท้องถิ่นและต่างถิ่น ส่งผลให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้และมีวิถีชีวิตที่มั่นคง เป็นแนวทางที่น่าสนใจ วันนี้จึงได้นำเรื่องราว เสื่อใบเตยหนาม ผลิตภัณฑ์งามน่าใช้  มาบอกเล่าสู่กัน

ต้นเตยหนามพบได้มากในท้องถิ่น

ต้นเตยหนาม เป็นพืชท้องถิ่นที่เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพภูมิอากาศ ทรงต้นทั่วไปคล้ายกับต้นจันทน์ผา ต้นเตยหนามต้องการน้ำปานกลางหรือชอบพื้นที่ชุ่มชื้น ทรงต้นสูง 2-8 เมตร แตกใบที่ส่วนยอด ก้านใบยาวเรียว เกษตรกรบ้านตาอุดจะปลูกต้นเตยหนามตามหัวไร่ปลายนา เมื่อต้นเจริญเติบโตสมบูรณ์ก็ตัดก้านใบมาซอยให้ใบเป็นเส้นเล็กๆ นำไปตากแดดให้แห้งแล้วเก็บมาทอเป็นผืนเสื่อใช้ในครัวเรือนและขายสร้างรายได้

ก้านใบเตยหนามมีความยาวและเหนียวเหมาะที่จะทอเสื่อ

ลักษณะต้นเตยหนาม ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-7 นิ้ว เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ก้านใบจะยาว 3-7 ฟุต ขอบใบทั้ง 2 ข้างและสันกลางใบมีหนามแหลม การตัดก้านใบมาใช้ได้เลือกตัดใบที่สมบูรณ์และอยู่ด้านล่างของลำต้น ตัดครั้งละ 30-50 ใบ ต่อต้น แล้วพักต้น 2-3 เดือน จึงจะเวียนกลับมาตัดใหม่

ธรรมชาติโดยทั่วไปของต้นเตยหนามจะมีความสูงตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป ความสูงต้นทำให้การตัดก้านใบมาใช้งานยาก จึงแก้ไขด้วยการตัดกลางลำต้นออกหรือตัดให้สูงจากพื้นดินขึ้นมาราว 1  เมตรออก เพื่อให้ต้นได้แตกหน่อขึ้นมาใหม่และเจริญเติบโตได้ก้านใบที่สวยงามพร้อมให้ตัดไปใช้งาน

เลือกตัดใบเตยหนามจากด้านล่างของต้น 30 50 ใบต่อต้น

การขยายพันธุ์ เลือกขุดหรือตัดหน่อที่สมบูรณ์จากต้นแม่ออกมาแล้วนำไปปลูก หรือจะเพาะเลี้ยงหน่อพันธุ์ไว้ก่อนก็ได้ เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือในราวต้นฝนหรือเดือนกรกฎาคมจึงนำไปปลูก

คุณลุงบุญเรือง ทองอินทร์ เล่าให้ฟังว่า ได้ทำนาเป็นอาชีพหลักพื้นที่ 30 ไร่ และทอเสื่อใบเตยหนามเป็นอาชีพเสริม ปลูกต้นเตยหนามไว้ราว 100 ต้น เพื่อตัดใบมาซอยเป็นเส้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้งแล้วนำไปใช้ทอเสื่อ ในกรณีที่ใบเตยหนามตากแห้งไม่พอใช้งานก็ไปซื้อจากเพื่อน 15-20 บาท ต่อกิโลกรัม เสื่อที่ทอมีขนาดกว้างและยาว 1.4×2 เมตร และ 1.6×3 เมตร การออกแบบลวดลายบนผืนเสื่อเป็นไปตามความต้องการของตลาด พ่อค้าคนกลางจะซื้อผืนละ 150 บาท และ 200 บาท ตามลำดับ ทำให้ครอบครัวมีรายได้และมั่นคงง

ใช้มีดเลาะเอาหนามที่ขอบและกลางใบออก แล้วซอยให้เป็นเส้นเล็กๆ

คุณลุงวัส สิทธิศร เล่าให้ฟังว่า ได้ทำนาเป็นอาชีพหลัก หลังจากเก็บเกี่ยวและขายข้าวแล้ว หลายคนในชุมชนบ้านตาอุด 40 หลังคาเรือน จาก 95 หลังคาเรือน ได้ทอเสื่อใบเตยหนามเป็นอาชีพเสริม โดยนำใบเตยหนามที่ปลูกมาใช้เป็นวัสดุในการทอเสื่อ เป็นการเสริมสร้างรายได้ให้พอเพียงต่อการยังชีพ

การเตรียมใบเตยหนาม ได้ไปตัดก้านใบเตยหนามตามจำนวนตามที่ต้องการ นำมากองรวมกันไว้ จากนั้นใช้มีดคมเลาะเอาหนามที่อยู่บริเวณสันกลางใบและที่ขอบใบทั้ง 2 ข้างออก ตัดโคนและปลายใบออกให้ได้ขนาดความยาวเท่ากัน แล้วนำไปซอยด้วยเครื่องมือซอยใบเตยหนามให้เป็นเส้นเล็กๆ นำไปตาก 2-3 แดดให้แห้ง จากนั้นนำไปทอเป็นผืนเสื่อ หรือถ้าต้องการสีสันงดงามก็นำไปย้อมเป็นสีธรรมชาติ ตากแดดให้แห้งสนิทจึงนำไปทอ ถ้าจะทอเสื่อภายหลังก็จับใบเตยหนามแห้งมัดให้เป็นกำๆ นำไปตากผึ่งลมไว้ใต้ถุนบ้านหรือในพื้นที่อากาศถ่ายเทง

คุณลุงวัส สิทธิศร นำใบเตยหนามเข้าเครื่องซอยให้ได้ใบขนาดเหมาะสม

คุณลุงเทียน ศรีมาศ เล่าให้ฟังว่า ได้ทอเสื่อเป็นอาชีพเสริม ปลูกต้นเตยหนามกว่า 10 ต้น เสื่อที่ทอจะมีสีสันสดใสงดงามหลายขนาด เช่น ความกว้างและยาว 1.5×2 เมตร และ 1.8×4 เมตร

วิธีการทอ ต้องใช้แรงงานทอ 2 คน คือ คนที่ 1 ทำหน้าที่ส่งใบเตยหนามตากแห้งด้วยกระสวยหรือไม้ส่ง เส้นใบเตยหนามตากแห้งเข้าเครื่องทอ ไม้ส่งเส้นใบเตยมีความยาว 2-3 เมตร ที่ด้านปลายไม้ส่งจะมีที่หนีบ เมื่อส่งเส้นใบเตยหนามจากด้านหนึ่งไปยังด้านที่อยู่ตรงข้ามแล้วจะดึงไม้กลับเพื่อเตรียมสอดส่งเส้นใบเตยแห้งเส้นต่อไป ส่วนคนที่ 2 ทำหน้าที่จัดเส้นใบเตยแห้งให้เข้าที่ เชื่อมต่อให้ชิดกัน จากนั้นหักพับที่ปลายเส้นใบเตยแห้งที่ขอบทั้ง 2 ด้าน แล้วดึงฟืมกระแทกเส้นใบเตยหนามให้แน่นเพื่อก่อให้เกิดรูปแบบลวดลายสีสันงดงามตามที่กำหนด วิธีการทอต้องส่งเส้นใบเตยหนามสลับเชือกตา 1 ลง ตา 2 ขึ้น ทำการทอด้วยวิธีการนี้ไปกระทั่งเสร็จ เสื่อ 1 ผืนใช้ใบเตยหนามแห้งประมาณ 4 กิโลกรัม และแรงงาน 2 คน จะทอเสื่อได้ 1-2 ผืน ต่อวัน

ซอยใบเตยหนามให้ได้ขนาดเท่ากันก่อนนำไปตาก

ตลาด สื่อใบเตยหนามมีหลายขนาด เช่น ขนาดกว้างและยาว 1.5×2 เมตร หรือ 1.8×4 เมตร ขาย 200 บาท และ 250 บาท ต่อผืน ราคาเปลี่ยนแปลงตามกลไกตลาด พ่อค้าคนกลางจะมาซื้อที่ชุมชนเพื่อนำไปวางขายที่ร้านค้าในเมืองหรือตลาดจังหวัดใกล้เคียงเป็นการกระจายผลิตภัณฑ์ออกไปให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ผลิตภัณฑ์อีกส่วนหนึ่งมีวางขายที่ตลาดบ้านตาอุดให้ประชาชนที่มาท่องเที่ยวได้เลือกซื้อไปใช้หรือนำไปเป็นของฝาก

ตากใบเตยหนามบนลานปูน 2 3 แดดให้แห้ง

จากเรื่อง เสื่อใบเตยหนาม ผลิตภัณฑ์งามน่าใช้ เป็นชิ้นงานที่นำใบเตยหนามพืชในท้องถิ่นมาแปรรูปตามแนวคิดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้สีสันงดงาม เป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวมั่นคง สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณลุงเทียน ศรีมาศ บ้านเลขที่ 97/1 หมู่ที่ 1 บ้านตาอุด ตำบลตาอุด อำเภอขุขันธ์ โทร. (088) 047-2406 หรือ คุณลุงบุญเรือง ทองอินทร์ บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 3 บ้านจำนรรจ์ ตำบลตาอุด อำเภอขุขันธ์ โทร. (087) 778-3118 หรือที่ คุณลุงวัส สิทธิศร หมู่ที่ 1 บ้านตาอุด ตำบลตาอุด อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ โทร. (089) 078-2386 ก็ได้ครับ

เกษตรกรบางรายผลิตใบเตยหนามตากแห้งขายเป็นรายได้
คุณลุงเทียน ศรีมาศ และสมาชิกร่วมกันทอเสื่อผืนสวย
สร้างสรรค์ลวดลายให้ได้เสื่อผืนสวย
คุณลุงบุญเรือง ทองอินทร์ เก็บใบเตยหนามตากแห้งไปทอเสื่อ
เสื่อเตยหนามมีวางขายที่ตลาดท้องถิ่นและในเมือง
เลือกซื้อเสื่อเตยหนามผืนสวยไปใช้ประโยชน์