จัดสรรพื้นที่ปลูกมันเทศญี่ปุ่น-เมล่อน สวนผสมผสาน ของเกษตรกรกาญจนบุรี

ปัจจุบันการปลูกผักและผลไม้แบบผสมผสานนั้นเป็นทางเลือกที่ดีในการบริหารจัดการสวนของเกษตรกรให้รายได้ตลอดทั้งปี โดยสมัยก่อนปัญหาใหญ่ของเกษตรชาวไทยคือการปลูกผักหรือผลไม้แบบเดียวทั้งสวนหรือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้รายได้ไม่ทันใช้ในแต่ละปี เพราะผักและผลไม้ส่วนใหญ่จะให้ผลผลิตตามฤดูกาลเท่านั้น

คุณเสมอ การินทร์ เจ้าของสวน

คุณเสมอ การินทร์ เกษตรกรชาวอำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ผู้ที่ปลูกผักและผลไม้แบบหมุนเวียน โดยจุดเด่นของสวนมีทั้งมันเทศญี่ปุ่นม่วงเพอเพิ้ลสวีทโรส เนื้อสีม่วง สายพันธุ์คุริโอกาเนะเนื้อสีขาวและสายพันธุ์ส้มโอกินาวา เมล่อนสายพันธุ์พอทออเร้นจ์ ที่มีลักษณะผิวตาข่าย ในเนื้อสีส้ม กลิ่นหอมสดชื่น กล้วยหอมทอง และผักอื่นๆ มากมาย

“เมื่อก่อนปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกพืชเชิงเดี่ยว แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เลยหันมาปลูกพืชผสมผสานเพราะให้ผลตอบแทนดีกว่า”

แปลงมันเทศญี่ปุ่น

คุณเสมอ บอกด้วยว่า เมล็ดพันธุ์ผลไม้เหล่านี้ หาได้จากท้องตลาดทั่วไป นำมาปลูกที่ดิน ส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม) ที่แบ่งพื้นที่ให้เกษตรกรหลายรายทำกิน ทั้งหมด 50 ไร่ ในจำนวนนี้ มีแหล่งน้ำใช้สำหรับการเกษตร 4 ไร่ ทำให้มีพื้นที่เยอะและสามารถแบ่งพืชปลูกได้หลายชนิด ซึ่งพื้นที่ส่วนของตนเองได้รับการจัดสรรมาประมาณ 10 ไร่ จึงปลูกมันเทศญี่ปุ่นมากที่สุด ที่เหลือแบ่งเป็นกล้วยหอมทอง 4 ไร่ เมล่อน 1 ไร่

คุณเสมอ บอกว่า มันเทศญี่ปุ่นปลูกง่าย สามารถปลูกได้ในดินทุกชนิด ไม่ต้องปรุงแต่งมาก ใช้ดินเดิมๆ มีการให้ปุ๋ยเคมีบ้างแต่ไม่บ่อย ประมาณ 7-15 วัน ต่อครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับโรคและแมลงที่เข้ามารบกวนด้วย หากมีมากก็จำเป็นต้องให้ปุ๋ยเคมีมาก แต่ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ให้ปุ๋ยเคมี

ปัญหาที่พบ ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หากหนาวจัด เมล่อนที่ปลูกจะไม่โต รสชาติหวาน แต่ขนาดไม่ขยาย แต่ถ้าฝนตกมาก มันเทศญี่ปุ่นจะเน่า ทั้งหมดนี้แก้ปัญหาจากประสบการณ์ด้วยการปลูกบนที่ดิน แต่ถ้าสภาพอากาศแล้งก็จะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งแก้โดยการเพิ่มจำนวนครั้งในการรดน้ำ

สวนเมล่อน

“อย่างเมล่อนให้น้ำตอนเช้าและเย็น วันละ 2 ครั้ง จากปกติให้วันละครั้ง หรือ 1-2 วัน ต่อครั้ง ส่วนมันเทศญี่ปุ่นก็ให้ประมาณ 2-3 วัน ต่อครั้ง เพราะตรงสวนมีภูเขาบังทำให้เกิดร่ม และช่วยให้ดินกักเก็บความชื้นในสวนได้ส่วนหนึ่ง ส่วนเมล่อน ถ้าเก็บเกี่ยวช่วงฤดูร้อนก็ประมาณวันที่ 57 ถ้าเก็บช่วงฤดูหนาวก็จะเก็บช่วงวันที่ 65 จากวันที่ปลูก ส่วนมันเทศญี่ปุ่น จะเก็บเกี่ยวได้หลากหลายวันตั้งแต่ช่วง 75-100 วัน หรือ 120 วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า”

หลังจากการเก็บเกี่ยวจะใส่ปุ๋ยคอกหรือหว่านปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง ถั่ว เป็นต้น เป็นเวลา 2 เดือน แล้วกลบบำรุงดิน เพื่อตัดวงจรโรคและแมลง แล้วค่อยกลับมาปลูกพืชหลักแบบปกติ

ส่วนการจำหน่ายผลผลิต โดยปกติจะขายให้ ส.ป.ก.ประดิพัทธ์ ส.ป.ก.ราชดำเนิน ตลาด Gold Market ประชาชื่น และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นการขายจากเกษตรกรสู่พ่อค้าโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง ทำให้รายได้นั้นแบบไม่ถูกแบ่งออกไป

ตอนเก็บเกี่ยว

คุณเสมอ ยังบอกอีกว่า สิ่งที่ขายดีที่สุดในสวนของเขาคือ มันเทศญี่ปุ่น เก็บเกี่ยวมาแต่ละครั้งจะได้ผลผลิตประมาณไร่ละ 2 ตัน คิดเป็นเงินจำนวน 20,000 บาท ยังไม่หักต้นทุนการผลิต หากขายส่งพันธุ์คุริโอกาเนะราคาจะอยู่ที่ยอดละ 2 บาท ไม่รวมค่าขนส่ง ผลกิโลกรัมละ 60 บาท รวมค่าขนส่ง พันธุ์เพอเพิ้ลสวีทโรสและพันธุ์ส้มโอกินาวา ราคายอดละ 1 บาท ไม่รวมขนค่าส่ง ผลกิโลกรัมละ 60 บาท รวมค่าขนส่ง ส่วนเมล่อนนั้น ขายเองจะได้ราคาลูกละ 80-100 บาท แต่ส่งพ่อค้าคนกลางจะตกเหลือลูกละ 40-50 บาท รอบหนึ่งก็จะได้ประมาณ 40,000-50,000 บาท จากประมาณ 2,000-3,000 ต้น

หากผู้อ่านสนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมหรือสั่งสินค้า สามารถติดต่อได้ที่ คุณเสมอ การินทร์ โทรศัพท์ (092) 550-2516 สวนตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 132 หมู่ที่ 8 ตำบลวังไผ่ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี

มันเทศคุริโอกาเนะ

มันส้มโอกินาว่า
เมล่อนพอทออเร้นจ์
มันม่วงเพอเพิ้ลสวีทโรส