ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | ปัญญาลักษณ์ ศรีบุรินทร์ |
เผยแพร่ |
“พุทรา” เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นไม้ผลที่เจริญเติบโตได้เร็ว ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้หลายสิบปีกันเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีทิศทางตลาดไปได้ดีอีกด้วย
คุณสุวิทย์ และ คุณรัศมี ศรีบุรินทร์ 2 สามี-ภรรยา อยู่บ้านเลขที่ 86 หมู่ที่ 12 บ้านน้ำค้อ ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เล่าให้ฟังว่า ตนมีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนา ทำสวน ปลูกอ้อย ฯลฯ แต่หากว่างจากการทำไร่ทำสวนก็จะออกไปขายล็อตเตอรี่ที่ต่างจังหวัด แล้วค่อยกลับมาดูแลไร่สวนตัวเองตามเคย

ซึ่งอย่างที่รู้กันอยู่ว่าในช่วงที่ผ่านมาจนมาถึงตอนนี้เศรษฐกิจบ้านเมืองไม่ค่อยดีนัก “ข้าวยากหมากแพง” การใช้จ่ายต้องระมัดระวังให้มากถึงจะดำเนินชีวิตอยู่รอด แถมบางปีฟ้าฝนไม่เป็นใจ ก็ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอยู่เหมือนกัน จนตนและภรรยาต้องคิด ปรับเปลี่ยน หาปลูกพืชชนิดใหม่ที่จะทำให้เราได้ผลผลิตที่เป็นไปตามเป้าและยั่งยืน
คุณสุวิทย์ เล่าว่า เริ่มแรกได้ตัดสินใจปลูกส้มเขียวหวาน บนเนื้อที่ 4 ไร่ ของตนเอง ตอนแรกก็ให้ผลิตดี ลูกดก แต่พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นลูกไม่สมบูรณ์ รสชาติไม่โดนใจตลาด ส่งขายลำบาก เริ่มเกิดอาการท้อ

จนมีคนแนะนำให้ไปศึกษาดูแปลงปลูกพุทราที่บ้านท่าดีหมี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จนเกิดแรงฮึดอีกครั้ง เลยได้สั่งซื้อต้นพันธุ์พุทรามาจากจังหวัดเชียงใหม่ ในราคาต้นละ 70 บาท ปลูกบนพื้นที่ 4 ไร่ ของตนเอง จำนวน 250 ต้น ผลคือ ให้ผลผลิตดี เป็นไปตามเป้า ดูแลไม่ยาก สร้างผลกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ
ที่สวนคุณสุวิทย์ปลูกพุทราทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ พุทราก้นแหลม พุทราสามรส พันธุ์นมสด แต่ที่เน้นคือ “พุทราซุปเปอร์จัมโบ้” เพราะมีผลที่ใหญ่ เท่าลูกแอปเปิ้ลเลยก็ว่าได้ ติดผลดก มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กรอบ หวานอร่อย กินได้เต็มๆ คำ เป็นที่ต้องการของตลาด เรียกได้ว่าถ้าได้มาชิมพุทราพันธุ์นี้ที่สวน กล้าบอกได้เลยว่า “พุทราซุปเปอร์จัมโบ้” รสชาติยอดเยี่ยมไม่เป็นสองรองใคร


คุณสุวิทย์ เล่าว่า การปลูกพุทรานั้นหากเราซื้อต้นพันธุ์ได้ไม่ตรงตามสายพันธุ์ที่เราต้องการ เราต้องมาเสียบยอดพันธุ์ใหม่แทน โดยนำต้นพุทราปลูกลงดินที่เตรียมไว้ ระยะห่างระหว่างต้น อยู่ที่ 6×6 เมตร ปล่อยให้รากเจริญเติบโตประมาณ 2 สัปดาห์ จากนั้นตัดต้นให้เหลือประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อให้ยอดแตกออกมาใหม่ รดน้ำให้ดินชุ่มชื้นสม่ำเสมอ พร้อมใส่ปุ๋ยเดือนละครั้ง จากนั้นประมาณ 3 เดือน กิ่งและรากฐานแข็งแรง ช่วงนี้ให้เสียบยอดพุทราพันธุ์ต่างๆ ได้เลย
การคัดกิ่งพันธุ์พุทราที่มาเสียบยอด กับต้นพันธุ์พุทรา ต้องเลือกกิ่งที่มีความสมบูรณ์จากต้นที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป แล้วนำยอดพันธุ์อื่นที่เราต้องการมาเสียบยอด แล้วพันเทปเพื่อเชื่อมกิ่งพันธุ์กับต้นตอไว้ให้แน่น ประมาณ 1 เดือน กิ่งก็จะเชื่อมติดกัน หลังจากนั้นให้ดูแลบำรุงต้น โดยใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15
เมื่อต้นเริ่มแตกกิ่งแตกยอดพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ให้นำไม้ไผ่มาทำโครงสร้างเพื่อค้ำกิ่งพุทราไว้ไม่ให้หักไปตามกระแสลม และยังช่วยในการติดดอกได้ดีอีกด้วย ซึ่งหากกิ่งพุทรากิ่งไหนหัก ไม่ว่าจะเป็นกิ่งเล็กกิ่งใหญ่เมื่อออกผลโตเต็มที่จะสังเกตเห็นเลยว่ารสชาติจะออกฝาดแน่นอน


เมื่อเริ่มติดดอกออกผล ขนาดเท่าเหรียญ 10 บาท ให้นำถุงพลาสติกมาห่อผลพุทราให้ได้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงรบกวน และใช้ตัวล่อดัก ห้อยไว้รอบสวน พร้อมใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ทุกๆ 10 วัน เพื่อบำรุงผลให้สมบูรณ์
เมื่อผลผลิตใกล้เก็บเกี่ยว ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 0-0-60 เพื่อเร่งความหวาน เพิ่มคุณภาพของผลผลิต พร้อมให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง หรือหากสังเกตเห็นพื้นดินเริ่มแห้งก็ต้องหมั่นให้น้ำสม่ำเสมอ ซึ่งถ้าพุทราขาดน้ำจะมีรสชาติฝาด แต่ถ้าให้เยอะเกินไป ก็จะมีรสชาติจืด ดังนั้นต้องให้ในปริมาณที่พอเหมาะ
หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยประมาณเดือนพฤษภาคม ต้องเริ่มตัดแต่งกิ่งพุทราออกให้หมด ให้เหลือแต่ตอ เพื่อให้พุทราแตกยอดออกใหม่ และต้องหมั่นให้น้ำสม่ำเสมอ พร้อมใส่ปุ๋ยบำรุงต้น สูตร 15-15-15 ด้วย คุณสุวิทย์ บอกย้ำ


ส่วน คุณรัศมี บอกว่า ปีนี้ถือได้ว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวยอย่างมาก น้ำดี ลมไม่แรง ทำให้ผลผลิตพุทราเป็นที่น่าพอใจ ลูกใหญ่ เก็บตอนชุดแรก 5-6 ลูก ต่อกิโลกรัมกันเลย ซึ่งเก็บพุทราตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 4 เดือน เป็นไปตามเป้าที่คาดการณ์
เก็บผลผลิตได้ 15 ตัน เฉลี่ยรายได้ วันละ 6,000 บาท ขายส่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ส่วนใหญ่จะเก็บพุทราอยู่ 2 คนกับสามี เพราะเราต้องการคัดผลพุทราที่มีคุณภาพ หวาน กรอบอร่อยทุกลูก ถึงมือลูกค้า หากจ้างคนช่วยเก็บมากก็จะเพิ่มต้นทุนเราอีก อีกอย่างก็เสี่ยงกับการเก็บลูกยังโตไม่เต็มที่ อันจะเสียลูกค้าเราได้


ถึงปีนี้พุทราจะเป็นไปตามเป้าที่วางกันไว้ แต่ก็เจอกับปัญหาเรื่องการขนส่งเล็กน้อยอยู่เหมือนกัน ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อพุทราถึงหน้าสวน เจ้าของเลยต้องหาช่องทางการขายอีกทางหนึ่ง คือการโพสต์ขายลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งผลตอบรับดีเกินคาด ลูกค้าต่างจังหวัดสั่งกันเข้ามาเยอะ จนเก็บพุทราไม่ทันกันเลยทีเดียว
หากถามว่า การปลูกพุทราครั้งนี้ประสบผลสำเร็จหรือยัง? ก็ต้องตอบว่า “ต้องศึกษา เรียนรู้ พัฒนา ต่อยอดให้เกิดผลผลิตที่ดีมีคุณภาพต่อไป” คุณรัศมี บอกทิ้งท้าย


ท่านใดสนใจเทคนิคการปลูกพุทรา สอบถามได้ที่ คุณสุวิทย์ ศรีบุรินทร์ บ้านเลขที่ 86 หมู่ที่ 12 บ้านน้ำค้อ ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย หรือโทรศัพท์ 087-860-1993