“บักหลอด” ผลไม้ป่าพื้นบ้านที่คิดถึง ระดับเปรี้ยวจี๊ดสะใจ

บักหลอด หมากหลอด บะหลอด ฯลฯ เป็นชื่อเรียกผลไม้พื้นบ้านชนิดหนึ่งในแต่ละท้องถิ่น ที่เมื่อใครได้ประสบพบเห็นก็ต้องเกิดอาการน้ำลายไหล เปรี้ยวปากได้เลยทีเดียว หากคนที่เคยสัมผัสลิ้มลองด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง

จะเห็นได้จากสังคมสมัยนี้เป็นสังคมของโซเชียลมีเดียที่มีการส่งข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วทันใจ เพียงแค่การโพสต์ข้อความหรือรูปภาพที่เป็นช่วงหน้าฤดูกาลของผลไม้ชนิดนี้ผลิดอกออกผลจนสุกงอมเต็มต้นลงบนโซเชียลมีเดีย ก็จะเกิดความรู้สึกโหยหา คิดถึงวันวานกับผลไม้ชนิดนี้ได้อย่างมากเลยทีเดียว ยิ่งคนที่ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัดด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีปฏิกิริยาอาการอย่างไร จะหาซื้อตามท้องตลาดทั่วไปก็คงไม่ได้ เพราะเป็นผลไม้เฉพาะถิ่นที่เกิดตามสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมเท่านั้น

บักหลอด มีลักษณะเป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยเกาะเกี่ยวเรียงตัวยาวไปตามกระแสโดยรอบตามความเหมาะสมของพื้นที่ ก่อเป็นทรงพุ่มสูง 3-6 เมตร พบตามพื้นที่ที่มีภูเขาล้อมรอบ บริเวณที่มีความชื้นสูง แถบทางภาคอีสานตอนบนและภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดเลยก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พบบักหลอดเกิดขึ้น ทั้งการเกิดเองตามธรรมชาติและการปลูกเพื่อการบริโภคในแต่ละครัวเรือน ซึ่งกิ่งก้านของต้นบักหลอดจะมีหนามแหลมเกิดขึ้นตามบริเวณบนก้านใบแผ่ออกอย่างสม่ำเสมอ ถ้าการเก็บไม่ระมัดระวังคงได้บาดแผลหรือเสื้อผ้าขาดไปตามๆ กัน ลำต้นและกิ่งมีเกล็ดสีเทาหรือสีเงินปะปนทั่วบริเวณ ใบเป็นสีเขียวเข้ม ประกอบกับใต้ใบยังเป็นสีเงินสะท้อนด้วยแสงแวววาวราวกับเคลือบเป็นกากเพชรเลยก็ว่าได้ เดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์จะเป็นช่วงที่บักหลอดออกดอก และจะเริ่มสุกงอมในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน แล้วแต่สภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่นั้นๆ ส่วนผลจะเป็นทรงรี เรียวยาว 1-2 เซนติเมตร จะเริ่มตั้งแต่เป็นสีเขียวเข้ม สีเหลือง สีส้ม จนกระทั่งสุกงอมจะกลายป็นสีแดงอมส้ม รสชาติจะมีทั้งรสฝาด หวาน และเปรี้ยว ผสมกันไป ส่วนใหญ่จะเป็นรสเปรี้ยวอมหวานนิดๆ ตามสายพันธุ์ของบักหลอด ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ตามที่พบเห็น ได้แก่ พันธุ์รสหวานและรสเปรี้ยว แต่ละพื้นที่ส่วนใหญ่จะมักพบรสเปรี้ยวมากกว่ารสหวาน ส่วนการขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธี โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ เติบโตได้เร็วในพื้นที่ชุ่มชื่น อากาศค่อนข้างเย็น

บางแห่งปลูกเป็นไม้ประดับ

“บักหลอดกับเด็กน้อยเป็นของคู่กัน” คำพูดนี้เป็นคำที่ผู้เฒ่าผู้เก่าในท้องถิ่นมักนิยามไว้ เพราะจะเห็นได้ว่าเด็กกับบักหลอดเป็นของคู่กันจริงๆ เมื่อได้พบเห็นผลไม้ชนิดนี้เป็นอันต้องแย่งกันกินทุกที ถึงรสเปรี้ยวเด็กก็ยังกินกันได้หรือไม่ก็คงเป็นเพราะความชื่นชอบความคุ้นเคยก็เป็นได้ ขนาดโตเป็นผู้ใหญ่อย่างผู้เขียนเมื่อเห็นรูปภาพบักหลอดก็ยังคิดถึงวันวานแต่ก่อนเก่าที่ผ่านมา เคยเก็บบักหลอดใส่เสื้อผ้าทำเป็นที่ใส่แทนถุงพลาสติกในปัจจุบัน นั่งกินริมน้ำในป่าลำห้วยชวนเพลิดเพลินกับเพื่อนๆ ตามวัย กินหวานกินเปรี้ยวปะปนกันไป พอเปรี้ยวมากก็ใช้วิธีการนวดเบาๆ ให้พอช้ำกัดกินกันทำให้เกิดรสหวานได้เหมือนกัน ทั้งกินกับน้ำจิ้ม กินดิบๆ อย่างเอร็ดอร่อย ราวกับผลไม้นี้เป็นสิ่งมีค่าประจำท้องถิ่นไปแล้ว ที่เมื่อเห็นจะต้องเกิดความรู้สึกเปรี้ยวปาก ต้องหาเก็บมากินทันทีกันเลยทีเดียว ไม่ต้องออกไปซื้อหาตามตลาดให้ยุ่งยาก เก็บตามรั้ว ไร่ สวนเราก็มีกินแล้ว

เริ่มเข้าสี

ส่วนการกินบักหลอดจะกินแบบดิบๆ ไม่ต้องกินกับอะไรก็ได้ แต่ถ้าต้องการความอร่อยยิ่งขึ้นต้องกินกับน้ำจิ้มทั้งน้ำจิ้มแห้ง น้ำจิ้มน้ำ ซึ่งในส่วนของน้ำจิ้มน้ำจะทำเป็นน้ำปลาร้า ก็อร่อยไปอีกแบบหนึ่งแล้วแต่ความชอบ แต่ที่แนะนำควรกินกับจิ้มน้ำผักสะทอนรับรองอร่อยอย่างบอกใคร น้ำผักสะทอนก็คือการนำใบอ่อนผักสะทอนที่เกิดขึ้นมีอยู่ในแต่ละพื้นที่มาแช่น้ำ หมักตามกรรมวิธีท้องถิ่นไว้ในโอ่งหรือภาชนะอื่นๆ ประมาณ 2-3 คืน ให้เปื่อยยุ่ย กรองเอาแต่น้ำ แล้วนำมาต้มประมาณ 8 ชั่วโมง จนเกิดปฏิกิริยากลายป็นน้ำหมักที่จะให้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าทึ่งอยู่เหมือนกัน น้ำผักจะมีสีดำ รสชาติจะออกหวานธรรมชาติ รสเค็มนิดๆ และมีกลิ่นของผักสะทอนเล็กน้อย เป็นอะไรที่ลงตัวเลยทีเดียว การปรุงทำเป็นน้ำจิ้มก็ไม่ยุ่งยาก ใส่น้ำผักสะทอน พริกป่น เกลือ น้ำตาล ข้าวคั่ว ผงชูรส ก็อร่อยสุดยอดแล้ว ยิ่งฝานบักหลอดเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ลงในน้ำจิ้มจนผสมเข้ากันดีแล้วตักขึ้นมาชิม ลิ้มลองแล้วคงไม่ต้องบอกว่ารสชาติความอร่อยเป็นอย่างไร

น้ำจิ้มจากน้ำผักสะทอน

ทั้งนี้ บักหลอดยังเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระได้ และมีสารที่เรียกว่าสารโพลีฟีนอล เป็นสารที่สามารถช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายได้ เป็นยาระบายอ่อนๆ แต่ถ้ากินเยอะก็เป็นยาระบายอย่างรุนแรงได้เหมือนกัน

หากถามว่าในอนาคตข้างหน้าถ้ามีผู้ที่สนใจ นักวิชาการจะมีการพัฒนาต่อยอด ส่งเสริมสายพันธุ์บักหลอดอย่างจริงจังหรือผลักดันบักหลอดไปเป็นพืชเศรษฐกิจ มีการนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ส่งเสริมให้มีการรู้จักการแปรรูป เช่น การแช่อิ่ม การดอง การนำมาทำเป็นไวน์หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดจุดเด่นความแปลกใหม่ นำไปสู่การจัดการ วางขายตามท้องตลาดทั่วไปนั้นคงเป็นไปได้ไม่ยากเกินความตั้งใจ แต่ต้องทำให้เป็นที่ต้องรู้จักและลองชิมของกลุ่มคนทั่วไปด้วยจึงจะเกิดความชื่นชอบในรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของผลไม้ชนิดนี้ได้ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าหากคิดว่าจะทำกันขึ้นแบบทันทีทันใดให้ประสบผลความสำเร็จคงเป็นไปได้ยาก คงต้องค่อยเป็นค่อยไป ดูปัจจัยภายนอก พื้นที่การปลูก การตอบรับของตลาดและอื่นๆ ประกอบกัน จะเป็นการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ยากเกินรอ

แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ที่ FB ก็ได้ครับ

เฉือนเนื้อเหลือเมล็ด
เริ่มมีการซื้อขาย

 

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2564