“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านตาหนึก” @ตราด ชูผลิตภัณฑ์แปรรูป สร้างตลาดออนไลน์สู้โควิด-19

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านตาหนึก” หมู่ที่ 5 อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นอีกกลุ่มที่มีศักยภาพ สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิก จากการแปรรูปผลผลิตทางประมง เพิ่มมูลค่าได้มากกว่า 20 ผลิตภัณฑ์ หลายผลิตภัณฑ์ดีเด่นได้รับคัดสรรโอท็อป ระดับ 4 ดาว และได้รับการรับรองเป็นสินค้าปลอดภัย การบริหารของกลุ่มและสร้างผลิตภัณฑ์ที่มาตรฐานได้รับรางวัลจำนวนมากทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และได้รับรางวัลกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดีเด่น อันดับ 3 ระดับประเทศ ประจำปี 2563 จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็น 1 ใน 5 จังหวัด ได้รับคัดเลือกประเมินเป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่นกลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำระดับประเทศของกรมประมง

คุณสวน จันทบาล เหรัญญิก

เกือบ 6 ปี แบรนด์ “ตาหนึก”

ต่อยอดผลิตภัณฑ์กว่า 20 ชนิด เป็นแหล่งเรียนรู้

คุณฐิติรัตน์ ไชยวิศาลธนนาถ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านตาหนึก เล่าว่า ชุมชนอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เกือบ 100% มีอาชีพทำประมงพื้นบ้าน เดิมขายปลา ปู กุ้ง หอยสดๆ ไม่ได้ราคามากนัก เกิดพายุลมแรงทำประมงไม่ได้ก็ไม่มีรายได้ ด้วยบริเวณชายทะเลนี้มี “เคย” (กุ้งขนาดเล็กใช้ทำกะปิ) เป็นจำนวนมาก และเป็นเคยชั้นดี เรียกว่าเคยแม่ลูก จะมีตามฤดูกาลช่วงระยะเวลาสั้นๆ 3-4 เดือน เดิมพี่ๆ น้องๆ จะรวมกันทำกะปิ อาหารทะเลแปรรูปง่ายๆ ปลาเค็ม หมึกแห้ง ขายบริเวณริมทางถนนสายสุขุมวิท ตราด-คลองใหญ่ พอมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ต่อมาปี 2558 จึงได้รวมกลุ่มกัน 7 คน จดทะเบียนตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านตาหนึก” เพื่อแปรรูปอาหารทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ เริ่มต้นล้มลุกคลุกคลาน แต่ค่อยๆ พัฒนาเรื่อยๆ สมาชิกเพิ่มขึ้น 17 คน มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ อาคารโรงเรือน ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป การสร้างแบรนด์ให้สินค้ามีมาตรฐานและด้านการตลาด เช่น กรมพลังงาน สำนักงานเกษตรอำเภอคลองใหญ่ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคลองใหญ่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตราด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานจังหวัดตราด) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดตราด หน่วยงาน นพค. 14 รวมทั้งสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด

กรรมการและสมาชิก

“ชุมชนบ้านตาหนึก มีวัตถุดิบอาหารทะเลที่สด สะอาด จำนวนมาก แรกๆ เราแค่กะปิ ปลาเค็ม ปลาหมึกแห้ง เมื่อหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ช่วยกันอย่างบูรณาการ กรมพลังงานสนับสนุนโรงเรือนอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่มาตรฐาน สะอาด และทำได้จำนวนมาก วิทยาลัยชุมชนตราดมาส่งเสริมให้ทำผลิตภัณฑ์แปรรูป ทำน้ำพริกต่างๆ เช่น น้ำพริกปู น้ำพริกเกลือกั้ง น้ำพริกเคย น้ำปลาหวาน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสอนเรื่องแพ็กเกจจิ้ง หาตลาดจำหน่าย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานอบรมเรื่องการทำตลาดออนไลน์ เกษตร นพค.14 ช่วยสนับสนุนตู้แช่เย็นอุปกรณ์การแปรรูป แพ็กกิ้ง และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด ช่วยด้านการตลาดกับเพื่อนบ้าน ทำให้กลุ่มเราเติบโตมาได้เรื่อยๆ เกือบ 6 ปีเต็มมีผลิตภัณฑ์แปรรูปกว่า 20 ชนิด สร้างแบรนด์ “ตาหนึก” เป็นที่รู้จัก ได้รับรางวัลจากหลายหน่วยงาน และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทั้งในประเทศและเพื่อนบ้าน สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ต้องไปหางานทำที่อื่น” คุณฐิติรัตน์ กล่าว

กระเช้าของขวัญ

กะปิแท้เคยแม่ลูก

อาหารทะเลแปรรูปยอดนิยม

คุณดวงพร ขันนาค รองประธานกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านตาหนึก อายุ 54 ปี เล่าว่า รุนเคยมากว่า 40 ปี บริเวณหน้าหาดใกล้ๆ หมู่บ้านตาหนึก ปีหนึ่งมีช่วงเวลาเดียวที่มีเคย ตอนลมตะเภาหรือลมที่พัดจากทะเลเข้าสู่ชายฝั่ง คือเดือนมีนาคม-เมษายน บางปีพฤษภาคม-ตุลาคม-พฤศจิกายน การรุนเคยต้องน้ำนิ่ง ใส เห็นตัวเคยรวมกลุ่มเป็นก้อน คนรุนเก่งหลายรอบๆ ทั้งวันจะได้ถึง 100 กิโลกรัม ถ้ารอบเดียวได้ 30-40 กิโลกรัม เครื่องมือรุนเคย “ลวะ” ต้องทำเอง ขนาดยาว 4-5 วา (8-10 เมตร) เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา ใช้คันไม้ไผ่ทำ ส่วนผ้าอวนซื้อหัวละ 700-800 บาท รุนเคยต้องมีความชำนาญ ใช้แรงมาก ฝูงเคยในน้ำไม่ลึกจะมองเห็น หากน้ำลึกต้องสังเกตว่ามีตัวเคยมาตอดขา เคยที่บ้านตาหนึกเป็น “เคยแม่ลูก” ลักษณะมีตัวเล็กตัวใหญ่ในฝูงเดียวกัน มีความพิเศษคือ เคยสะอาด เปลือกไม่หนา ทำกะปิหรือปรุงอาหารเนื้อกะปิจะเนียนละเอียด มีรสหวาน กลิ่นหอม ตัวเคยมีสีชมพูแดง

คุณฐิติรัตน์ ไชยวิศาลธนนาถ

คุณฐิติรัตน์ เล่าว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่า มีทั้งเคย ปูม้า กั้ง ปลา ปลาหมึก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่รับรองความสด ไม่มีสารเคมี ตากในโรงเรือนป้องกันฝน แมลง สิ่งปนเปื้อน สะอาด ปลอดภัย เมื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐาน ที่จำหน่ายขายดีคือ เคย นอกจากขายเป็นตัวเคยสดกิโลกรัมละ 20-30 บาท (ช่วงที่ได้เคยมากๆ) แล้ว ส่วนใหญ่ใช้ทำ “กะปิเคยแท้ตราตาหนึก” เป็นผลิตภัณฑ์เด่นชิ้นแรกที่ได้โอท็อป 4 ดาว น้ำเคย น้ำเคยไข่ (คล้ายน้ำปลา) ขายดีมาก ล่าสุดน้ำพริกเคยแซ่บ ผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ยังคงจำหน่ายได้ เคยสามรส น้ำเคยข้าวยำสมุนไพร น้ำพริกเคยน้ำปลาหวาน น้ำพริกปู น้ำพริกเกลือกั้ง น้ำพริกเกลือกุ้งแห้ง น้ำพริกปลาข้าวสาร และปลากุเลา-ปลาอินทรีเค็ม ปลาอินทรีในน้ำมันพืช ปลากะตักแห้ง ปลาข้าวสารแห้ง และปลาหมึกแห้ง

คุณผจงศักดิ์ วงศ์สง่า ประมงจ.ตราด(ขวา)แนะนำกะปิตราตาหนึก

“ผลิตภัณฑ์ขายดี 3 อันดับขณะนี้คือ กะปิแท้ตราตาหนึก น้ำเคยไข่ น้ำพริกเคยแซ่บ ส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์แปรรูปวิทยาลัยชุมชนตราดจะมาให้ความรู้สนับสนุน เช่น น้ำเคยหวาน น้ำพริกปูม้า ปลากะตัก-ข้าวสารแห้ง การจัดจำหน่ายกลุ่มจัดเป็นกระเช้าของขวัญรวมของเด่นๆ ที่ลูกค้าเลือกสรร ส่วนกะปิจะมีเน้นแพ็กเกจจิ้งสวยงามหรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อ สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น เป็นของฝาก เช่น ใส่ถ้วยเบญจรงค์จะขายโถละ 280 บาท (ครึ่งกิโลกรัม) ถ้าใส่กระปุกพลาสติกฝาแดง 150 บาท เพราะต้นทุนโถเบญจรงค์ที่ซื้อจากโรงงาน 120 บาทแล้ว ปกติราคาขายทุกผลิตภัณฑ์จะคิดกำไร 20% บวกราคาต้นทุนเป็นมาตรฐาน” คุณฐิติรัตน์ กล่าว

ดวงพร ขันนาครอง ประธาน

โควิด-19 ตลาดชะงัก

สต๊อกเหลืออื้อ หวังตลาดออนไลน์

คุณฐิติรัตน์ เล่าว่า ช่วงปี 2560 เป็นต้นมา ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มขายดี มีการต่อยอดหลายผลิตภัณฑ์ทำตลาดได้กว้างขวางมากขึ้น และกลุ่มได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้การแปรรูปอาหารทะเลที่ได้มาตรฐาน ได้ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มศึกษาดูงานทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น แต่เมื่อปี 2563 สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 มาเกือบ 1 ปีเต็ม กลุ่มต้องเผชิญกับปัญหาการผลิต การตลาดที่มากระทบอย่างรุนแรง จากปี 2562 วางแผนต่อยอดการผลิตและขยายการตลาดไว้ งานอีเว้นต์ต่างๆ ที่หน่วยราชการสนับสนุนถูกงด ทำให้สินค้าวัตถุดิบค้างสต๊อกเป็นจำนวนมาก สินค้าที่วางขายตามร้านต่างๆ เก็บกลับมา กลุ่มไม่มีรายรับ ต้องหยุดพักชำระหนี้และหยุดระดมเงินออมของสมาชิก ต้องปรับตัววางแผนการผลิต และหาแนวทางตลาดใหม่ หาทางนำวัตถุดิบที่สต๊อกไว้มาทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจำหน่ายให้มากที่สุด และเรียนรู้เพื่อทำตลาดออนไลน์เพิ่มขึ้น

กะปิสินค้าขายดีโถเบญจรงค์

“รายได้ปี 2563 เหลือ 17,268 บาท เปรียบเทียบปี 2562 จำนวน 200,255 บาท ลดลงถึง 91% แต่สถานการณ์ทั่วไปรายได้ไม่ได้ลดลง เพียงแต่มีปัญหาโควิด-19 ผลิตสินค้าจำหน่ายไม่ได้ กลุ่มมีเงินสดอยู่ 9,000 กว่าบาท วัตถุดิบจากสินค้าค้างสต๊อกมูลค่าประมาณ 187,000 บาท หากทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจะมีมูลค่าเพิ่ม 20% ช่วงโควิด-19 รอบแรกเดือนพฤษภาคมทำข้อตกลงกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จังหวัดสระแก้ว ทำโครงการปลาแลกข้าว นำข้าวสารมาแลกกับปลาในมูลค่าเท่ากัน แต่ช่วยระบายสินค้าในสต๊อกไม่ได้มาก และจากการเชื่อมสัมพันธ์กับตลาดกัมพูชา ของ คุณวิยะดา ซวง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราดขณะนั้น มีกลุ่มแม่บ้านกัมพูชาจากพระตะบองมาศึกษาดูงานสนใจสั่งสินค้าไปกัมพูชา เวียดนามต้องหยุดชะงักไป สินค้าที่เก็บค้างไว้ ปลาเค็ม น้ำพริก โดยเฉพาะตัวเคยเกือบ 200 กิโลกรัม โชคดีที่ นพค.14 ตราดได้จัดงบสนับสนุนตู้แช่มาให้พอดี ตอนนี้จึงหันมาแปรรูปน้ำพริกเคยแซ่บ และพยายามทำตลาดออนไลน์มากขึ้น ทั้งในเพจ เฟซบุ๊ก ไลฟ์สด ร่วมงานอีเว้นต์ที่จังหวัดจัด นำสินค้าไปวางที่ร้านสหกรณ์จังหวัดตราด 2 แห่ง และเข้าโครงการคนละครึ่งช่วยให้มีลูกค้าเพิ่มขึ้น คาดว่าเดือนมีนาคม-เมษายนจะกลับมาดำเนินการตามเดิมได้” คุณฐิติรัตน์ กล่าว

ดร.กรรณิกา สุภาภา ผอ.วิทยาลัยชุมชนตราด

สนใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารทะเลบ้านตาหนึก ดูในเพจ กะปิตรา ตาหนึก หรือโทร.ติดต่อ คุณฐิติรัตน์ ไชยวิศาลธนนาถ (089) 545-1406 หรือ (080) 164-1979

คุณวิยะดา ซวง อดีตนายกสมาคมธุรกิจททท.จ.ตราด
ผลิตภัณฑ์ตรา ตาหนึก
ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม
น้ำพริกเคยแซ่บ
น้ำปลาหวาน
เกียรติบัตรจำนวนมาก
เคยแห้ง
ร.ท.ลาวา กิจพงศ์ นพค.14
ผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายในร่้านค้ากลุ่ม
ออกบูธจังหวัดตราดโดยพาณิชย์จังหวัดตราด(คุณวัญญา ถนอมพันธุ์ ขวา)