อย. เตือน อย่าหลงเชื่อชักชวนปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อการชักชวนให้ปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ยืนยันขณะนี้ ยังไม่มีบริษัทใดหรือเกษตรกรรายใด ยื่นเอกสารขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง เพื่อมาปลูกและขาย หากมีข้อสงสัยศึกษาเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th/Pages/HomeP_D2.aspx กด กัญชง

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า จากที่มีกระแสตื่นตัวการปลูกกัญชง อย่างกว้างขวาง คณะกรรมการอาหารและยามีความห่วงใยเกษตรกรที่ให้ความสนใจจะปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดหรือเกษตรกรรายใด ยื่นเอกสารขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง เพื่อมาปลูกและขาย แต่มีการไปรวบรวมเกษตรกรที่ต้องการปลูกกัญชง แล้วทำเป็นเครือข่ายเกษตรกรปลูกกัญชงในหลายจังหวัด

“การประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นเพียงการอนุญาตให้บริษัท จำนวน 7 บริษัท เป็นผู้มีคุณสมบัตินำเข้าเมล็ดพันธุ์ แต่ยังไม่มีใครได้รับอนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากการนำเข้าในแต่ละครั้ง ต้องได้รับใบอนุญาตทุกครั้งที่นำเข้าด้วย และยังไม่มีบริษัทได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชง เนื่องจากการขออนุญาตปลูกกัญชง จะต้องแจ้งที่มาของแหล่งเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์และจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่จะปลูก รวมถึงเมื่อเก็บผลผลิตได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปลูกเพื่อเก็บเมล็ดสกัดน้ำมัน หรือปลูกเพื่อเก็บช่อดอกไปสกัดสารสำคัญ จะนำส่งให้โรงงานใดเป็นผู้รับซื้อ ต้องแจ้งให้ครบถ้วน” นพ. ไพศาล กล่าว

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

นพ. ไพศาล กล่าวต่อว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายให้ อย. อำนวยความสะดวกผู้ขอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกรขออนุญาตปลูก ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม ที่จะนำผลผลิตจากกัญชงไปผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้เกษตรกร แต่ต้องมีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่ง อย. พร้อมที่จะให้การสนับสนุน และแนะนำขั้นตอนการขออนุญาตแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ จึงขอให้ผู้ที่สนใจจะปลูกกัญชง และทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับกัญชง ติดต่อขออนุญาตด้วยตนเอง และขอเตือนเกษตรกร ประชาชน ระวังถูกหลอกลวงจากผู้แอบอ้างว่าได้รับอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ ได้รับอนุญาตปลูก ให้เข้าร่วมเครือข่าย โดยต้องจ่ายเงินค่าเข้าร่วมเครือข่าย

ทั้งนี้ การปลูกกัญชง เกษตรกรที่จะปลูกต้องขออนุญาตด้วยตนเองเป็นรายบุคคล ไม่สามารถใช้ใบอนุญาตเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย หรือนำใบอนุญาตของบุคคลอื่นมาสวมได้ เพราะจะต้องระบุพื้นที่ปลูกชัดเจน เปลี่ยนพื้นที่ปลูกไม่ได้ และต้องปลูกตามระยะเวลาที่ขออนุญาต รวมไปถึงผู้ประกอบการผลิตสินค้าต่างๆ ที่ต้องการใช้สารสกัดจากกัญชงเป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยา ก็ขอให้พิจารณาให้ดี เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีโรงงานใดได้รับอนุญาตให้สกัดสารสำคัญ กระแสข่าวที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างกระแสเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจอื่นๆ มากกว่าการสร้างธุรกิจที่เกี่ยวกับกัญชง ซึ่ง อย.ในฐานะหน่วยงานที่ต้องพิจารณาออกใบอนุญาตทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตามที่กฎหมายกำหนด จึงขอเตือนให้ประชาชนและผู้ประกอบการ พิจารณาให้ดี หากไม่แน่ใจ ขอให้สอบถามได้ที่ อย.

Advertisement

หรือที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th/Pages/HomeP_D2.aspx กด กัญชง รวมทั้งขอให้ผู้ที่สนใจปลูกและประกอบธุรกิจรีบเสนอขออนุญาต พร้อมเสนอแผนการผลิตที่เหมาะสมเข้ามาด้วย เพื่อที่คณะกรรมการจะได้พิจารณาอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ อย. ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลทางวิชาการการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ในประเทศไทยเป็นการศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และอากาศของประเทศไทย รูปแบบการปลูกที่เหมาะสม รวมทั้งอาจจัดทำโซนนิ่งการปลูกกัญชง ในประเทศไทย เพราะสภาพภูมิอากาศในบางพื้นที่ อาจจะเหมาะกับบางสายพันธุ์ และไม่เหมาะกับบางสายพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมกันนี้ กรมวิชาการเกษตร จะพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะกับประเทศไทยและจัดทำต้นกล้าจำหน่ายให้แก่เกษตรกรด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกกัญชงให้แก่เกษตรกร ให้ได้ผลผลิตที่โรงงานต้องการในราคาที่เหมาะสม

Advertisement