“P&Y Discus Farm” เพาะ-ขายปลาปอมปาดัวร์คุณภาพทุกสายพันธุ์ ส่งขายตลาดต่างประเทศทั่วโลก

ปลาปอมปาดัวร์ (Pompadour) หรือที่เรียกกันว่า Discus เป็นปลาในตระกูลปลาหมอสี (Cichlidae) มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาราคาแพงที่เพิ่งเข้ามาในตลาดปลาสวยงามบ้านเราเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ด้วยการสั่งจากต่างประเทศ

ความสวยงามมีทั้งสายพันธุ์แบบสีพื้นและแบบลาย

ในช่วงนั้นมีกลุ่มที่ชื่นชอบมองว่าเป็นปลาเศรษฐกิจที่ดีในอนาคต อีกทั้งสภาพภูมิอากาศและอาหารปลาบ้านเรามีลักษณะใกล้เคียงกับทวีปอเมริกาใต้ สิ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เอื้อต่อการเพาะพันธุ์ ขณะเดียวกัน นักพัฒนาสายพันธุ์ก็มีความเป็นเลิศสามารถรักษาเอกลักษณ์ปอมปาดัวร์ให้ยังมีจุดเด่นและสีสันสวยงามประดุจปลาแห่งใต้ท้องทะเลจนได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งปลาตู้”

คุณนิพนธ์ สนธิสถาพร หรือคุณปอม และคุณสุภาพร สนธิสถาพร หรือคุณเย็น

“P&Y Discus Farm” เป็นฟาร์มปลาปอมปาดัวร์ที่เกิดในช่วงนั้น เป็นแหล่งเพาะ-ขยายพันธุ์ชื่อดังที่สะสมประสบการณ์มาเป็นเวลาหลายสิบปี มีปลาคุณภาพทุกสายพันธุ์ จนเป็นที่ยอมรับและส่งปลาขายยังต่างประเทศกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ปัจจุบันมี คุณนิพนธ์ สนธิสถาพร หรือ คุณปอม และ คุณสุภาพร สนธิสถาพร หรือ คุณเย็น เป็นผู้ดูแล ตั้งอยู่เลขที่ 14/19 ซอยสุขุมวิท 57 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

ได้ขนาดมาตรฐานทุกตัว

คุณปอม เล่าว่า ฟาร์มปลาแห่งนี้ก่อตั้งโดยคุณพ่อ จนถึงตอนนี้ประมาณ 43 ปี เรียกว่าเกิดมาตั้งแต่เด็กก็เห็นพ่อทำฟาร์ม แล้วมีโอกาสช่วยงานพ่อด้วย เหตุผลที่คุณพ่อเลี้ยงปลาปอมปาดัวร์เพราะชื่นชอบปลาสวยงามหลายชนิด มาสะดุดความสวยงามของปลาปอมปาดัวร์จากสีสัน ลวดลาย รูปลักษณะ จึงสั่งซื้อมาเลี้ยงเป็นงานอดิเรกจากต่างประเทศจำนวน 147 ตัว เป็นสายพันธุ์ที่คนไทยเรียก 7 สี มีความสวยงามมาก ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีใครเลี้ยง จึงถือเป็นรายแรกที่นำปลาปอมปาดัวร์มาเลี้ยงในไทย พอเลี้ยงมาได้ราวปีเศษก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยตัวเองได้ ทำให้มีจำนวนมากขึ้น พอมีคนรู้ว่ามีปลาพันธุ์นี้มาติดต่อขอซื้อและเพิ่มจำนวนมากขึ้น คุณพ่อจึงจัดการเลี้ยงอย่างเป็นระบบ แล้วทำเป็นฟาร์มขึ้น

เตรียมส่งปอมบรีดไทยคัดเกรดและนำเข้า รวมทั้งปอมป่าจากบราซิล

หลังจากนั้น เริ่มมีสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาปอมปาดัวร์ 5 สี, 7 สี และเยอรมัน คุณปอมเห็นว่าเพาะขยายวนเวียนอยู่แค่นี้ เลยไปลองเพาะขยายปลาหมอสีชื่อดังขายเป็นรายได้ กระทั่งเรียนจบสอบติดตำรวจ ทำงานอยู่ 4 ปีรู้สึกไม่ชอบจึงลาออก ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาปอมปาดัวร์มีสายพันธุ์เข้ามาอีกจำนวนมาก คุณพ่อจึงให้มาช่วยอย่างจริงจัง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นอาชีพเพาะขายปลาปอมปาดัวร์ของตัวเองเมื่อประมาณ 23 ปีที่ผ่านมา

พ่อ แม่พันธุ์ช่วงวางไข่

ปลาปอมปาดัวร์สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ มีจุดเด่นตรงความหลากหลายของสีและสายพันธุ์ สิ่งที่ต้องคำนึงสำหรับการเลี้ยงปลาชนิดนี้ ได้แก่ 1. ตู้ปลา ซึ่งจะใช้ขนาดใดขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน รวมถึงความสะดวกของสถานที่ตั้งวาง โดยแนะนำว่าควรวางตู้เลี้ยงปลาในบริเวณที่ไม่พลุกพล่านมากนัก เนื่องจากปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย 2. ระบบกรองน้ำ ซึ่งจะช่วยลดการเปลี่ยนถ่ายน้ำ และระบบการให้อากาศ เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้กับปลา แล้วต้องมี Heater เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิของน้ำด้วย และ 3. น้ำ ควรใช้น้ำที่มีคุณภาพและต้องพักน้ำก่อนนำมาใช้ เพราะหากน้ำขาดคุณภาพจะทำให้ปลาเครียด มีผลต่อความสวยงาม อีกทั้งควรมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอ

จัดการแพ็คส่งออกต่างประเทศเอง

“P&Y Discus Farm” เป็นฟาร์มปิดที่ไม่อนุญาตให้เข้าชมปลา ยกเว้นการติดต่อซื้อขายเท่านั้น มีปลาปอมปาดัวร์กว่า 30 สายพันธุ์ที่มีในโลก โดยมีพันธุ์ที่โดดเด่นในตลาด อย่าง Tiffany Yellow, Leopard, Red Melon, Blue Diamond, Red Pigeon Checkerboard, Albino Platinum, Altum Stripe เป็นต้น ทั้งนี้ ทุกสายพันธุ์ได้รับความนิยมเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบของผู้เลี้ยงแต่ละราย เลี้ยงระบบตู้ขนาด 36 นิ้ว ส่วนตู้เพาะมีขนาด 30 นิ้ว มีทั้งหมดประมาณ 300 ตู้

Tiffany Yellow

การขยายพันธุ์ จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อพ่อ-แม่จับคู่พร้อมผสมพันธุ์ จะแยกออกมาใส่ตู้ขนาด 30 นิ้ว ที่มีกระถางหรือโดมตั้งไว้เพื่อให้ปลาวางไข่ในช่วงประมาณ 10 วัน แล้วหาตะแกรงมาครอบกันไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พ่อ-แม่กินไข่ จากนั้นประมาณ 2 วันไข่จะเป็นตัว เมื่อลูกปลาพอว่ายได้จะไปเกาะตัวพ่อ-แม่เพื่อกินเมือกเป็นอาหาร ช่วงนี้ต้องเริ่มเปลี่ยนน้ำ โดยทยอยเปลี่ยนถ่าย

Leopard

ในช่วงเวลา 7 วัน ลูกปลาเริ่มมีขนาดโตขึ้นโดยยังอยู่กับพ่อ-แม่ เพื่อกินเมือกต่อไป ขณะเดียวกัน จะให้อาหารชนิดอื่น อย่างไรแดง อาร์ทีเมีย หรือหัวใจหมูหั่นละเอียดเสริมด้วยเพื่อฝึกให้ลูกปลากินอาหารชนิดอื่น

คุณปอม บอกถึงเหตุผลที่ใช้หัวใจหมูเพราะเป็นวิธีเดียวกับต่างประเทศที่ใช้ เนื่องจากหัวใจสัตว์ใหญ่มีโปรตีนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางต่างประเทศใช้หัวใจวัว แต่ที่บ้านคุณปอมไม่กินเนื้อวัว จึงใช้หัวใจหมูแทน อีกเหตุผลคือในช่วงหน้าแล้งหาไส้เดือนน้ำยากมาก แล้วแพงด้วย

Red Melon

พอลูกปลามีขนาดประมาณเล็บนิ้วก้อยหรือประมาณ 20 วัน จะปรับอาหารโดยให้ไส้เดือนน้ำ แล้วแยกตู้ออกมาเพื่ออนุบาลต่อ โดยยังใช้อาหารชุดเดิมเลี้ยงต่อไปจนมีขนาด 2-2.50 นิ้ว หรืออายุประมาณ 2-2 เดือนครึ่งเป็นขนาดสำหรับขาย ส่วนพ่อ-แม่ยังอยู่ในตู้เดิมเพราะอาจผสมพันธุ์วางไข่ในรุ่นต่อไป

Blue Diamond

การเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์มายาวนานเกือบ 50 ปี ทำให้ “P&Y Discus Farm” สะสมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และทักษะ สามารถผลิตปลาปอมปาดัวร์หลากหลายสายพันธุ์ที่มีในโลกได้อย่างมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศเกือบทั่วโลก จึงไม่แปลกที่ยอดขายกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกส่งไปยังต่างประเทศเพื่อส่งให้ลูกค้าต่างประเทศนำไปขายต่อ โดยยังมีลูกค้าในประเทศ    มีทั้งแบบซื้อไปขายต่อกับซื้อไปเลี้ยงเอง ใช้ช่องทางเพจติดต่อสื่อสารมากกว่า

Altum Stripe

สนใจสั่งซื้อปลาปอมปาดัวร์ จาก “P&Y Discus Farm” ทั้งแบบปลีกและส่ง ได้ที่โทรศัพท์ 089-118-0234 หรือเพจ P&Y Discus Farm

………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564