วช. ต่อยอดภูมิปัญญาไทย สู่นวัตกรรม “กระจกโบราณไร้ตะกั่ว”

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุดมการศึกษาฯ (อว.) ซึ่งมีบทบาทด้านการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากประสบการณ์และภูมิปัญญาของคนไทย ซึ่งเป็นฐานรากที่มั่นคงในการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ จึงให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยจากภูมิปัญญาไทยมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด วช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) รื้อฟื้นการผลิตกระจกเกรียบและกระจกจืนแบบโบราณ เพื่องานบูรณะและอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของไทย สนองพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

(จากซ้าย) คุณรชต ชาญเชี่ยว ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. และ รศ.ดร. กมลพรรณ เพ็งพัด

“งานหุงกระจกเกรียบ”

ศิลปะงานช่างสิบหมู่โบราณ

“กระจกเกรียบ” ถือเป็นกระจกโบราณ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของงานช่างสิบหมู่โบราณในงานประดับกระจกสี งานประดับกระจกมีความเจริญรุ่งเรืองนับตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 3 ซึ่งพระองค์ท่านทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ปรับปรุงฝาผนังด้านนอกจากที่เคยเป็นลายทองรดน้ำพื้นสีแดง เปลี่ยนเป็นลายปั้นปิดทองประดับกระจก ด้วยลวดลายอันละเอียดสวยงามแล้ว นอกจากนี้ ยังนิยมใช้กระจกเกรียบประดับตกแต่งฐานพระพุทธรูป ประดับมณฑป ผนังโบสถ์ บุษบก ประดับสัตภัณฑ์ เครื่องราชภัณฑ์ และศิลปะวัตถุโบราณอันมีค่าต่างๆ มากมาย ต่อมาการหุงกระจกขาดช่างฝีมือสืบทอดและสูญหายไปจากประเทศไทยนานกว่า 150 ปี ดังนั้น การบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ศิลปะวัตถุโบราณในยุคหลังจึงจำเป็นต้องใช้กระจกที่นำเข้าจากต่างประเทศแทน

คุณรชต ชาญเชี่ยว ช่างหุงกระจกโบราณ

“รชต ชาญเชี่ยว” สล่าพื้นบ้านล้านนา

ผู้รื้อฟื้นกระจกโบราณที่สูญหายไป

“คุณรชต ชาญเชี่ยว” สล่าพื้นบ้านล้านนาเป็นช่างหุงกระจกเพียงคนเดียวในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการรื้อฟื้นภูมิปัญญาการหุงกระจกโบราณที่สูญหายไปเมื่อ 150 ปีก่อน ให้กลับมาคงอยู่ในประเทศไทยอีกครั้ง ภายใต้โครงการ “การรื้อฟื้นการผลิตกระจกไทยโบราณ” เขาศึกษาหาข้อมูลและทดลองหุงกระจกแบบโบราณ คือ กระจกจืนและกระจกเกรียบโบราณด้วยตนเอง เพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาไทยแขนงนี้ เขาใช้เวลาศึกษาลองผิดลองถูกด้วยตนเองนานกว่า 17 ปี

คุณรชต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “กระจกเกรียบ” เป็นกระจกที่ทำด้วยฝีมือคนไทยแต่โบราณ โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ พระนามเดิม พระองค์เจ้าปราโมช เป็นเจ้ากรมช่างหุงกระจก ใช้ในสยามประเทศเมื่อครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีความนิยมใช้อย่างเฟื่องฟูในยุครัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 5 ภายหลังที่สยามนำเข้ากระจกจากต่างประเทศมาใช้ กรมหุงกระจก และกระจกเกรียบสยามก็ได้หมดสิ้นความนิยมลงไปอย่างน่าเสียดาย

ช่างหุงกระจก ประดับกระจกจืน

ปัจจุบัน กลุ่มช่างหุงกระจกเชียงใหม่ ภายใต้การนำของ คุณรชต ชาญเชี่ยว ได้ฟื้นฟูการหุงกระจกโบราณสยามขึ้นมาได้สำเร็จเป็นรูปธรรม ในการนำมาสร้างซ่อมแซมบูรณะศาสนสถาน ได้รับการรับรองและสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากสำนักงานวิจัยแห่งชาติ วช. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร รวมไปถึงบริษัทรับเหมาบูรณะและก่อสร้างอาคารโบราณสถานต่างๆ ทั่วประเทศ ได้รับความนิยมและสามารถพูดได้ว่า กระจกเกรียบที่หุงขึ้นใหม่นี้ใช้ทดแทนกระจกเกรียบโบราณได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ นำมาใช้บูรณะโบราณสถานที่สำคัญทั่วประเทศ เช่น  ฐานชุกชีพระประธานในศาลาการเปรียญวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ทดแทนกระจกเกรียบเดิมที่หลุดหายไปหลังจากได้รับการบูรณะมาหลายครั้ง การบูรณะครั้งนี้ได้นำเอากระจกสีสมัยใหม่ที่ใช้บูรณะครั้งก่อนออกทั้งหมด แล้วใช้กระจกเกรียบหุงใหม่ประดับแทนให้คงความงามตามของโบราณ ซึ่งมีทั้งแบบเรียบ และแบบนูนรูปกลม นูนรูปหยดน้ำ โบราณเรียกการประดับกระจกเกรียบชนิดนี้ว่า การประดับกระจกเทียม การประดับอัญมณี นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของทีมช่างหุงกระจกเชียงใหม่ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูบูรณะงานช่างศิลป์โบราณให้คงคุณค่าอยู่คู่ประเทศไทยอย่างสมบูรณ์แบบ

ส่วนหน้าอกพญาครุฑ ประดับกระจกเกรียบ นารายณ์ทรงสุบรรณ

วิธีการหุงกระจกโบราณ

ปัจจุบัน คุณรชต มีความเชี่ยวชาญในการหุงกระจกเพื่อนำมาประดับตกแต่งศาสนสถาน เครื่องอุปโภคบริโภคและครุภัณฑ์ ทั้งกระจกจืนและกระจกเกรียบเป็นกระจกที่มีมาแต่โบราณ ด้านหน้าเป็นแก้ว ด้านหลังเป็นตะกั่ว นิยมใช้เพื่อการประดับตกแต่ง มีความแตกต่างกันทั้งกระบวนการผลิตและรูปร่างลักษณะ ด้วยทักษะเฉพาะในการ “หุงกระจก”

การทำกระจกของคนโบราณ เรียกว่า “การหุงกระจก” เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เกิดจากการใช้วัตถุธาตุนานาชนิด เช่น ดีบุก แป้ง ดินประสิว ทอง หรือทองเหลือง ฯลฯ มาผ่านกระบวนการหลอมด้วยส่วนผสมทางเคมีต่างๆ เพื่อให้กลายเป็นน้ำกระจกที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง ก่อนนำมาลงเบ้าหลอมอะลูมินาเพื่อหุงต่อที่อุณหภูมิ 1,280 องศาเซลเซียส จนของเหลวเดือดคล้ายลาวา จึงนำมาเข้าสู่การรีดให้เป็นกระจกที่สวยงามและบางเฉียบ กระจกเกรียบ จะหุงด้วยวิธีการดาดหรือเทแก้วที่มีความบางลงบนแผ่นตะกั่ว แผ่เป็นแผ่นแบนราบฉาบผิวด้วยน้ำเคลือบ ซึ่งทำจากแก้ว ให้เกิดเป็นสีสันต่างๆ กระจกเกรียบมีความโดดเด่นที่ความแวววาว มีหลายสี เช่น สีแดง สีเงิน สีทอง สีน้ำเงิน สีเขียว ฯลฯ

กระจกเกรียบแดงทอง โครงการแก้วคริสตัลแดง ส่งไปกองช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

ส่วนวิธีการหุงกระจกจืน ใช้วิธีโรยผงเผาอุณหภูมิอ่อนๆ ดาดหรือเทพื้นสีหลังด้วยตะกั่ว แผ่นบาง สามารถดัดให้โค้งงอและใช้กรรไกรตัดให้ขาดได้โดยง่าย เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของกระจกเกรียบ คือเป็นกระจกโบราณ นำมาใช้ในงานประดับตกแต่ง มีลักษณะเป็นแผ่นบาง เปราะ แตกหักง่าย ซึ่งทั้งกระจกเกรียบและกระจกจืนแม้ผลิตจากวัสดุตั้งต้นเดียวกัน แต่ทั้งสองชนิดนั้นมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างกัน

“กระจกเกรียบ” เป็นกระจกที่มีลักษณะบาง เปราะ แตกหักง่ายคล้ายข้าวเกรียบ พับ หักได้ แต่ไม่สามารถใช้กรรไกรตัดได้ กระจกเกรียบเหมาะกับงานที่ต้องการความละเอียด หรือนำไปตกแต่งเป็นลายยกดอก สร้างเหลี่ยมมุมในมิตินูนต่ำเพียงใช้มีดกรีดแล้วหัก

“กระจกจืน” เป็นกระจกที่มีลักษณะอ่อน มีความยืดหยุ่นสูงกว่ากระจกเกรียบ เนื้อบาง ชนิดใช้กรรไกรตัดและดัดงอได้ มีลายผิวร้าวเป็นธรรมชาติ เป็นเอกลักษณ์ของกระจกจืนที่ยากเลียนแบบ มีเฉดสีที่หลากหลาย มีสีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว สีเงิน เป็นต้น

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ คุณรชต ชาญเชี่ยว

มช. พัฒนานวัตกรรมต่อยอด

“การหุงกระจกโบราณไร้ตะกั่ว”

ทีมนักวิจัยภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การนำของ รศ.ดร. กมลพรรณ เพ็งพัด และคณะ ประกอบด้วย ดร. อโนชา หมั่นภักดี และ ดร. ปรารถนา อินต๊ะวิน ได้ร่วมมือกับ คุณรชต ชาญเชี่ยว เจ้าของโรงงานผลิตกระจกโบราณ 235 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแก๋ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่  (โทรศัพท์ : 081-168-2472) ดำเนินการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแก้วคริสตัลปราศจากตะกั่ว และการประดิษฐ์แก้วคริสตัลบาง” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ มีเป้าหมายหลักคือ ร่วมกันพัฒนาการผลิตและรื้อฟื้นการทำกระจกโบราณขึ้นมาใหม่ จนมีคุณสมบัติใกล้เคียงของเก่า จนสามารถนำกระจกจืนและกระจกเกรียบที่ผลิตได้ไปบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุได้หลายแห่ง อีกทั้งยังสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบประดับกระจกจืนและกระจกเกรียบที่สามารถนำไปใช้งานในเชิงบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบใหม่ๆ ที่ใช้กระจกจืนตกแต่ง เพื่อขยายผลเชิงพาณิชย์ในอนาคต

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 วช. ได้ถวายสัตภัณฑ์ที่ประดับกระจกจืน ซึ่งเป็นกระจกที่ได้จากงานวิจัย ณ วัดช่างฆ้อง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจาก ศิลปิน “ฝุ่น หอสูง” คุณชาญยุทธ โตบัณฑิต ออกแบบและสร้างสัตภัณฑ์ เป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของการนำผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการ ที่สามารถต่อยอดทั้งเชิงพาณิชย์และสามารถนำไปทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อรักษามรดกอันทรงคุณค่าให้คงอยู่เคียงคู่คนไทยสืบไป

ขันดอกประดับกระจกจืนแบบล้านนา
ย่ามประดับกระจกจืนบาง

อนึ่ง ขอขอบคุณข้อมูลประกอบข่าว เรื่อง “ครูช่างศิลปหัตถกรรม นายรชต ชาญเชี่ยว”  จากเว็บไซต์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)