เทคนิคปลูก “มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง” ให้ผลใหญ่ ทรงดี ผิวสวยไร้ตำหนิ

คุณเอกภพ วิญญาภาพ เรียนจบชั้น ปวส. จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรลำปาง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง) ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) สาขาไม้ผล (รุ่น 4) ในปี พ.ศ. 2530 หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วได้ทำงานธุรกิจรับเหมาก่อสร้างกับพ่อ ตระเวนขึ้นเหนือล่องใต้หลายจังหวัดอยู่นานร่วม 30 ปี จนเกิดความเบื่อหน่ายและอยากใช้วิชาชีพที่ตนเองเรียนมาลงมือปฏิบัติเองบ้าง จึงใช้ที่ดินว่างเปล่าของพ่อ อยู่ที่ หมู่ที่ 7 บ้านห้วยฮี ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อทำการเกษตร

ปี 2555 เขานำรถแทรกเตอร์เข้าไถปรับพื้นที่ เพื่อเตรียมปลูกไม้ผล ตอนนั้นเขาไม่คิดจะปลูกมะม่วง เลย ต่อมาเขามีโอกาสปรึกษาเรื่องการทำสวนผลไม้ กับ ผศ.พาวิน มะโนชัย ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นเดียวกัน (รุ่น 51) และเป็นอาจารย์ภาควิชาไม้ผลของแม่โจ้ ผศ.พาวินแนะนำให้เขาปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เพราะเป็นสินค้าขายดี กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาสูง และกิ่งพันธุ์หาง่าย คุณเอกภพจึงตัดสินใจปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในที่สุด

เดิมทีพื้นที่สวนแห่งนี้ คุณพ่อของคุณเอกภพเคยซื้อไว้ในราคาเพียงไร่ละ 500 บาท เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว พื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ท้ายหมู่บ้านห้วยฮี ใกล้กับคลองชลประทาน เมื่อขุดดินออกไปถมที่ กลายเป็นสระน้ำที่ซึมจากตาน้ำ ชาวบ้านนำวัวควายเข้ามาเลี้ยงกินน้ำจากสระนี้ ดินดี เหมาะที่จะปลูกพืชอะไรก็ได้ ชาวบ้านที่นี่ส่วนมากทำนากัน เมื่อคุณเอกภพตัดสินใจทำสวนมะม่วง พื้นที่แห่งนี้จึงเป็นสวนมะม่วงแห่งแรกของหมู่บ้าน ที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ชาวบ้านเรียกสวนมะม่วงนี้ว่า สวนมะม่วงเสี่ยเอก

การปลูก

คุณเอกภพซื้อกิ่งพันธุ์มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จำนวน 500 กิ่ง นำมาปลูกตามคำแนะนำของ ผศ.พาวิน โดยปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 3 เมตร ระยะห่างระหว่างแถว 4 เมตร ขุดหลุมปลูก ขนาด 60×60 เซนติเมตร ใหญ่กว่าปกติที่นิยมขุดหลุม 50×50 เซนติเมตร

โดยแยกหน้าดินไว้ด้านหนึ่งคลุกเคล้าปุ๋ยคอกที่หมักทิ้งไว้ 1 ปี รองก้นหลุมด้วยโดโลไมท์ก่อนเอากิ่งพันธุ์ลงปลูกจนครบ 500 กิ่ง แล้วขุดหลุมขนาดเดียวกัน ทำเหมือนกันอีก 700 หลุม เพื่อปลูกต้นตอมะม่วงแก้ว มะม่วงตลับนาค อายุ 8 เดือน สูง 80 เซนติเมตร จนเต็มพื้นที่ รวม 1,200 ต้น ในพื้นที่ 20 ไร่ พร้อมปลูกบ้านพักคนงาน 1 หลัง เพื่อให้อาศัยอยู่กับครอบครัวในสวน

Advertisement

การให้น้ำ

ต้นมะม่วงที่ปลูกแต่ละหลุม จะวางหัวมินิสปริงเกลอร์ไว้ประจำต้นทุกต้น ปั๊มแรงดันสูงท่อส่งเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ส่งไปตามท่อย่อ พีวีซี 2 นิ้ว เป็นสายหลักเข้าไปในสวน ก่อนแยกเข้าท่อหัวสปริงเกลอร์ ขนาด 1/2 นิ้ว (4 หุน) น้ำสูบจากสระน้ำ กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 4 เมตร เป็นน้ำที่ซึมขึ้นมาจากตาน้ำ น้ำใสและมีน้ำซึมอยู่ตลอด เนื่องจากระดับน้ำในสระจะขึ้นๆ ลงๆ

Advertisement

ท่อดูดของปั๊มจึงใช้ท่ออ่อนเพื่อให้อ่อนตัวได้ตามการขึ้นลงของระดับน้ำที่หัวกะโหลกปลายท่อดูดติดกับลูกลอย การให้น้ำปล่อยสลับกัน ปล่อยแต่ละแถว 3-5 วันต่อครั้ง หรือความถี่ของการให้น้ำขึ้นอยู่กับสภาพการณ์

เมื่อต้นมะม่วงจากกิ่ง 500 ต้น เจริญเติบโตแตกยอดสมบูรณ์ดี อายุพอจะตัดไปเสียบยอดกับต้นตอแก้วและตลับนาค ทั้ง 700 ต้นแล้ว จึงตัดไปเสียบยอดจนครบ เมื่อใกล้ถึงฤดูหนาวได้สังเกตและคาดการณ์ระยะเวลาแล้วว่า มะม่วงควรจะออกช่อดอก จึงหยุดให้น้ำเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แต่หน้าแล้งผ่านมาน้ำในสระแห้งไม่เพียงพอ จนต้องเจาะบาดาลลึก 132 เมตร สูบขึ้นมาช่วยและให้น้ำถี่ขึ้นทุก 2 วัน

การให้ปุ๋ย

สวนมะม่วงแห่งนี้ คุณเอกภพให้ปุ๋ยคอกหมักค้างปี ปีละ 4 ครั้ง ประมาณต้นละ 5 กิโลกรัม ส่วนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ก็ให้ปีละ 4 ครั้ง การใส่ปุ๋ยครั้งแรก เมื่อใกล้จะแตกใบอ่อน จึงให้ปุ๋ย สูตร 25-7-7 ในอัตรา 300-400 กรัมต่อต้น เป็นเรื่องยากต่อการกะคำนวณปริมาณปุ๋ยที่ใส่ในแต่ละครั้ง จึงบอกให้คนงานใส่ปุ๋ย ครั้งละ 2 กระป๋องของกาแฟกระป๋อง จะได้ปริมาณใกล้เคียงกับ 300-400 กรัม

การใส่ปุ๋ย ครั้งที่ 2 หลังจากใบอ่อนเปลี่ยนเป็นใบแก่ ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ในอัตราส่วนเท่าเดิม การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 เมื่อใกล้จะออกดอกจึงใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 ใช้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ในอัตราเท่าเดิม และการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 4 ใส่ระยะที่ติดผล ใช้ปุ๋ย สูตร 18-24-24 ในอัตราเดิมเช่นกัน

ศัตรูพืช

ต้นมะม่วงที่ปลูกมักพบโรคพืช ได้แก่ โรคแอนแทรกโนส เข้าทำลายใบอ่อน ทำให้ใบบิดเบี้ยวเป็นจุดสีน้ำตาล ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราอมิสตา ส่วนแมลงศัตรูพืชที่พบ ได้แก่ ด้วงงวงกรีดใบ แมลงค่อมทอง เพลี้ยจักจั่นมะม่วง เมื่อพบการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช คุณเอกภพจะใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงเซฟวินฉีดพ่นในช่วงแตกใบอ่อน

มะม่วงเริ่มมีช่อดอกจะพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราผสมกับสารเคมีพวกคาร์โบซัลแฟน (carbosulfan) และฮอร์โมนฉีดพ่น ปกติแล้วระยะดอกบานห้ามฉีดพ่นสารเคมี เนื่องจากการฉีดพ่นสารเคมีทำให้ดอกมะม่วงได้รับความเสียหายและสารออกฤทธิ์ของสารเคมีจะทำลายแมลงที่ช่วยผสมเกสร แต่ในช่วงดอกบานมักมีศัตรูเข้าทำลายจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการฉีดพ่นสารเคมีบ้าง หลังจากมะม่วงติดผลแล้วพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราอีกครั้ง การตัดหญ้าใช้เครื่องตัดหญ้าสะพาย ตัดตามสภาพเหตุการณ์

ผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

เมื่อมะม่วงอายุได้ 2 ปี บางต้นเริ่มติดผลบ้างแล้ว ให้เด็ดทิ้ง เหลือติดต้นละ 2-3 ผล ห่อด้วยถุงคาร์บอน 2 ชั้น หรือถุงดำ ห่อพร้อมกันหมด ทำให้ไม่รู้ว่าผลไหนแก่พร้อมจะเก็บ คนงานต้องเสียเวลาแกะถุงเพื่อเปิดดูผลที่แก่ ผลผลิตที่ได้ในชุดแรกนี้มีจำนวนน้อยไม่กี่พันผล จึงขายบ้างแจกจ่ายให้กับเพื่อนๆ เพื่อประชาสัมพันธ์สวน จนเข้าสู่ปีที่ 3 ต้นมะม่วงสูงเท่ากับศีรษะ มีความสมบูรณ์เต็มที่ ติดผลมากขึ้น ได้ผลมะม่วงขนาด 11 เซนติเมตร

ก่อนห่อด้วยถุงคาร์บอน 2 ชั้น หรือถุงดำ ผศ.พาวินแนะนำเย็บริบบิ้นสีต่างๆ ติดกับถุงห่อมะม่วงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งคุณเอกภพกำหนดไว้ 11 สี หรือ 11 ชุด ห่อสัปดาห์ละ 1 สี หรือสัปดาห์ละชุด ไล่ไปเรื่อยๆ จนครบ โดยเด็ดผลที่ไม่สมบูรณ์ มีตำหนิ ผลบิดเบี้ยวออก ให้เหลือผลที่สมบูรณ์ทรงสวยเพียงช่อละ 1 ผล

การเก็บเกี่ยว

ผลมะม่วงเริ่มแก่ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน หรือนับจากติดผล ประมาณ 100-110 วัน ใบมะม่วงเริ่มลู่ลง จึงเริ่มแกะห่อผลมะม่วงชุดแรก สังเกตก้นผลเริ่มมีสีเหลืองจึงค่อยเก็บ เลือกผลที่แก่จัดเพื่อลดการบ่ม ผลมะม่วงที่ได้มีผิวสีเหลืองเข้มอร่ามนวลงามไร้ตำหนิ ผิวเต่งตึง ผลใหญ่ ที่ยังไม่แก่ก็ปล่อยไว้ก่อน รอเก็บในชุดต่อไป ทยอยเก็บไปเรื่อยๆ จนหมดทั้ง 11 ชุด การบริหารจัดการลักษณะนี้ ทำให้มีผลผลิตออกเป็นระยะๆ ไม่มากจนเกินไป ช่วยให้บริหารการตลาดได้ง่าย

การตลาด

การตลาดมักเป็นปัญหาหนักใจสำหรับผู้ที่ไม่ได้เตรียมหาตลาดรองรับไว้ล่วงหน้า มะม่วงติดริบบิ้นชุดแรกที่เก็บได้ ตอนแรก วางแผนขายให้กับร้านขายข้าวเหนียวมะม่วงในตัวเมืองลำปาง แต่ถูกกดราคารับซื้อ จึงเปลี่ยนแผนไปวางขายที่ตลาดสีเขียวหน้า ธ.ก.ส. ลำปาง ได้กระแสการตอบรับที่ดี นอกจากนี้ ภรรยาคุณเอกภพ ชื่อ คุณอำไพ ได้เสนอขายมะม่วงพร้อมข้าวเหนียว ผ่านตลาดออนไลน์ ตลาดให้การตอบรับดีมาก เพื่อนๆ นิยมสั่งซื้อเป็นของฝาก แจกจ่ายให้กับผู้ร่วมงาน

ขณะเดียวกันร้านขายข้าวเหนียวมะม่วงในเมืองเชียงใหม่สั่งซื้อสินค้าทุกสัปดาห์ เพราะช่วงเวลาดังกล่าว มะม่วงสุกในตัวเมืองเชียงใหม่หมดฤดูแล้ว แต่ส่งขายได้ไม่กี่ครั้งมะม่วงก็หมดสวนเช่นกัน ไม่น่าเชื่อว่ามะม่วงจากสวน จำนวน 5 ตัน ขายได้หมดโดยไม่ผ่านตลาดขายส่งหรือตลาดส่งออกที่ผ่านมา เคยมีเพื่อนชาวสวนมะม่วงชวนให้คุณเอกภพ เข้าร่วมกลุ่มเพื่อผลิตมะม่วงส่งออกต่างประเทศ แต่คุณเอกภพก็ปฏิเสธไป

การตัดแต่งกิ่งเพื่อลดจำนวนกิ่ง  

การตัดแต่งกิ่งเร็วจะทำให้ต้นมะม่วงแตกยอดใหม่ ออกช่อเร็วตามการตัดแต่งกิ่ง เริ่มหลังจากเก็บมะม่วงหมดแล้ว คุณเอกภพจะเลือกตัดกิ่งที่ชี้ลงดิน กิ่งที่พุ่งเข้าหาทรงพุ่ม กิ่งกระโดง กิ่งโคนต้น เพราะกิ่งเหล่านี้มักไม่ออกช่อดอก และรูดใบทิ้งจนทรงพุ่มโปร่ง

ปัจจุบัน นอกจากปลูกมะม่วงแล้ว สวนของคุณเอกภพยังปลูกแก้วมังกร 100 ต้น มะนาวไร้เมล็ด 300 ต้น และไผ่กิมซุ่ง อีก 100 กอ ระบบการให้น้ำไผ่ไม่ต่างไปจากมะม่วง ทำให้มีรายได้หมุนเวียนระหว่างที่มะม่วงยังไม่ให้ผลผลิต คุณเอกภพได้ทำสวนส้มสายน้ำผึ้งอยู่ที่บ้านค่ากลาง ตำบลบ้านค่า อำเภอเมืองลำปาง ไม่ห่างกันมากนัก จำนวน 50 ไร่ ปลูกส้มสายน้ำผึ้ง 3,000 ต้น กับมะนาวไร้เมล็ดอีก 1,000 ต้น มีคนงานประจำ 5 คน คุณเอกภพจึงต้องเดินทางไปมาระหว่างสวนส้มและสวนมะม่วงเป็นประจำ

คุณเอกภพวางแผนก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากมะม่วงและมะนาว เนื่องจากคุณอำไพได้ทำน้ำมะนาวพร้อมดื่มออกจำหน่าย ตามคำแนะนำของอาจารย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

แม้คุณเอกภพจะไม่มีประสบการณ์เรื่องการปลูกมะม่วงมาก่อน แต่โชคดีที่ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านไม้ผลมาเป็นที่ปรึกษาการผลิตทุกขั้นตอน ช่วยให้คุณเอกภพพัฒนากิจการสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจนประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก และทำให้คุณเอกภพมีกำลังใจที่จะต่อสู้ในเส้นทางอาชีพเกษตรต่อไป ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณเอกภพ วิญญาภาพ โทร. 093-135-3131

 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2564