หลักการป้องกันกำจัดโรคมะม่วง

วิธีการควบคุมโรคมะม่วงจะประสบความสำเร็จได้มากหรือน้อยต้องอาศัยพื้นฐานของสาเหตุของโรคพืชและหลักการใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบในการดัดแปลงไปใช้ในการป้องกันกำจัดโรคพืช ดังนี้

สาเหตุของโรคไม้ผล แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้ดังนี้ คือ

  1. 1. กลุ่มสาเหตุที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต ได้แก่ การขาดแร่ธาตุอาหาร การได้รับพิษจากสารเคมี สภาพดินเค็ม ถูกแดดเผา และอากาศเป็นพิษ สาเหตุเหล่านี้มีผลกระทบให้ไม้เจริญผิดปกติ และมีผลกระทบทางสรีรวิทยาของพืช ทำให้ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ เมื่อทำการแก้ไขปัญหาตรงสาเหตุก็จะทำให้พืชเจริญตามปกติ เช่น การให้ปุ๋ยกับพืช เมื่อขาดแร่ธาตุอาหาร ลักษณะความผิดปกติจึงสามารถแก้ไขและป้องกันได้โดยตรง
  2. 2. กลุ่มสาเหตุที่เกิดจากสิ่งที่มีชึวิต ได้แก่ กลุ่มจุลินทรีย์ ซึ่งสามารถเข้าสู่พืชและทำลายเนื้อเยื่อพืชทำให้เกิดการผิดปกติทางสรีระของต้นพืช และสามารถถ่ายทอดหรือแพร่ระบาดไปยังต้นอื่นได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สำหรับเชื้อโรคของพืชบางชนิดจะสามารถระบาดได้รวดเร็ว ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก สาเหตุโรคพืชชนิดที่แพร่ระบาด ได้แก่

2.1 ไวรอยด์ (Viroid) มีขนาดเล็กที่สุดในกลุ่มสาเหตุโรคพืชและอาศัยอยู่ในน้ำเลี้ยงในลำต้นพืช จึงแพร่ระบาดได้ง่ายโดยการใช้กิ่งพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค

2.2 ไวรัสหรือวิสา (Virus) เป็นกลุ่มสาเหตุที่มีขนาดโตกว่าไวรอยด์ สามารถแพร่ระบาดได้ด้วยท่อนพันธุ์จากต้นที่เป็นโรค และบางกลุ่มของไวรัสแพร่ระบาดโดยแมลงเพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง และไส้เดือนฝอย

2.3 มายคอพลาสมา (Mycoplasma) เป็นกลุ่มสาเหตุของโรคที่มีรูปร่างเซลล์ ไม่แน่นอน ไม่มีผนังเซลล์ ไม่มีนิวเคลียสที่ชัดเจน ขยายพันธุ์ในท่อน้ำท่ออาหาร ของพืชที่เป็นโรค ถ่ายทอดและแพร่ระบาดทางแมลง เพลี้ยจักจั่น หรือเพลี้ยกระโดด มายคอพลาสมาจะอ่อนแอและถูกทำลายโดยสารปฏิชีวนะเตตราไซคลิน

2.4 ริคเคทเซีย (Rickettsia) มีขนาดโตกว่ามายคอพลาสมา มีผนังเซลล์ที่ชัดเจน ไม่มีผนังหุ้มนิวเคลียส และขยายพันธุ์เฉพาะในเซลล์ท่อน้ำท่ออาหาร ในต้นพืชที่เป็นโรคและแพร่ระบาดโดยแมลงเพลี้ยจักจั่นบางชนิด

2.5 แบคทีเรียหรือบักเตรี (Bacteria) มีรูปร่างที่แน่นอน มีลักษณะโตกว่ามายคอพลาสมา และริคเคทเซียมีผนังเซลล์ที่ชัดเจน ไม่มีผนังหุ้มนิวเคลียสขยายพันธุ์ และแพร่ระบาดเข้าทำลายได้แทบทุกส่วนของพืชโดยเฉพาะในท่ออาหารของพืช เข้าทำลายทางแผลบนผิวพืชหรือเข้าทางช่องเปิดธรรมชาติ เช่น ปากใบ แพร่ระบาดโดยทางน้ำ ลม ฝน แมลง ติดไปกับท่อนพันธุ์ และสามารถฟักตัวหรือตกค้างในดินได้นาน บักเตรีจะถูกควบคุมโดยสารปฏิชีวนะ และสารทองแดงที่ใช้ควบคุมเชื้อรา

2.6 รา (Fungus) มีลักษณะเป็นเซลล์เดียว หรือต่อกันเป็นเส้นใย หรือเป็นกลุ่มเส้นใย นิวเคลียสมีผนังหุ้มชัดเจน เป็นกลุ่มสาเหตุของโรคพืชที่มีมากชนิดที่สุด ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและมีแพร่ระบาดทั่วไปในดิน ในอากาศ ในน้ำ สามารถเข้าทำลายพืชได้โดยตรงหรือเข้าทางแผล ฟักตัวบนเนื้อเยื่อพืชที่เป็นโรคและตกค้างในดิน และในน้ำได้นาน กลุ่มเชื้อราชั้นต่ำ มักแพร่ระบาดทางน้ำ ทางดิน และทางลมฝนได้ดี ส่วนกลุ่มเชื้อราชั้นสูงอาศัยลม ลมฝน และทางดิน ช่วยในการแพร่ระบาด การควบคุมเชื้อราด้วยสารเคมีมักใช้ได้ผลดีแตกต่างกัน ตามกลุ่มของเชื้อรา

2.7 สาหร่าย (Parasitic algae) เป็นกลุ่มสาหร่ายชนิดเดียวที่ทำให้เกิดโรคพืชเป็นจุดสนิม ลำต้นรวมตัวเป็นกลุ่มฟูสีเขียวเหลืองหรือส้ม มองเห็นได้ชัดเจน สามารถแพร่ระบาดได้รวดเร็วด้วยลมและฝน เข้าทำลายใบ กิ่ง และผล ซึ่งอยู่ในพุ่ม การควบคุมสาหร่ายมักใช้สารประกอบทองแดงฉีดพ่น

2.8 ไส้เดือนฝอย (Nematode) มีรูปร่างแบบเส้นด้ายหรือพองโตแบบลูกสาลี มีขนาดเล็กมาก ซึ่งอาศัยดูดกินเนื้อเยื่อและน้ำเลี้ยงในต้นพืช บางชนิดดูดกินที่ผิวรากพืช บางชนิดเข้าไปดูดกินภายในรากพืช และส่วนอื่นของพืช เช่น ดอก ผล ใบ และเมล็ด ไส้เดือนฝอยสาเหตุโรคพืชแพร่ระบาดทางดินและน้ำ และมีบางชนิดแพร่ระบาดโดยแมลง เนื้อเยื่อพืชที่ถูกไส้เดือนฝอยทำลายที่ตกค้างในดิน จะเป็นแหล่งแพร่ระบาดที่สำคัญของไส้เดือนฝอย วิธีการควบคุมจึงต้องเน้นการอบฆ่าเชื้อในดิน