เผยแพร่ |
---|
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาการเลี้ยงผึ้งน้ำปั้ว จังหวัดน่าน ต้นแบบแปลงใหญ่ รวมกลุ่มผลิตน้ำผึ้งมาตรฐานสร้างรายได้ปีละเกือบ 10 ล้านบาท
นายประทวน จันทร์ดี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยเกิดการรวมกลุ่ม ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ มีการจัดหาปัจจัยการผลิตใช้ในกลุ่ม ช่วยลดต้นทุนการผลิต
ทั้งยังมีการวางแผนการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาการเลี้ยงผึ้งน้ำปั้ว อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็น 1 กลุ่มตัวอย่างความสำเร็จ หลังจากที่เข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ประชารัฐ เมื่อปี 2559
โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในพื้นที่ตำบลบ้านน้ำปั้ว และพื้นที่ใกล้เคียง ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ วางแผนและบริหารจัดการตามมาตรฐานปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มผึ้ง ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดหาปัจจัยการผลิตราคาถูกให้กับสมาชิก และหาตลาดรับซื้อผลผลิตให้ด้วย
ด้าน นายนคร ปัญญาเจริญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาการเลี้ยงผึ้งน้ำปั้ว กล่าวว่า ข้อดีของการรวมกลุ่มแบบแปลงใหญ่ คือเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในพื้นที่ได้ร่วมกันคิด ช่วยกันวางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ ที่สำคัญคือ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องคอยให้การสนับสนุนทั้งองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะสำนักงานเกษตรอำเภอเวียงสา ที่สนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินงานของทางกลุ่มฯ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังได้รับการอบรมการเลี้ยงผึ้งจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ และได้นำนางพญาผึ้งพันธุ์ดีมาแจกจ่ายให้กับสมาชิก และมีการประสานจัดหาน้ำตาลดิบปัจจัยการผลิตราคาถูกจากโรงงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ประสานกับบริษัทเอกชนมารับซื้อผลผลิตน้ำผึ้งในราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป ปัจจุบัน มีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 50 ราย
มีการเพิ่มคุณภาพผลผลิตด้วยการร่วมกันเพาะพันธุ์นางพญาผึ้งสายพันธุ์ดี ร่วมกันจัดซื้อน้ำตาลทรายดิบจากโรงงานโดยตรง ทำให้ต้นทุนลดลงจากเดิม ต้นทุนนางพญาสายพันธุ์ดีอยู่ที่ตัวละ 20 บาท เหลือตัวละ 5 บาท น้ำตาลทราย จากกระสอบละ 1,150 บาท เหลือเป็นน้ำตาลทรายดิบ กระสอบละ 844 บาท คิดเป็นต้นทุนการผลิตที่ลดลง 30% ต่อปี
ซึ่งสมาชิกฟาร์มผึ้งแต่ละรายได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มผึ้งทั้งหมด สามารถผลิตน้ำผึ้งคุณภาพมาตรฐานได้ประมาณ 174 ตัน ต่อปี โดยปี 2563 มีรายได้ ประมาณ 9.5 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าที่รายได้ของกลุ่มแปลงใหญ่จะไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ขายผลผลิตได้ลดลง
สำหรับผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งของกลุ่มจะขายเป็นถังให้กับ บริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย และส่งพ่อค้าจากไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีวางจำหน่ายที่ศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประจำองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำปั้ว งานแสดงสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล จังหวัดน่าน และมีการออกบู๊ธตามงานต่างๆ ภายใต้แบรนด์ “น้ำผึ้งน้ำปั้ว”
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีคู่แข่งทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทางกลุ่มจึงต้องปรับกลยุทธ์ ด้วยการขยายตลาดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าเจาะกลุ่มสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ ร้านขายของฝาก ร้านอาหาร โรงแรม และกลุ่มนักท่องเที่ยว เป็นต้น ควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงกว่าคู่แข่ง พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามเหมาะกับการเป็นของฝากของขวัญ ในอนาคตจะเพิ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มีความหลากหลายและขยายช่องทางการตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับสมาชิก