วว. ผนึกกำลังจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย “การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อใช้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรและชีวภาพ อาหาร เวชสำอางไทย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สร้างและรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติของจังหวัดสุราษฎร์ธานี กระตุ้นให้เกิดการนำรายได้คืนสู่การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นฐานรากของทรัพยากรนั้นไว้เพื่อความยั่งยืนต่อไป โอกาสนี้ ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. พร้อมผู้บริหาร และบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติด้วย ในวันอังคารที่ 23 มีนาคม 2564 ณ ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ วว. ที่มุ่งเน้นเสมอมาคือ การนำองค์ความรู้ งานวิจัยต่างๆ ที่ วว.ได้ทำไว้แล้ว หรืออาจจะยังไม่เคยทำ แต่ประเมินแล้วว่า วว. มีศักยภาพ สามารถทำได้ นำมาสร้างประโยชน์ นำมาต่อยอด เพื่อให้งานวิจัยและองค์ความรู้เหล่านั้น มีการนำไปใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจของผู้ประกอบการท้องถิ่นหรือชุมชน เสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการทั้งหลายมีความกล้าที่จะก้าวข้ามอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโมเดลที่ วว. อยากให้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ

“…โมเดลนี้อาจมีอัตลักษณ์ตามบริบทของแต่ละจังหวัดที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็จะมีโมเดลที่มีการออกแบบสร้างมาเพื่อคนสุราษฎร์ธานี เพื่อให้การทำงานของ วว. และสุราษฎร์ธานี เป็นคู่พันธมิตรมุ่งไปสู่ความสำเร็จ และสามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อนจังหวัด รวมทั้งตอบโจทย์ภาคเอกชนที่จะใช้ประโยชน์ในธุรกิจนั้นต่อไป…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ภายใต้การลงนามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ วว. จะนำผลงานวิจัยและพัฒนา และงานบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ การวิเคราะห์และทดสอบ ไปใช้ในการเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจด้านอุตสาหกรรมชีวภาพและเกษตรแปรรูป โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันคือ การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการพัฒนาระบบ shared service เน้นอาหารแปรรูป สินค้าเกษตรเครื่องสำอางและเวชสำอางจากพืช จุลินทรีย์ วัสดุธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่พัฒนาจากทรัพยากรของท้องถิ่น การใช้องค์ความรู้จากการวิจัย การวิเคราะห์และทดสอบ ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับท้องถิ่น ประเทศและสากล

ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า การดำเนินงานในส่วนภาคการตลาดนั้น จะร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และบูรณาการส่งเสริมการตลาดจากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจากทรัพยากรท้องถิ่นของจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริม กระตุ้นให้เกิดการนำรายได้คืนสู่การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นฐานรากของทรัพยากรนั้นไว้เพื่อให้ยั่งยืน สร้างความสุขให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการ นำนวัตกรรมที่ร่วมกันสร้างไปตอบโจทย์ของจังหวัด พร้อมทั้งก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคไปด้วยกันอย่างมั่นใจ และร่วมกันดำเนินงานอย่างสัมฤทธิ์ผลเพื่อคนสุราษฎร์ธานีทั้งปวง

นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีแนวทางการพัฒนาจังหวัดโดยยึดหลักการพัฒนาตามบริบทของชุมขน สังคม และทรัพยากรของจังหวัด รวมทั้งนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาประกอบเป็นแนวทางการพัฒนา ซึ่งมุ่งเน้นให้แต่ละโครงการร่วมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของคนในจังหวัด รวมทั้งร่วมกันขับเคลื่อนความเจริญเติบโตจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิตบนฐานทรัพยากรการใช้ภูมิปัญญา และนวัตกรรม นำมาผสมผสานร่วมกัน ก่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต

“…จากพิธีลงนามในวันนี้ เราจะได้ผนึกกำลังร่วมกันในการขับเคลื่อนฐานทรัพยากรด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการของจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้อย่างยั่งยืน นอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว เรายังต้องสร้างทุนมนุษย์ที่ดีให้กับประเทศ รวมทั้งการพัฒนานั้นต้องเกิดประโยชน์ต่อคนทั้งระบบให้ครบ Value chain ที่กระจายลงสู่ฐานราก ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมร่วมกัน และการพัฒนานั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้คนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีคุณภาพชีวิต มีอาชีพที่ดี และมีการสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือมีฐานะทางการเงินที่เพิ่มพูนขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการสร้างความสุขของคนสุราษฎร์ธานีต่อไป ผมอยากเห็นคนสุราษฎร์ธานีของผมมีความสุข ผมพร้อมช่วยผลักดันในทุกด้าน…” ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าว