ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การทำเกษตรแบบผสมผสาน หรือไร่นาสวนผสม ไม่มีคำจำกัดความ ไม่มีกติกาหรือกฎตายตัว ว่าต้องเป็นพืชชนิดใด เลี้ยงสัตว์ชนิดใด ทั้งนี้ เพราะแต่ละพื้นที่และท้องถิ่นมีสภาพทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน การผสมผสาน ขอให้ยึดหลัก สร้างความร่มรื่น ให้พืชหลายชนิดที่ปลูกอยู่ในพื้นที่เดียวกันมีการเกื้อกูลกันทางธรรมชาติให้มากที่สุด และสำคัญที่สุดคือผู้ปลูกต้องได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วยังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน
คุณจินดา ฟั่นคำอ้าย อยู่บ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 2 ตำบลผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง อดีตศึกษานิเทศก์ จังหวัดลำปาง เป็นอีกท่านหนึ่งที่สนใจการทำเกษตรผสมผสาน แล้วตั้งใจเดินตามแนวทางนี้ในบั้นปลายชีวิต จึงวางแผนล่วงหน้าก่อนจะเกษียณอายุราชการในปี 2558
อดีตศึกษานิเทศก์ท่านนี้ให้เหตุผลที่เลือกแนวทางการทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน เนื่องจากสมัยที่รับราชการได้มีโอกาสเดินทางไปดูงาน ตลอดจนศึกษาหาความรู้ด้านการทำเกษตรหลายแห่ง หลายด้าน ล้วนพบว่า การทำเกษตรกรรมแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะเกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายมาก เพราะรายได้ของการมีชีวิตแบบชาวไร่ ชาวนา ส่วนใหญ่เกิดจากการทำเกษตรกรรม แล้วเมื่อมีความเสียหายจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวแล้ว พวกเขาจะได้รับผลกระทบโดยตรงทันที แล้วจะอยู่กันอย่างไร
“หนทางออกที่ดีที่สุดคือ การทำสวนเกษตรผสมผสาน ทั้งนี้ การผสมผสานอาจไม่มีกฎตายตัว ว่าต้องปลูกพืชชนิดใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของแต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่น”
กำหนดทุกกิจกรรมในสวนเกษตรผสมผสานต้องเป็นอินทรีย์เท่านั้น คุณจินดา มีพื้นที่อยู่จำนวน 19 ไร่ ได้จัดสรรแบ่งพื้นที่การปลูกพืชชนิดต่างๆ รวมถึงยังได้ขุดบ่อเลี้ยงปลา และเลี้ยงไก่ด้วย แล้วยังทำนาข้าวเหนียวนาปี พันธุ์ กข 6 จำนวนพื้นที่ 17 ไร่
ข้าวในนาของคุณจินดา ปลูกเน้นความเป็นอินทรีย์ตั้งแต่เริ่มแรกที่ต้องดูแลบำรุงดินก่อนปลูกข้าวตามฤดูกาล โดยไม่มีการเผาตอซัง แต่จะไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด แล้วปล่อยเศษฟางข้าวไว้กลางทุ่งเพื่อให้เน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยในดิน อีกทั้งได้นำถั่วลิสงที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวแล้วนำมาเข้ากระบวนการทำปุ๋ยหมัก แล้วผสมกับฟางข้าว ขี้วัว ขี้ไก่ เศษใบไม้ ใส่ลงในดิน
แนวทางนี้ทำให้ข้าวในนาของคุณจินดาได้ผลผลิตครั้งละประมาณ 250 ถุง (ถุงละ 42 กิโลกรัม) เขาบอกว่า เป็นผลผลิตที่สูง เพราะปลูกแบบอินทรีย์ด้วยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ต่างจากชาวบ้านแหล่งอื่นที่มักเผาตอซัง แล้วบ่นว่าได้ผลผลิตน้อย
นอกจากนั้น สวนแห่งนี้ยังปลูกพืชสวนครัว ได้แก่ พริก ข่า ตะไคร้ หรือไม่เว้นแม้แต่พืชกินใบ อย่างกะหล่ำปลี ผักกาดดอก ซึ่งเป็นพืชที่เหมาะกับช่วงอากาศหนาว ดังนั้น จึงวางแผนปลูกพืชเหล่านี้ด้วยการเพาะไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วนำไปปลูกในพื้นที่ทำนาหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วในช่วงปลายปี
อีกส่วนของพื้นที่สวนเกษตร คุณจินดา ได้ทำเป็นสวนมะนาวพันธุ์ตาฮิติ มีทั้งแบบปลูกลงดินกับปลูกในวงบ่อ เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพราะต้องการเปรียบเทียบการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต และความทนทาน โดยมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 80 ต้น ระยะปลูก 4 เมตร ต้นพันธุ์เป็นกิ่งตอน มีอายุปลูก 8 เดือน และยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของมะนาวพันธุ์ตาฮิติ คือออกดอกติดผลตลอดปี โดยไม่ต้องใช้สารเร่ง มีการดูแลบำรุงต้นมะนาวและดินด้วยปุ๋ยคอก แกลบ ผสมกับมูลวัว มูลควาย นอกจากนั้น จะให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และฉีดน้ำสมุนไพรไล่แมลงปีละ 1 ครั้ง และใส่ปุ๋ยคอกปีละ 2 ครั้ง
เจ้าของสวนบอกเหตุผลที่ต้องปลูกมะนาวพันธุ์นี้ เพราะต้องปลูกร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งจะมีผลกับการตลาด เนื่องจากมีภาคเอกชนมารับซื้อแบบทำสัญญารายปีกัน ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่เหมาะสมเพราะเป็นการเฉลี่ยราคาทั้งปี
ส่วนไก่ที่เลี้ยงมี 2 พันธุ์ คือ ไก่พื้นเมือง และไก่พันธุ์ประดู่หางดำ มีรวมกันทั้งหมด 100 กว่าตัว เป็นประดู่หางดำ จำนวน 48 ตัว ทั้งนี้ ไก่ทั้งหมดจะปล่อยให้หากินตามธรรมชาติกับให้อาหารจากผักกะหล่ำปลี ผักบุ้ง กล้วย มาต้มผสมกับรำ มีบ่อปลา จำนวน 4 บ่อ เลี้ยงปลาสวาย ปลาจะละเม็ด และปลานิล แล้วนำพืชผักมาใช้เป็นอาหารปลา นอกจากนั้น มีรายได้เป็นรายปีอยู่กับสวนยูคาลิปตัสจำนวนหมื่นกว่าต้น บนเนื้อที่ 30 กว่าไร่
เดินตามแนวทางนี้แทบไม่ต้องใช้เงิน จึงมีเหลือออม
ชุมชนของคุณจินดา ไม่มีตลาด หรือร้านค้า อีกทั้งยังมีความเป็นอยู่แบบชาวชนบท ซึ่งชาวบ้านแต่ละครัวเรือนมักทำเกษตรกรรมไว้บริโภคในครัวเรือนโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ ด้วยเหตุนี้แต่ละครัวเรือนจึงมักทำเกษตรแบบผสมผสาน ขณะเดียวกัน ถ้ามีผลผลิตมากเกินก็มักส่งเข้าไปขายในตลาด
คุณจินดา เผยว่า วิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบนี้ถือเป็นความพอเพียง ครอบครัวของเขาแทบจะไม่ต้องใช้เงินเลย เพียงแต่อาจมีรายได้เกี่ยวกับวัสดุปรุงกับข้าว อย่าง กะปิ น้ำปลา น้ำตาลทราย ผงชูรส เท่านั้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่มาก แล้วไม่ต้องซื้อบ่อย จึงมีความเป็นอยู่แบบพอเพียง สร้างภูมิคุ้มกันที่ยั่งยืน
“การที่สามารถบอกได้อย่างเต็มปาก เพราะประสบกับทุกสิ่งที่ปฏิบัติมาด้วยตัวเอง และพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกอย่างที่ในหลวงทรงมอบให้ชาวบ้านเป็นของจริง เพราะทุกวันนี้ชีวิตมีความพอเพียงจริง มีเงินเหลือออมจริง”
ภายใต้กรอบของวิถีพอเพียงที่จะต้องนำทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่มาทำเกษตรกรรม คุณจินดา นำแกลบจากข้าวที่ปลูกมาเผา แล้วจะนำไปใช้ในการผสมปุ๋ยและเป็นวัสดุปลูกพืช มีการเผาถ่านเองจากต้นไม้ในละแวกบ้านเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง แล้วยังนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์ด้วย
ปลูกไผ่ รักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้
นอกจากพืชหลายชนิดแล้ว ไผ่ ยังเป็นพืชสำคัญของชาวตำบลผาปัง เนื่องจากชุมชนนี้มีการนำไผ่มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งสิ่งของเครื่องใช้และพลังงาน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจึงมีการเพาะเลี้ยงไผ่เพื่อสร้างรายได้
คุณจินดา ปลูกไผ่กิมซุ่ง เหตุผลที่เลือกเพราะสามารถให้หน่อได้ตลอดทั้งปี ซื้อมาเพียงต้นเดียว แล้วนำมาขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนกว่า 50 ต้น บางส่วนที่ขยายแล้วนำไปปลูกริมรั้ว เป็นกำแพงทางธรรมชาติ แล้วมีโครงการเพาะ-ขยายต่อไปอีกไม่จำกัด เพราะมองว่าเป็นพืชที่ปลูกง่าย การดูแลไม่ยุ่งยาก เพียงแต่อย่าขาดน้ำ แล้วยังมีตลาดรองรับที่แน่นอนด้วย
เจ้าของสวนรายเดิมชี้ว่า ไผ่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่สำหรับเขาเลือกบางวิธีที่เหมาะสมและมีความสะดวกสอดคล้องกับพื้นที่ อย่างเช่น การแยกกอ หรือเหง้า การชำปล้อง และการปักชำแขนง
พร้อมกับให้รายละเอียดว่า ถ้าเป็นการขยายพันธุ์โดยการแยกกอ หรือเหง้า ควรเลือกเหง้าที่มีอายุ 1-2 ปี โดยตัดตอให้สูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร แล้วขุดเหง้ากับตอออกจากกอแม่ และต้องระวังอย่าให้ตาที่กอเหง้าเสียหาย เพราะตานี้จะแตกเป็นหน่อต่อไป
อย่างไรก็ตาม การขยายพันธุ์วิธีนี้จะได้เหง้าแม่ที่สะสมอาหารอยู่มาก จึงมีอัตราการรอดตายสูง ทำให้หน่อแข็งแรงและได้หน่อเร็วกว่าวิธีขยายพันธุ์โดยการใช้กิ่งแขนงหรือลำ
อีกวิธีคือการขยายพันธุ์โดยการชำปล้อง ซึ่งต้องเลือกลำที่มีอายุประมาณ 1 ปี แล้วนำมาตัดเป็นท่อนๆ แต่ละท่อนมี 1 ข้อ โดยจะต้องตัดตรงกลางท่อน ให้รอยตัดทั้งสองข้างห่างจากข้อ ประมาณ 1 คืบ และต้องมีแขนงติดอยู่ประมาณ 1 คืบ แล้วจึงนำไปชำในแปลงเพาะ ให้วางอยู่ระดับดินแล้วให้ตาหงายขึ้น ทั้งนี้ ต้องระวังอย่าให้ตาได้รับอันตราย เพราะจะทำให้หน่อไม่งอก หลังจากนั้น เทน้ำใส่ปล้องไผ่ให้เต็ม
วิธีสุดท้ายคือ การขยายพันธุ์โดยใช้กิ่งแขนงปักชำ โดยให้เลือกกิ่งแขนงที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1-1.5 นิ้ว ดูรากของกิ่งแขนงที่มีสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมเหลือง และมีรากฝอยแตกจากรากแขนงแล้ว ให้เลือกกิ่งแขนงที่ใบยอดคลี่แล้ว และกาบหุ้มตาหลุดหมดแล้ว หรือเลือกกิ่งแขนงที่มีอายุ 4-6 เดือน ถ้าเป็นกิ่งค้างปียิ่งดี
ภายหลังที่ได้กิ่งแขนงแล้ว ให้ตัดแยกกิ่งแขนงออกจากลำไผ่ ตัดปลายกิ่งออกให้เหลือ 80-100 เซนติเมตร การปักชำ ควรจะทำในปลายฤดูฝนหรือในราวเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิ่งแขนงมาก โดยต้องเตรียมแปลงเพาะชำด้วยการไถพรวนดิน ควรตากดินทิ้งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ ต้องขุดร่องให้เป็นแนวเหนือ-ใต้ ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ให้ร่องห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้กิ่งแขนงได้รับแสงแดดทั่วทุกด้าน นำกิ่งแขนงปักชำลงในร่อง ห่างกันประมาณ 15-20 เซนติเมตร หลังจากนั้นแล้ว ประมาณ 6-8 เดือน จะเริ่มแตกแขนงใบและรากที่แข็งแรง พร้อมที่จะย้ายลงปลูกในแปลงได้
พึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ไม่ต้องเสียค่าไฟ
ในปัจจุบัน ชุมชนที่คุณจินดาอาศัยอยู่ยังไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง ดังนั้น เขาจึงต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้กับทุกอย่างในบ้าน มีการต่อระบบวงจรไว้แต่ละจุด แบ่งแยกตามความต้องการใช้งานอย่างชัดเจน
โดยความรู้เรื่องการต่อระบบพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์นี้ได้มาจากลูกชายที่ขายแผงโซลาร์เซลล์เป็นคนสอนให้ นอกจากนั้น เขายังให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการใช้แบตเตอรี่ที่ชำรุดด้วยการนำมารีไซเคิลใหม่ โดยเป็นการช่วยเหลือฟรี
สวนเกษตรผสมผสานของคุณจินดา จึงถือเป็นต้นแบบของแหล่งความรู้ แนวทางการทำอาชีพเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเองที่ยั่งยืน แล้วได้รับการจัดตั้งเป็น “ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ประจำตำบลผาปัง” จึงเป็นสถานที่สำหรับให้ผู้คนที่สนใจเกษตรทฤษฎีนี้เข้ามาเรียนรู้กันอย่างเต็มที่
“ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากจนทำให้คนที่อยู่ในอาชีพเกษตรกรรมหลงไปตามกระแส แล้วมักลืมความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม แต่ถ้าทุกคนสนใจที่จะเอาใจใส่ในอาชีพด้วยการแสวงหาความรู้การใช้ชีวิตแบบวิถีพอเพียงได้อย่างถ่องแท้ ชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนก็จะมีความแข็งแรงและมั่นคง และที่สำคัญในเมื่อปฏิเสธเทคโนโลยีเหล่านั้นไม่ได้ ก็ยอมรับมาใช้ แต่ควรเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ตรงและเกิดประโยชน์กับตัวเรา” คุณจินดา กล่าว
สอบถามรายละเอียด หรือปรึกษาการทำสวนเกษตรผสมผสานจาก คุณจินดา ฟั่นคำอ้าย ได้ที่ โทรศัพท์ (089) 632-3325
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2564