“ยอดหมุย” ผักเป็นยา แก้พิษงู

พบต้นพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยได้พบเจอที่ไหนมากนัก เด็ดใบดมดู มีกลิ่นหอมร้อนแรง ชิมดูได้รสหวานเผ็ดร้อน ต้นเป็นพุ่มสูงท่วมหัว มีต้นอ่อนเล็กๆ ขึ้นบริเวณโคนต้นหลายต้น สอบถามคนรู้จักเขาบอกว่า ชื่อ “ต้นหมุย” เป็นต้นไม้ยา ยอดใบกินได้ เป็นผักสดแกล้มน้ำพริก แกงเผ็ด และพอทราบว่า ภาคใต้ของไทยเรามีขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป เป็นที่นิยมกินของชาวใต้ เป็นผักแกล้ม แกงไตปลา และขนมจีนน้ำยา ชิมดูรสชาติเป็นอย่างนี้ คงถูกใจคนไทยแน่นอน โดยเฉพาะกลิ่นที่หอมแรงอย่างนี้ ประทับใจโจ๋รุ่นลุง รุ่นป้า แน่นอน

“หมุย” เป็นพืชในวงศ์ RUTACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Micromelum minutum (Forst.f.) Wight & Am. มีหลายชื่อ เรียกขานกันตามภูมิภาคต่างๆ เช่น สระบุรี เรียก หัสคุณ ภาคตะวันตก เรียก… หมุยขาว ภาคใต้ เรียก สมุย มุยขาว ชะมุย กะม่วง ภาคตะวันออก เรียก… สาบแร้งสาบกา ภาคเหนือ เรียก…หมอน้อย หวด กาจับหลัก จี้ปุกตัวผู้ มองคอง หญ้าสาบฮิ้น คอนขม สามโชก ภาคอีสาน เรียก…ดอกสมัด สะแบก เพี้ยฟานดง ฉี้ ลิ้นชี่ สมัดดง สมัดต้น สมัดใหญ่ ท่านที่เคยรู้จักพบเห็นในถิ่นไหนก็สอบถาม เด็ดดม ชมชิมดู แต่จะถูกใจอร่อยถูกปากหรือไม่ อยู่ที่รสสัมผัสของท่านเอง

หมุย หรือชื่อต่างๆ ตามที่เรียกขานกันแต่ละถิ่น ที่จริงอยากจะเรียกว่า “สมุย” เพราะดีกว่า มันเหมือนชื่อเกาะน่าเที่ยวทางทะเลมาก แต่ดูการเรียกแต่ละพื้นที่เรียกกัน เอาชื่อกลางๆ ว่า “หมุย” นั่นแหละ ก็ดูน่าฟัง ชวนสยิวเหมือนกัน หมุยมีอยู่ 3 ชนิด นะพี่น้อง หมุยหอม หมุยขม และ หมุยช้าง ที่นิยมและกินได้คือ หมุยหอม ส่วนอีก 2 หมุย ทั้งเฝื่อน ขมจัด ไม่นิยมกินกัน

หมุย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงกลาง สูงประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นขนาดเล็ก ผิวต้นสีน้ำตาลอมเขียวเล็กน้อย แตกพุ่มออกยอดใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก คล้ายใบมะกอก มีก้านใบยาว 25-30 เซนติเมตร มีใบย่อยรูปไข่ ปลายแหลม 9-10 คู่ ออกตรงข้ามกัน หรือเหลื่อมกันเล็กน้อย ปลายสุดมี 1 ใบ ใบสีเขียวเกลี้ยงมันวาว ด้านหลังใบสีเขียวอ่อนกว่า หน้าใบมีขนสั้นๆ เล็กน้อย แผ่นใบสั้นเล็ก กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ปลายใบเป็นหยักคลื่น ถ้าเอาใบส่องแดดดู จะเห็นต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไป จับดูจะรู้สึกเหนียว ขยี้ใบดมดู จะมีกลิ่นหอม เหมือนการบูร ดอกออกเป็นช่อเล็กๆ ตามกิ่ง ดอกสีขาว กินได้ ผลสุกสีชมพู มีรสหวานเล็กน้อย

การขยายพันธุ์ปลูก สามารถทำได้ทั้งเพาะเมล็ด แยกต้นอ่อนปลูก และปักชำกิ่งยอด ทดลองดูหลายวิธี พบว่า การปักชำโดยวิธีควบแน่น คือตัดกิ่งกลางแก่กลางอ่อน หรือกิ่งติดยอด ตัดยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ตัดใบออกทิ้ง 2-3 ส่วน ปักชำในถุงหรือกระถางขนาดเล็ก บรรจุลงในถุงพลาสติกขนาดใหญ่กว่ากระถางเล็กน้อย รดน้ำให้ชุ่ม รัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้อากาศเข้า ไว้สภาพนี้สัก 7-10 วัน จะพบว่า กิ่งยอดที่ปักชำ จะติดใบเดิมมีสีเขียวอยู่ หรืออาจมียอดใหม่แทงออกมาบ้าง เปิดปากถุง เลี้ยงต่อในที่ร่มแสงรำไร จะได้หมุยต้นใหม่ไปปลูกได้ แต่ถ้ารอหรือพบต้นหมุยที่ออกลูกแล้ว ก็นำไปผึ่งลมให้แห้งแล้วเอาไปเพาะ เหมือนเพาะกล้าไม้ทั่วไปได้ และถ้าจะเอาต้นเล็กๆ ไปปลูกเลย แนะนำให้ขุดเอาทั้งราก ซึ่งแตกจากรากใต้ดินของต้นใหญ่ มีราก มีต้น เอาไปเลี้ยงสักระยะ ตั้งตัวได้แล้ว จึงนำไปลงหลุมปลูกได้

หมุย มีประโยชน์ทางยา รากต้นหมุยมีสรรพคุณแก้พิษงูได้ โดยฝนรากหมุยผสมเหล้าขาว พอกแผลที่ถูกงูกัด ใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นใช้แก้พิษจากโลหะ เช่น สังกะสี มีด ของมีคมบาด ตะปูตำ รากต้มน้ำดื่ม แก้โลหิตข้น นิ่วในไต ขับเลือดขับหนอง ทั้งรากและใบ แก้ไข้ ไอ หืด หอบ ลมเสียดแทง ขับลม ปวดศีรษะ ริดสีดวงจมูก ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ บำรุงถุงน้ำดี ขับพยาธิไส้เดือน ผิวเปลือกต้นใช้รักษาแผล แก้พิษงูได้เช่นกัน หรือหมอยาไทยใช้ผสมสมุนไพรอื่นๆ รักษาคนป่วย เช่น ต้มรวมกับว่านน้ำ แก้หลอดลมอักเสบ รากผสมเป็นยาหยอดตา แก้ตาฝ้าฟาง แสบตา ดื่มแก้พิษงู ฯลฯ

ส่วนสรรพคุณทางอาหาร รู้ว่า หมุย มีรสเผ็ดร้อน มัน และกลิ่นหอม นิยมใช้ยอดอ่อนและดอก เป็นผักแกล้ม ภาคใต้ เรียก ผักเหนาะ แกล้มน้ำพริก แกงเผ็ด แกงไตปลา แกงหน่อไม้ ลาบ ยำ ขนมจีนน้ำยา ฯลฯ คุณค่าทางอาหาร ยอดใบหมุย 100 กรัม ให้เส้นใยอาหาร (Fiber) 14.2 กรัม เบต้าแคโรทีน 5,390 มิลลิกรัม ให้โปรตีน แคลเซียม วิตามิน A วิตามิน C เหล็ก และสารอาหารอีกหลายอย่าง

พืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น ต่างล้วนมีความโดดเด่นในตัวของมันเอง มีการประยุกต์ดัดแปลง ปรับแต่งตามรสนิยม และค่านิยมของคนไทยแต่ละพื้นถิ่น ที่สำคัญ เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เกิดมาเป็นคนไทย มีอัตลักษณ์ มีภูมิปัญญา มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย อยู่อย่างไทย กินอย่างไทย และศรัทธาความเป็นคนไทย นี่คือหมุดหมายของชีวิตที่มีคุณค่าสูงยิ่ง จึงดำรงความเป็นไทยไว้ได้ตลอดชั่วอายุขัย