กัญชา…เส้นทางเดิน…ที่ก้าวไกล

ชื่อสามัญ กัญชา (Cannabis)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. ssp. Indica

วงศ์ CANNABIDACEAE

ณ เวลานี้ คงไม่มีพืชตัวไหนร้อนแรงเท่ากัญชาอีกแล้ว เส้นทางเดินของมันช่างยาวนานผ่านบทบาทอันโชกโชน…ในอดีต กัญชา เคยเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายมาก่อน จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติได้รับเอาอนุสัญญาเดี่ยว ว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกจึงเข้าลงนามผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าว

ประเทศไทยนำกัญชามาใช้ในเชิงสันทนาการมานานแล้ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังปรากฏหลักฐานในภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง เรื่อง “รามเกียรติ์” ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ที่กองทัพลิงสูบกัญชาอย่างสนุกสนาน และบทละครเรื่อง “ระเด่นลันได” ของพระมหาเทพ (ทรัพย์) ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็มีการกล่าวถึงกัญชาอยู่บ่อยๆ

เมื่อนั้น…                       นางประแดะหูกลวงดวงสมร

Advertisement

ครั้นรุ่งเช้าท้าวประดู่ภูธร    เสด็จจรจากเวียงไปเลี้ยงวัว

โฉมเฉลาเนาในที่ไสยา      บรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว

Advertisement

แล้วอาบน้ำทาแป้งแต่งตัว หวีหัวหาเหาเกล้าผมมวย…

                        ———-

…แล้วเชิญหม้อตุ้งก่าออกมาตั้ง      นางนั่งเป่าชุดจุดถวาย

ทรงศักดิ์ชักพลางทางยิ้มพราย        โฉมฉายควั่นอ้อยคอยแก้คอ

(ตุ้งก่า คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการสูบกัญชา : วิถีพีเดีย)

กัญชา มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้ การนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ มีมาแต่โบราณสมัยอยุธยาตอนปลาย ดั่ง “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ขนานที่ 43 ชื่อ “ยาทิพกาศ” เป็นยาเจริญอาหาร ก็มีใบกัญชาเป็นส่วนผสมของยาในตำรับด้วย

นอกจากใส่ในอาหารอร่อยจนหยดสุดท้าย และใช้ในการรักษาโรคแล้ว เส้นใยของกัญชาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านสิ่งทออีกด้วย ซึ่งในเอกสารโบราณถูกบันทึกไว้ว่า ประเทศจีนมีการปลูกกัญชาเป็นพืชเส้นใยเมื่อหลายพันปีก่อน ส่วนประเทศทางยุโรปได้พัฒนาใช้เส้นใยมาทำกระดาษ ทำเป็นเชือกเพื่อการล่าสัตว์ ใช้ในเรือเดินทะเล เนื่องจากมีความเหนียว และทน

ในปัจจุบันก็ยังมีความสับสนอยู่ระหว่าง กัญชา กับ กัญชง โดยชาวบ้านนิยมเรียกพืชนี้ตามลักษณะของการใช้ประโยชน์ โดย คําว่า กัญชา ใช้เรียกกับต้นพืชที่ใช้เป็นยาเสพติด ส่วน คําว่า “กัญชง หรือ Hemp” ใช้กับต้นพืชที่ใช้ผลิตเส้นใยสําหรับถักทอ

การใช้เส้นใยจากลำต้นของต้นกัญชาเพศผู้ หรือที่เรียกว่า “กัญชง” ต้องเป็นกัญชงที่ออกดอกใหม่ อายุระหว่าง 3-4 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่เส้นใยมีความเหนียว เบา และเป็นสีขาว เหมาะสำหรับการใช้เป็นเส้นใยทอผ้า

กัญชา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.ssp. Indica ส่วน กัญชง หรือ Hemp มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. ssp. Sativa ซึ่งเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ต้นกำเนิดอยู่แถบเอเชียกลาง เรียกกันโดยทั่วไปว่า cannabis, Marijuana, Hemp มี 3 สายพันธุ์ คือ Cannabis sativa, Cannabis indica และ Cannabis ruderalis

ข้อแตกต่างของกัญชาและกัญชง ดูจากลักษณะต้นภายนอก ดังนี้

กัญชา ต้นมีลักษณะเตี้ย และเป็นพุ่ม ดอกมีลักษณะติดกันแน่น ใบจะเล็กกว่ากัญชงเล็กน้อย การเรียงตัวของใบจะชิดกันหรือเรียงเวียนใกล้ โดยเฉพาะใบประดับช่อดอกจะเป็นกลุ่มแน่น ชัดเจน และมักมียางเหนียวติดมือ

กัญชง ต้นมีลักษณะสูง โปร่ง ดอกไม่อัดกันแน่น ใบจะมีขนาดใหญ่กว่ากัญชา มีการเรียงสลับของใบค่อนข้างห่างชัดเจน และไม่มียางเหนียวติดมือ

ใบ แยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-11 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลัง ที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ส่วนของใบที่เริ่มโดดเด่นในช่วงออกดอกที่จะก่อตัวขึ้นทับไปทับมาไม่ซ้ำกัน มีความซับซ้อนในตัว

Cola (โคล่า) หรือที่เรียกว่า ฐานของช่อ โคล่า หมายถึงส่วนที่มีดอกอยู่เต็มไปหมด เป็นที่ที่ดอกของตัวเมียวางตัวกันแน่นพร้อมที่จะแตกดอก

Calyx (คาลิกซ์) หรือ กลีบเลี้ยง ลักษณะตะปุ่มตะป่ำเหมือนใบที่ทับกันไปมา ใต้ใบเล็กๆ เรียกว่า sugar leaves จะเจอตัวตุ่มที่ดูเหมือนถูกฉีกออก อันนั้นแหละที่เรียกว่า กลีบเลี้ยง หรือ Calyxes จริงๆ กลีบเลี้ยงมีหลายรูปแบบ เป็นส่วนที่มีความเข้มข้นของ trichomes สูงที่สุดในต้น

กัญชา เป็นพืชที่มีต้นตัวผู้ และต้นตัวเมียแยกกัน (dioecious plant) กัญชาแต่ละต้นจะออกดอกเป็นเพศผู้ หรือเพศเมีย เพียงเพศเดียว แต่บางครั้งก็สามารถออกได้ทั้งสองเพศในต้นเดียวกัน เรียกว่าต้นกะเทย (hermaphrodite)

ดอก ดอกออกเป็นช่อ มีทั้งดอกตัวผู้ และตัวเมีย ออกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่ง และก้านดอกกัญชา มีสีเหลืองอ่อน

ดอกตัวเมีย จะมีขนสีออกขาว เป็นช่อ มีเรซิ่นทั่วทั้งด้านใน และด้านนอก

ดอกตัวผู้ จะมีลักษณะเป็นตุ่มกลมเล็กๆ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ไว้สำหรับการผสมพันธุ์กับดอกของตัวเมียเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์

ส่วนดอกที่นิยมใช้กันนั้นมาจากต้นตัวเมียที่ไม่มีเมล็ด ที่เรียกกันว่า Sinesemilla ซึ่งปลูกไว้ผลิตสาร cannabinoids ที่จะมีความเข้มข้นสูงที่สุดขณะที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์

ยอดช่อดอกตัวเมีย หรือที่เรียกว่า “กระหรี่กัญชา” ใช้เสพโดยนำมาผึ่งให้แห้ง ขยี้เป็นผงหยาบแล้วสูบด้วย “บ้อง” ส่วนของกิ่ง ก้านใบ และยอดช่อดอก นิยมนำมาตากแห้งอัดแท่ง เสพโดยวิธีหั่นเป็นฝอยละเอียด มวนสูบแบบบุหรี่ หรือใช้ “บ้อง”

Trichomes (ไทรโคม) เป็นส่วนสำคัญที่สุดของต้นกัญชา มีรูปทรงคล้ายเห็ด มีเรซิ่นคริสตัลใสอยู่บนหัว ปกคลุมอยู่ทั่วช่อดอก ไทรโคมเป็นส่วนที่พืชพัฒนาขึ้นมา เพื่อปกป้องศัตรูทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตุ่มกลมใสที่อยู่บนยอดของไทรโคมที่เรียกว่า Terpenes จะเป็นส่วนที่บรรจุสาร THC, CBD สาร Cannabinoids อื่นๆ เอาไว้

cannabinoids ที่พบในกัญชา คือ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC), cannabidiol (CBD) และ cannabinol (CBN) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาท สารในกลุ่ม cannabinoids และ volatile compounds อื่นๆ จะถูกขับออกมาโดย grandular trichomes ในรูปสารเหนียว เรียกว่า “เรซิ่น (resin)” ซึ่งมีมากที่สุดในช่อดอกตัวเมีย และใบ

Glandular trichomes มีอยู่หนาแน่นที่ใต้ใบ และในบริเวณช่อดอก เรซิ่นจากดอกของต้นตัวเมีย เรียกว่า “ยางกัญชา (Hashish)” จะมีปริมาณ THC 0.5–75% ส่วนเรซิ่นที่ติดกับช่อดอกกัญชา เรียกว่า “marihuana” จะมีสาร THC 5-20% ปริมาณสาร THC จะมีมากหรือน้อย ขึ้นกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ปลูก สายพันธุ์ วิธีการปลูก และส่วนของต้นกัญชาที่นำมาใช้

ปัจจุบัน ได้มีการนำสาร THC ในกัญชา มาช่วยรักษาโรคเบื่ออาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็ง รักษาโรคไขมันอุดตันของหลอดเลือดจากการสูบบุหรี่ โรคหัวใจ แม้แต่มะเร็งผิวหนังก็มีคนหายมาแล้ว เพราะทาน้ำมันกัญชา และสาร CBD ก็ช่วยลดอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี

การปลดล็อคกัญชา ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงปีหลังๆ และได้มีความพยายามจากหลายๆ ฝ่ายในการเสนอให้รัฐบาลถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ตามพระราชบัญญัติยาเสพติด ให้โทษ พ.ศ. 2522 จนกระทั่ง วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ที่ได้อนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชา และพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรค และประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ นับเป็นข่าวดีของคนไทยจำนวนมาก

ขณะเดียวกันสภากัญชาแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลปลดล็อกกฎหมายให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และขอรับการสนับสนุนให้เกษตรกรประชาชนในนามสหกรณ์วิสาหกิจชุมชน ร่วมปลูกกัญชาในทุกตำบล พร้อมศูนย์รักษาผู้ป่วยด้วยกัญชาทุกอำเภอของประเทศไทย

จากนี้ไปการศึกษาวิจัยการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ และการให้ความรู้เรื่องกัญชาอย่างจริงจังเสียที และจังหวัดบุรีรัมย์ ก็ได้นำร่องจัดงานมหกรรมให้ความรู้กัญชาทางการแพทย์ ภายใต้ชื่องาน “พันธุ์บุรีรัมย์” มีการเสวนาให้ความรู้การใช้กัญชาตามหลักการแพทย์ และการสร้างความเข้าใจการใช้กัญชาบนพื้นฐานความถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2562

วันนี้ กัญชา มีคุณค่า และมีมูลค่าสูงในการนำไปใช้ทางการแพทย์ เพราะความวิเศษของตัวกัญชาเองแท้ๆ อย่างไรก็ตาม หากจะปลูกเพื่อเป็นยา หรือเพื่อศึกษาวิจัย ให้ไปขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐให้ถูกต้องเสียก่อน จะได้ไม่ต้องนอนสะดุ้งจนเรือนไหวเหมือนมีทองเท่าหนวดกุ้ง…(ฮา…) เรื่องของกัญชายังอีกยาวไกล ผู้เขียนขอเก็บไว้เล่าในครั้งหน้า…วันนี้แดดร่มลมตก ขอไปนิรโทษกรรม เอ๊ยย…ขอไปเดินตรวจแปลง (ไม้ป่า) สักหน่อย…สวัสดี…สุริยันกัญชา…