เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ของดีเมืองกระบี่ สร้างงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านไร่ใหญ่

เมื่อลงมาถึงภาคใต้ หากไม่เอ่ยถึงไม้ดอกชนิดหนึ่งที่ให้ผลมีชื่อคล้ายผลไม้คงไม่ได้ เพราะในอดีตพบมากเฉพาะพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น แต่ปัจจุบัน กระจายปลูกไปยังพื้นที่ภาคอีสานจำนวนมากเท่าๆ กับภาคใต้ ไม้ดอกชนิดนั้น คือ มะม่วงหิมพานต์

มะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ในทางวิทยาศาสตร์ มะม่วงหิมพานต์เป็นไม้ดอกยืนต้น นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2544 โดยพระยารัษฏานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี หรือ คอซิมบี้ ณ ระนอง ทำให้มีชื่อเรียกตามสำเนียงภาษาถิ่นใต้ต่างกันไป เช่น กาหยู กาหยี เม็ดล่อ ยาร่วง ยาโห้ย และหัวครก เป็นต้น

เม็ดมะม่วงหิมพานต์นี้ ขึ้นอันดับของฝาก รับประทานอร่อย ของจังหวัดกระบี่ แต่วางจำหน่ายในรูปของเม็ดมะม่วงหิมพานต์อบ เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่ว ขึ้นกับกลุ่มผู้ผลิตว่าจะใช้ชื่อใด แต่กรรมวิธีการทำให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ออกสู่ตลาดและได้รสชาติติดใจคนรับประทาน คือ การคั่วและอบ

ในจังหวัดกระบี่ บ้านไร่ใหญ่ ควนต่อ และคลองรั้ง เป็นชุมชนที่มีการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์มากที่สุด แต่สำหรับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านไร่ใหญ่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่ว ติดทอปชาร์ตความอร่อย ถึงขั้นได้รับรางวัลคุณภาพจากหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับ 5 ดาว ต่อเนื่องกันถึง 3 ครั้ง

คุณมะแท็ง ศรีเกิด

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านไร่ใหญ่ เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่เกิดจากการสร้างงานในครอบครัว เติบโตและมีความเข้มแข็งจนจัดตั้งขึ้นเป็นกลุ่มแม่บ้าน เพื่อสร้างงานและรายได้ให้กับแม่บ้านในชุมชน

แรกเริ่มเดิมทีกลุ่มแม่บ้านของชุมชนมีหลายกลุ่ม แต่เมื่อรวมตัวกันทำเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วและอบ ก็เกิดปัญหาความเห็นไม่ตรงกันภายในกลุ่ม เนื่องจากมีจำนวนสมาชิกหลายคน ทำให้ต้องแยกกลุ่มออกมาเพื่อการทำงานที่คล่องตัว ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีความสามารถในการผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์แปรรูปออกสู่ตลาดได้ไม่แพ้กัน

คุณมะแท็ง ศรีเกิด เป็นประธานกลุ่มฯ คนแรก และเป็นคนเริ่มจากการทำภายในครัวเรือน เห็นว่าควรหารายได้เสริมให้กับครอบครัว จึงคิดรับซื้อเม็ดมะม่วงหิมพานต์จากสวนมาขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลาง เมื่อราว 30 ปีก่อน เนื่องจากพื้นที่จังหวัดกระบี่ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นิยมปลูกและมีผลิตผลจำนวนมาก เริ่มต้นจากการซื้อเมล็ดดิบราคากิโลกรัมละ 8 บาท แต่ต่อมาเล็งเห็นว่า หากนำเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบไปคั่วแบบโบราณ ก่อนนำไปจำหน่ายเอง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น น่าจะดี จึงเริ่มทำในครอบครัว ซึ่งได้ผล เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

คุณมะแท็ง นำเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วไปวางขายที่ตลาดใกล้ชุมชน โดยคุณมะแท็งเองทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่รับซื้อกระทั่งเสร็จสิ้นกระบวนการไปวางจำหน่าย สร้างรายได้เข้าครัวเรือนเต็มเม็ดเต็มหน่วย

การคั่วแบบโบราณ ช่วยให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์คงคุณค่าทางโภชนาการไว้ครบถ้วน ยางที่อยุ่ในเม็ดแก่ที่ผ่านการตากแดดจนแห้ง เมื่อถูกความร้อนจะปะทุออกมาติดไฟ เกิดการอบภายในจนสุกทั่วทั้งเม็ด ลักษณะนี้ทำให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ผ่านการคั่วแบบโบราณมีความกรอบและมัน มีกลิ่นหอมจากการคั่ว โดยไม่ต้องปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อมีลูกค้าให้ความสนใจมาก แรงงานภายในครอบครัวจึงไม่เพียงพอ คุณมะแท็งต้องจ้างแรงงานจากในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านที่ว่างเว้นจากงานประจำในอาชีพมาทำ

ขั้นตอนที่จำเป็นต้องใช้แรงงานมากที่สุด คือ ขั้นตอนการคั่วแบบโบราณ ที่จำเป็นต้องใช้ผู้คั่วที่รู้วิธีการคั่วแบบโบราณ และวิธีการกระเทาะ ซึ่งเป็นการกระเทาะด้วยมือ ที่ผ่านมาเคยมีหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมและสถานศึกษาให้ความสนใจ คิดเครื่องกระเทาะเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีรายใดทำได้ เนื่องจากติดขัดที่เม็ดมะม่วงหิมพานต์มีขนาดไม่เท่ากัน และเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก่อนกระเทาะจะเป็นสีดำ หากใช้เครื่องกระเทาะ จะทำให้เปลือกสีดำติดไปกับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่กระเทาะแล้ว ซึ่งจะทำให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์เป็นสีดำ และแยกเปลือกออกจากเม็ดที่กระเทาะแล้วได้ยาก

ปี 2545 เป็นปีแรกของการเริ่มก่อตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านไร่ใหญ่ โดยมีคุณมะแท็ง ทำหน้าที่ประธานกลุ่ม มีผลผลิตเพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการของตลาด สามารถป้อนเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วได้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์เพียงพอต่อผู้บริโภคที่นิยมรับประทานเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี

คุณมะแท็ง บอกว่า การเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดนั้น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านไร่ใหญ่ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการคั่วและกระเทาะเม็ดยังต้องใช้แรงงานที่มีความชำนาญ ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรเช่นขั้นตอนของการอบ

กระบวนการผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่ว เริ่มจากการนำเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบตากแห้ง เทลงในกระทะคั่ว ตั้งบนเตาที่ติดไฟไว้ คนให้ทั่วประมาณ 3 นาที เมื่อยางในเม็ดเริ่มออกและติดไฟ ให้คนต่อไปอีก 3-5 นาที สังเกตเมื่อเม็ดเมื่อเป็นสีดำทั่วทั้งกระทะ ให้รีบใช้น้ำดับไฟ แล้วเทเม็ดมะม่วงหิมพานต์ลงบนพื้น นำขี้เลื่อยหรือปูนขาวที่เตรียมไว้คลุกเคล้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์ให้ทั่ว เพื่อไม่ให้ยางติดมือเมื่อจับเม็ดมะม่วงหิมพานต์

จากนั้นนำเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปกระเทาะเปลือกออก โดยไม่ต้องรอให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์เย็น หลังกระเทาะเสร็จนำเข้าสู่เตาอบที่ความร้อน 200 องศาสเซลเซียส ประมาณ 30 นาที เพื่อป้องกันความชื้นและเชื้อรา หลังอบเสร็จพักเม็ดมะม่วงหิมพานต์ให้เย็น แล้วนำไปคัดเกรด บรรจุลงบรรจุภัณฑ์ นำไปจำหน่าย

ในแต่ละวันต้องใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 10 คน หากมีแรงงานมากระเทาะเปลือกประมาณ 20 คน จะสามารถผลิตเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วได้ 170 กิโลกรัมต่อวัน แต่หากมีแรงงานมาน้อยกว่านั้น ปริมาณเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วที่นำไปจำหน่ายได้จะน้อยลงตามจำนวนแรงงาน

การทำงานของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านไร่ใหญ่ มีเวลาทำงานทุกวัน เว้นวันอาทิตย์ สร้างรายได้ให้กับแม่บ้านเกษตรกรในชุมชนไม่น้อย

“ค่าจ้างกระเทาะเปลือกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ราคากิโลกรัมละ 35 บาท การคั่วแบบโบราณ ให้ราคากิโลกรัมละ 7.50 บาท คนที่กระเทาะเปลือกเก่งๆ สามารถกระเทาะได้สูงถึงวันละ 11-12 กิโลกรัมทีเดียว”

ปัจจุบันเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่เคยมีจำนวนมากในพื้นที่กระบี่ ลดจำนวนลง มีเหลือน้อยมาก จึงไม่เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างเม็ดเงินให้กับคนในชุมชน แต่เมื่อความต้องการเม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วออกสู่ตลาดปริมาณมาก กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านไร่ใหญ่ จึงแก้ปัญหาโดยการสั่งซื้อเม็ดมะม่วงหิมพานต์มากจากจังหวัดระนอง และจังหวัดในภาคอีสานอย่าง ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และบุรีรัมย์

คุณมะแท็ง เล่าให้ฟังว่า หลังจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบถูกส่งมาจากจังหวัดต้นทาง เมื่อมาถึงจะนำออกตากแดดจัดเป็นเวลา 3 วัน หากในช่วงนั้นสภาพอากาศไม่เป็นใจ จำเป็นต้องตากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ให้แห้ง จึงต้องตากแดดต่อเนื่องเป็นเวลา 3-5 วันเป็นอย่างน้อย เมื่อเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห้งดีแล้ว จึงนำไปคั่ว กระเทาะ และอบ ตามขั้นตอน

ช่องทางการตลาดทุกวันนี้ จะมีลูกค้าทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมกิจการถึงแหล่งผลิต เพื่อขอดูกรรมวิธีการผลิตแบบโบราณ หลังจากนั้น จะซื้อหาสินค้ากลับไปเป็นของฝากของที่ระลึก นอกจากนั้น มีจุดขายที่สนามบินนานาชาติ จ.กระบี่ รวมถึง ได้รับการสนับสนุนจากห้างเทสโก้ โลตัส สาขากระบี่ ให้วางขายในบูทโอทอปโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ยอดการผลิตขณะนี้อยู่ประมาณ 80-100 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนสั่งซื้อ อย่างไรก็ตาม คุณมะแท็งเองและสมาชิกกลุ่ม ยืนยันว่า จะมุ่งมั่นทำอาชีพนี้ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ถ่ายทอดสู่คนรุ่นลูก และรุ่นหลานต่อไป