กรมการข้าว เตือน พบการระบาดเพลี้ยกระโดดในอีสาน เร่งส่งเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรมการข้าว ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเร่งออกสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินการประสานงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภออย่างใกล้ชิด

โดยจากการรายงานของศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานีพบว่า ในพื้นที่บ้านหนองไฮ ตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่ที่สำรวจ ประมาณ 10 ไร่ และมีข้าวแห้งตายเป็นหย่อมๆ

นายอาชว์ชัยชาญ กล่าวต่อไปว่า จากการรายงานในพื้นที่แปลงนาที่ได้รับความเสียหายนั้น พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวอ่อนและตัวเต็มวัยในแปลงมากกว่า 500 ตัว ต่อต้น เจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้เร่งเก็บเกี่ยวแปลงข้าวที่เริ่มสุกแก่ก่อน เนื่องจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเริ่มมีการอพยพจากแปลงใกล้เคียงที่มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว

นอกจากนี้ การอพยพดังกล่าวยังอาจส่งผลกระทบต่อแปลงที่ยังอยู่ในระยะข้าวตั้งท้องและระยะออกดอกได้อีกด้วย เจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้เกษตรกรฉีดพ่นสารกำจัดแมลง ไพมิโทรซิน เพื่อกำจัดและป้องกันการอพยพไปยังพื้นที่อื่น ตลอดจนได้แจ้งให้ผู้นำชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่เฝ้าระวังพื้นที่ที่อาจจะเกิดการระบาดอย่างใกล้ชิด

อธิบดีกรมการข้าว เผยถึงการป้องกันและควบคุมปริมาณเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลว่า เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ หากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้รีบกำจัด ถ้าเกิดการระบาดให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลของกรมการข้าว นอกจากนั้น ไม่ควรขังน้ำในแปลงนาตลอดเวลา ควรปล่อยให้ระดับน้ำมีพอดีดินเปียก

เพื่อให้สภาพนิเวศในแปลงนาไม่เหมาะสมต่อการขยายประชากรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และยังทำให้มดสามารถขึ้นมากัดกินตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของระยะก่อนข้าวตั้งท้อง เมื่อตรวจพบตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล วัยที่ 1-2 จำนวนมากกว่า 1 ตัว ต่อต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น บูโพรเฟซิน อีโทเฟนพรอกช์ หรือไอโซโปรคาร์บ

สำหรับในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวงเมื่อตรวจพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 10 ตัว ต่อกอ หรือ 1 ตัวต่อต้น และไม่พบมวนเขียวดูดไข่หรือพบน้อยมาก ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ไดโนทีฟูเรน หรือไพมิโทรซีน โดยใช้อัตราตามคำแนะนำที่ระบุในฉลาก และปรึกษาเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ และสุดท้ายในระยะข้าวใกล้เก็บเกี่ยวกรณีพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยบินมาเล่นแสงไฟตามบ้านให้ใช้เครื่องดูดแมลงล่อทำลาย หรือกับดักกาวเหลืองล่อทำลาย เพื่อลดจำนวนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จะอพยพไปยังแปลงข้าวปลูกใหม่